วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2564

เรียนธรรมะ เพื่อ..“นิพพาน” ต้องเรียนที่ไหน? อย่างไร?

เรียนธรรมะ เพื่อ..“นิพพาน” ต้องเรียนที่ไหน? อย่างไร?

..“ ถ้าจะเรียน ก ข ก กา เพื่อนิพพานแล้ว สถานที่เรียนนั้นอย่าได้เข้าใจว่าเป็นโรงเรียน โรงธรรม วัดวา อาราม อย่างนี้ โรงเรียนสำหรับ ก ข ก กา เพื่อไปนิพพานนั้น ได้แก่ “ร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้” แต่เป็นร่างกายที่ยังเป็นๆ คือ รู้สึกคิดนึกอะไรได้ ไม่ใช่ร่างกายที่ตายแล้ว ซึ่งมันไม่มีความรู้สึกอะไร ในร่างกายที่ยังเป็นๆนั้น มันมีจิต มีสิ่งที่เกิดกับจิตหรือปรุงแต่งจิต นี่ก็ต้องรู้จัก เพราะว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เป็นร่างกายล้วนๆ ร่างกายล้วนๆมันอยู่ไม่ได้ มันต้องมี “จิต” ด้วย และมีสิ่งที่เกิดอยู่กับจิต(เจตสิก)เพื่อความเป็นจิตที่สมบูรณ์.

..ขอให้นึกถึงคำว่า “นามรูป” นาม แปลว่า จิต, รูป แปลว่า กาย นามรูปนี้แยกกันไม่ได้ ถ้าแยกกันแล้วมันสลายหมด มันไม่มีอะไรอยู่ได้ตามลำพัง นามกับรูป ต้องอยู่ร่วมกัน ผสมเป็นอันเดียวกันจึงจะเรียกว่า “นามรูป” เหมือนกับเราทุกคนที่กำลังมีชีวิตที่นั่งอยู่ที่นี่ก็โดยเหตุที่นามรูปไม่ได้แยกกัน ไม่ได้แยกเป็นกายและจิตแล้วก็อยู่ด้วยกันคนละแห่งคนละที่ มันกลายเป็นสิ่งที่รวมเป็นสิ่งเดียวกันจนต้องเรียกว่า “นามรูป” ไม่เรียกว่านามกับรูป ถ้าเรียกอย่างนั้นก็หมายความว่ายังไม่รู้ถึงที่สุด ถ้ารู้ถึงที่สุดต้องเรียกว่ามันเป็นสิ่งเดียวกัน และให้ชื่อมันใหม่ว่า “นามรูป” เป็นสิ่งเดียวเท่านั้นไม่ใช่สองสิ่ง นั่นแหละมันจึงจะเป็นชีวิตอยู่ได้ ฉะนั้น ต้องเอานามรูปนี้มาเป็นโรงเรียน เป็นห้องเรียน หรือเป็นทุกอย่างที่จำเป็นจะต้องใช้ในการเรียน 

..ทีนี้ คนส่วนใหญ่ก็ต้องการแต่จะฟังแล้วก็ไปเรียนที่วัดนั้นวัดนี้ เรียนธรรมะนั้นธรรมะนี้ กระทั่งถึงเรียนอภิธรรมเป็นต้น ถ้าอย่างนี้มันเป็นเรียน ก ข ก กา อย่างลูกเด็กๆอยู่เรื่อยไป และไม่ใช่ ก ข ก กา เพื่อนิพพาน มันเป็น ก ข ก กา เพื่อปริยัติ เพื่อมีความรู้อย่างปริยัติ...  ..ถ้าเรียน ก ข ก กา เพื่อนิพพานกันแล้วต้องเรียนด้วยโรงเรียนคือร่างกายนี้ ที่ยังเป็นๆ คือมีจิตใจ คือเรียนจากนามรูป ก็ไปแยกดูว่า มันเป็นส่วนกายอย่างไร ส่วนจิตอย่างไร ส่วนสิ่งที่ปรุงแต่งจิตอย่างไร เรื่องมันก็คล้ายๆกับที่เขาเรียนจากหนังสือนั่นแหละ แต่เราไม่ต้องการจะเรียนในวิธีนั้น ต้องการจะเรียนให้รู้จักเพื่อเกิดความเบื่อหน่ายคลายความยึดมั่นถือมั่นต่างหาก 

..เมื่อพูดถึงที่สงัดที่เรียกว่า “สุญญาคาร” (เรือนว่าง) เช่น เข้าไปในป่า ในถ้ำ ในที่เงียบสงัดที่ไหนก็ตาม ที่เรียกว่าสุญญาคารนั้น เป็นเพียงเครื่องประกอบที่ให้ความสะดวก นั่นไม่ใช่โรงเรียน เราไปนั่งที่โคนไม้แล้วทำกรรมฐาน อย่าได้เข้าใจว่าที่โคนไม้ตรงนั้นเป็นโรงเรียน หรือเข้าไปในถ้ำแล้วทำวิปัสสนา อย่าได้เข้าใจว่าถ้ำนั้นมันเป็นโรงเรียน นั้นมันเป็นโรงเรียนของลูกเด็กๆ ถ้าของผู้ที่เรียน ก ข ก กา เพื่อนิพพานแล้ว โรงเรียนต้องเขยิบเข้ามาอยู่ที่ร่างกาย คือ นามรูป แล้วก็เรียน ..ฉะนั้น ให้เข้าใจว่า สุญญาคารทั้งหลาย เช่นป่า เช่นโคนไม้ ท้องถ้ำ ภูเขา ที่แจ้ง ลอมฟาง อะไรต่างๆ นั้นมันเป็นเพียง “อุปกรณ์” เพื่อให้ความสะดวกสำหรับร่างกาย ถ้าจะเรียกว่า “สุญญาคาร” ก็ได้ แต่ต้องหมายถึงเวลาที่จิตมันไม่รู้สึกคิดนึกต่อเรื่องอะไรหมด จิตกำลังน้อมนึกถึงแต่เรื่องในภายในส่วนเดียว สภาพอย่างนั้นเรียกว่า “สุญญาคาร” นี่ถูกต้องที่สุด 

..จะเปรียบเทียบให้เห็น เช่นว่าไปนั่งอยู่ในถ้ำคนเดียวแท้ๆ กลางดง จะเรียกว่า “สุญญาคาร” โดยแท้จริง นี้ก็ไม่ถูก เพราะว่าจิตมันแล่นไปในเมือง ไปคิดถึงใครที่ในบ้านในเมืองก็ได้ จะเป็นสุญญาคารไม่ได้ คือไม่สงบ ไม่สงัด ไม่ว่าง แต่ถ้าเมื่อใดจิตมันสงบสงัด โดยการน้อมเข้าไปกำหนดแต่เรื่องในภายใน เรื่องขันธ์ เรื่องธาตุ เรื่องอายตนะ อะไรก็ได้ จนไม่ได้ยินเสียงอะไร มันรู้จักอยู่แต่เรื่องธรรมชาติในภายใน อย่างนี้ แม้ว่าเขาจะนั่งอยู่ในโรงหนัง โรงละคร หรือตลาด ที่ไหนก็ได้ ที่ล้วนแต่จอแจอื้ออึงไปหมด ก็ยังเรียกว่าเขานั่งอยู่ใน “สุญญาคาร” คือที่สงัด เพราะว่า ตา หู จมูก ลิ้น อะไรของเขาไม่รับอารมณ์เหล่านั้นเลย จิตไปแน่วแน่อยู่กับธรรมชาติในภายใน เรื่องขันธ์ เรื่องธาตุ เรื่องอายตนะ นี้จึงถือว่า สภาพที่เป็นอย่างนั้น นั่นแหละเรียกว่า “สุญญาคาร” คือ เรือนว่าง หรือ ที่สงบสงัดอันแท้จริง 

..เพียงเท่านี้ ก็ขอให้เปรียบเทียบกันดูเถอะว่า มันต่างกันอย่างไร แม้แต่เรื่องโรงเรียน จะเรียน ก ข ก กา อย่างลูกเด็กๆเรียน หรือจะเรียน ก ข ก กา เพื่อความร่ำรวย หรือเพื่อความไปสวรรค์วิมาน นี้มันก็เรียนอย่างอื่น ใช้โรงเรียนอย่างอื่น แต่ถ้าเรียนเพื่อนิพพานแล้ว ก็จะต้องใช้โรงเรียนก็คือ “นามรูป” ถ้าพูดอย่างสมัยใหม่หน่อยก็พูดว่า “เรียนจากชีวิต” เรียนจากตัวชีวิตนั้นเอง แล้วก็เรียนอย่างที่เรียกว่าอยู่ในสุญญาคาร เพราะว่าจิตไม่ได้ออกไปจากร่างกายนี้ ความคิดนึกทั้งหลายก็ไม่ได้ออกไปจากร่างกายนี้ ภาวะอย่างนี้เรียกว่า สงบ สงัดอย่างยิ่ง กำลังอยู่ในที่ว่างอย่างยิ่ง ไม่มีอะไรรบกวน

..ข้อนี้ต้องทำให้พอดี คนโดยมากที่เขาอยากจะยึดมั่นแล้วถือเคร่ง ก็ต้องไปหาที่อย่างนั้น หาที่อย่างนี้ ในที่สุดก็ไม่พบดอก แม้จะไปนั่งอยู่กลางดงในป่าคนเดียว จิตมันก็วิ่งกลับมาที่บ้าน ฉะนั้น ต้องรู้จักทำให้พอดี คือว่าปรับปรุงนั่นแหละให้พอดี ถ้าจิตมันสงบสงัดในภายในแล้ว มันก็ไม่ลำบากที่จะหาที่สงบสงัดข้างนอก ถ้าคนแรกเริ่มเรียน จะคิดว่าจะไปหาที่ในป่าในถ้ำบ้าง ก็ต้องคิดดูให้ดี บางทีมันไปเพิ่มปัญหาอย่างอื่น เช่น ความหวาดกลัว ความอะไรต่างๆ มันก็มี ต้องไปปรับปรุงให้พอดี นั่นก็เป็นส่วนอุปกรณ์ประกอบเท่านั้นเอง ..โรงเรียนอันแท้จริง สำหรับผู้ที่จะเรียน ก ข ก กา เพื่อนิพพานนั้น คือร่างกายนี้ ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ต้องอยู่แต่ในขอบเขตอันนี้ อย่าให้จิตออกไปนอกขอบเขตอันนี้ ก็เรียกว่าเขามีโรงเรียนสำหรับการเรียนเพื่อนิพพาน นี่กล่าวโดยย่อๆ สถานที่เรียน ก ข ก กา เพื่อนิพพานนั้นเป็นอย่างนี้”

พุทฺธทาสภิกฺขุ ,  ที่มา : ธรรมบรรยายหัวข้อเรื่อง “การเรียน ก ข ก กา เพื่อนิพพาน” บรรยายเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๑๗ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “ก ข ก กา ของการศึกษาพุทธศาสนา”

คำว่า...“สุญญาคาร” : “เรือนว่าง”

“คำว่า “สุญญาคาร” ในที่นี้ หมายถึง โรงเรียน ก ข ก กา เพื่อไปนิพพาน.  โรงเรียน ก ข ก กา เพื่อไปนิพพานนั้น ได้แก่ ร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ แต่เป็นร่างกายที่ยังเป็นๆ คือรู้สึกนึกคิดได้ เพราะว่าการเรียน ก ข ก กา เพื่อนิพพานนั้น มันต้องเรียนภายใน ... จนไม่ได้ยินเสียงอะไร(จากภายนอก) รู้แต่เรื่องธรรมชาติในภายในเท่านั้น  ..อย่างนี้ แม้เขาจะนั่งอยู่ในโรงหนัง โรงละคร หรือที่ตลาดที่ไหนก็ได้ ที่ล้วนแต่อื้ออึง จอแจไปหมด ก็ยังเรียกว่าเขานั่งอยู่ในสุญญาคารหรือที่สงัด เพราะว่า ตา หู จมูก ลิ้น อะไรของเขา ไม่รับอารมณ์เหล่านั้นเลย จิตไปแน่วแน่อยู่กับธรรมชาติภายใน จึงถือว่า สภาพที่เป็นอย่างนั้น นั่นแหละ...คือ “เรือนว่าง” หรือ ที่สงบสงัดอันแท้จริง” พุทฺธทาสภิกฺขุ ที่มา : “ธรรมานุกรม ธรรมโฆษณ์”

พระพุทธองค์ตรัส(พุทธวจนะ) ดังนี้

..“ภิกษุทั้งหลาย กิจใดที่ศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์พึงอาศัยความอนุเคราะห์ กระทำแก่สาวกทั้งหลาย กิจนั้นเราก็ได้กระทำแล้วแก่เธอทั้งหลาย ..ภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่งพินิจอย่าประมาท อย่าได้มีความร้อนใจในภายหลัง นี้คือคำพร่ำสอนสำหรับเธอทั้งหลายของเรา”  กัมมนิโรธสูตร , พระไตรปิฎกภาษาไทย ( มจร.) สงฺ. สฬา. ๑๘/๑๔๖/๑๗๙-๑๘๐, ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ – รวบรวม


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: