วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2564

“ปฏิจจสมุปบาท” และ “อริยสัจจ์” วิธีปฏิบัติ เราจะปฏิบัติอย่างไร?

“ปฏิจจสมุปบาท” และ “อริยสัจจ์” วิธีปฏิบัติ เราจะปฏิบัติอย่างไร?

“ปฏิจจสมุปบาท ส่วน “สมุทยวาร” นั้น แสดงถึง ทุกขสัจจ์  และ สมุทยสัจจ์ และ ปฏิจจสมุปบาท ส่วน “นิโรธวาร” นั้น แสดงถึง นิโรธสัจจ์ และ มรรคสัจจ์   จึงเป็นอันว่าไม่ได้แสดงอะไรอื่น นอกไปจากแสดงเรื่อง “อริยสัจจ์”   หรือถ้าจะกล่าวสรุปให้สั้นเข้าไปอีก ก็กล่าวว่า แสดงเรื่อง “ทุกข์” และเรื่อง “ความดับทุกข์” โดยตรงนั่นเอง 

เมื่อเรามีความรู้อย่างนี้แล้ว ก็จะเป็นการง่ายในการที่จะปฏิบัติเพื่อ “ความดับทุกข์”  เราจะปฏิบัติอย่างไร? ตรงไหน? และเมื่อไหร่? ตอบได้โดยไม่มีทางผิด และถูกต้องที่สุดว่า

จะต้องปฏิบัติตรงที่ “อายตนะ” พบกัน คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และ ธรรมารมณ์ (อายนะภายนอก) พบกันกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (อายตนะภายใน) นั่นเอง ตรงนั้นแหละ คือเรื่องราวที่เป็นตัวการสำคัญ เราจะต้องศึกษาและปฏิบัติกันตรงนั้น ที่นั่น และเมื่อนั้น   

หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้สนใจพินิจพิจารณาในส่วนนี้ให้มากเป็นพิเศษ จึงจะสามารถเข้าใจถึงเรื่องของ “อริยสัจจ์” และ “ดับทุกข์” ได้โดยสมควรแก่ความรู้ และการปฏิบัติของตน

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : วิสาขบูชาเทศนา หัวข้อเรื่อง “จตุราริยสัจจกถา อวิชชาเกิด ทุกข์เกิด – อวิชชาดับ ทุกข์ดับ” เทศนาเมื่อ วันจันทร์ที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๐๔ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “วิสาขบูชาเทศนา” เล่ม ๑

หมายเหตุ : (ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ)

๑. “สมุทยวาร” คือ สายเกิด ( ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ ) เป็นการแสดงไปตามลำดับ จึงเรียกว่า “อนุโลมปฏิจจสมุปบาท” อีกอย่างหนึ่งทรงเรียกว่า “มิจฉาปฏิปทา” หรือ ทางผิด การปฏิบัติผิด 

๒. “นิโรธวาร” คือ สายดับ ( ความดับไปแห่งกองทุกข์ทั้งมวล ) เป็นการแสดงย้อนลำดับ จึงเรียกว่า “ปฏิโลมปฏิจจสมุปบาท” อีกอย่างหนึ่งทรงเรียกว่า “สัมมาปฏิปทา” หรือ ทางถูก การปฏิบัติถูก



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: