วันพุธที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ตัวเจตนา นี้แหละ คือสิ่งที่เรียกว่า “กรรม” คนเรามีกรรมเป็นสมบัติที่แท้จริง

ตัวเจตนา นี้แหละ คือสิ่งที่เรียกว่า “กรรม” คนเรามีกรรมเป็นสมบัติที่แท้จริง

คนเรานั้นมีกรรมเป็นของตน มีกรรมเป็นสมบัติที่แท้จริง สิ่งทั้งหลายที่เรายึดครอง ไม่ใช่สมบัติของเราจริง เป็นของเราเพียงโดยสมมติ แต่ที่จริงมันเป็นสมบัติของธรรมชาติอย่างที่กล่าวแล้ว สมบัติแท้จริงของเราก็คือ..การกระทำของเรา

กรรมของเราที่เราทำนี่แหละเป็นทรัพย์สมบัติที่แท้จริงของเรา ปฏิเสธไม่ได้ พอเราทำอะไรลงไป มันก็เป็นเหตุปัจจัยที่จะมาสร้างสรรค์ชีวิตของเราต่อไปทันที เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “กมฺมสฺสโก” ที่ว่าเรามีกรรมเป็นของตน นี่เป็นคำที่สำคัญอย่างยิ่ง พอเราสร้างการกระทำขึ้นมาแล้ว การกระทำนั้นก็เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดผลต่างๆ ซึ่งย้อนกลับมาส่งผลแก่ชีวิตของเรา ตอนนี้ก็มาถึงคำที่ว่า “กมฺมทายาโท” เราก็กลายเป็นทายาทของกรรมไป เราเป็นเจ้าของมันเสร็จแล้วเราก็เป็นทายาทของมัน เราเป็นทายาทของกรรมก็รับผลของกรรมนั้นไป

กรรม คืออะไร? กรรมก็คือ “การกระทำ” แต่ไม่ใช่การกระทำที่เลื่อนลอย การกระทำของมนุษย์ ทั้งที่แสดงออกทางกาย ทั้งที่พูดออกมา และที่คิดอยู่ในใจ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของ “เจตจำนง” การคิด การกระทำ การพูด ของมนุษย์นี้ เกิดจากเจตจำนงมีความจำนงจงใจ มีความตั้งจิตคิดหมาย มีการเลือกตัดสินใจ ทั้งหมดนี้ทางพระท่านเรียกว่า “เจตนา”

“ตัวเจตนา” นี้แหละ คือสิ่งที่เรียกว่า “กรรม” เพราะฉะนั้น เจตนาหรือเจตจำนงจึงเป็นสาระของการกระทำของมนุษย์ ความเป็นไปในชีวิตของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องของเจตจำนง ถูกเจตจำนงสร้างสรรค์ปรุงแต่งให้เป็นไป คนเรานี้ คิด พูด ทำ ออกมาจากเจตนา หรือ ความจำนงจงใจ เราไปสัมพันธ์กับอะไร สิ่งนั้นๆ หรือสิ่งแวดล้อมนั้นก็เป็นเหตุปัจจัยแก่ชีวิตของเรา แต่เราก็มีสิทธิหรือมีความสามารถที่จะทำต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นเหตุปัจจัยนั้นด้วย ให้มันเป็นเหตุปัจจัยแก่เราในลักษณะใด โดยมีเจตนาต่อสิ่งนั้น เช่น เลือกตอบสนอง จะยอมตามมันหรือพลิกผันเปลี่ยนเบน ตลอดจนมีท่าที่อย่างไร การเลือกตอบสนองต่อสิ่งนั้นคือ “เจตนา” นั่นคือ “กรรม”

เพราะฉะนั้น กรรม จึงเป็นตัวลิขิตชีวิตและสังคมมนุษย์ มันลิขิตตั้งแต่ความคิดนึกของเราเป็นต้นไป เมื่อเราสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เราก็มีการเลือกตอบสนอง ถ้าเราใช้ปัญญา เราก็เลือกตอบสนองได้ดี ถ้าเราอยู่ใต้อำนาจของความโลภ ความโกรธ ความหลง เราก็ตอบสนองไม่ดี เมื่อเลือกตอบสนองผิดก็เกิดโทษแก่ชีวิตของเรา การกระทำต่างๆ เกิดจากเจตจำนงนี้ทั้งนั้น แล้วจากการกระทำนั้น ชีวิตและสังคมของมนุษย์ก็เป็นไป

การจงใจ การตั้งจิตคิดหมาย เลือกตัดสินใจ เลือกตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ นี้เป็นสิทธิของมนุษย์แต่ละคน และนี่แหละคือ “กรรม” ของแต่ละคนที่สร้างสรรค์ชีวิตให้เป็นไป ไม่ใช่เฉพาะแต่ชีวิตเท่านั้น แม้แต่สังคมของมนุษย์ หรือโลกมนุษย์ทั้งหมดก็เป็นโลกของเจตจำนงทั้งนั้น เป็นโลกของกรรมสร้างสรรค์ปรุงแต่งทั้งสิ้น

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ที่มา : ธรรมนิพนธ์ "จะสุขแท้ต้องเป็นไท : ต้องสุขเองได้ จึงจะช่วยโลกให้เป็นสุข"

สัตว์ทั้งหลาย ! มี “กรรม” เป็นของตน

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เชตวันอาราม เขตกรุงสาวัตถี สุภมาณพโตเทยยบุตรได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

“ท่านพระโคดม ! อะไรหนอ ? เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์ที่เกิดเป็นมนุษย์ ปรากฎเป็นคนเลวและคนดี คือ มนุษย์ทั้งหลายย่อมปรากฎว่า มีอายุสั้น มีอายุยืน มีโรคมาก มีโรคน้อย มีผิวพรรณทราม มีอำนาจน้อย มีอำนาจมาก มีโภคะ(ทรัพย์)น้อย มีโภคะ(ทรัพย์)มาก เกิดในตระกูลต่ำ เกิดในตระกูลสูง มีปัญญาน้อย มีปัญญามาก”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  “มาณพ ! สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน มีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลายให้เลวและดีต่างกัน”

จูฬกัมมวิพังคสูตร, พระไตรปิฎกภาษาไทย, ม. อุ. ๑๔/๒๙๐/๓๔๙-๓๕๐


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: