วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2564

จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๒)

จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๒)

ดำเนินความตามจักกวัตติสูตร

เมื่อพระราชาพระองค์ที่ ๘ ได้ฟังคำกราบทูลของคณะบุคคลที่เข้าเฝ้าให้ใช้หลักจักรวรรดิวัตรปกครองบ้านเมือง ก็ตรัสสอบถามถึงจักรวรรดิวัตร ผู้ที่จำทรงหลักจักรวรรดิวัตรไว้ได้ก็กราบทูลให้ทรงทราบทุกประการ พระราชาก็กลับมาใช้หลักจักรวรรดิวัตรปกครองบ้านเมืองเหมือนเมื่อครั้งก่อน   แต่ถึงดังนั้น ก็ทรงบกพร่องไปข้อหนึ่ง นั่นคือ -

โน  จ  โข  อธนานํ  ธนมนุปฺปทาสิ ฯ   ไม่พระราชทานทรัพย์ให้แก่ผู้ไร้ทรัพย์

คงจำกันได้ว่า ในจักรวรรดิวัตร ๕ ข้อ หรือ ๑๒ ข้อนั้น มีข้อหนึ่งว่า :-

เย  จ  เต  ตาต  วิชิเต  อธนา,   เตสญฺจ  ธนํ  อนุปฺปทชฺเชยฺยาสิ ฯ ดูก่อนพ่อ อนึ่ง บุคคลเหล่าใดในแว่นแคว้นของพ่อไม่มีทรัพย์  พ่อพึงให้ทรัพย์แก่บุคคลเหล่านั้นด้วย

ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ผู้จัดทำพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชนถอดความว่า :-  ผู้ใดไม่มีทรัพย์ก็มอบทรัพย์ให้ / เพิ่มให้ทรัพย์แก่ผู้ไม่มีทรัพย์

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) นำมาแสดงไว้ว่า :-  

4. ธนานุประทาน (ปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ชนผู้ไร้ทรัพย์ มิให้มีคนขัดสนยากไร้ในแว่นแคว้น - Dhanānuppadāna: to let wealth be given or distributed to the poor) 

คำว่า โน  จ  โข  อธนานํ  ธนมนุปฺปทาสิ = ไม่พระราชทานทรัพย์ให้แก่ผู้ไร้ทรัพย์”  ถ้าถอดความให้ครอบคลุมก็น่าจะหมายรวมถึงบริหารจัดการเรื่องเศรษฐกิจล้มเหลว   เมื่อเศรษฐกิจพัง คนก็จนกันมากขึ้น   ทำอย่างไรจะรอดได้ ก็ทำกันทุกวิถีทาง  ในที่สุดก็เกิดพฤติกรรมที่ไม่เคยเกิดมาก่อน นั่นคือ อทินนาทาน การลักขโมยกัน

ตรงนี้ทำให้นึกถึงวาทกรรมหรือคำคมของใครก็ไม่ทราบที่เคยพูดกันว่า 

 “ถ้าท้องหิว คนจะปฏิบัติธรรมอยู่ได้อย่างไร”  คือ คนพูดต้องการจะแย้งว่า อย่าเอาแต่สอนธรรมะท่าเดียว ต้องคิดถึงปากท้องของประชาชนด้วย  เพียงแต่ว่าสมัยอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี กับสมัยอายุขัย ๑๐๐ ปี บริบทมันต่างกัน   สมัยโน้นผู้คนประพฤติธรรมกันทั้งแผ่นดิน  ไม่มีความดีอะไรที่เมื่อรู้ว่าดีแล้วคนจะไม่ทำ   แต่สมัยนี้ อธรรมแพร่หลายไปทั่วแผ่นดิน ไม่มีความชั่วอะไรที่คนจะทำไม่ได้    คนสมัยโน้นแม้ท้องหิวก็ยังไม่ทิ้งธรรม   แต่คนสมัยนี้ต่อให้ท้องอิ่มก็ทำชั่วได้ พูดสั้นๆ   สมัยนี้ แม้ท้องอิ่มก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะประพฤติธรรม  และในทางกลับกัน-แม้ท้องหิวก็ใช่ว่าจะต้องทำชั่วกันทุกคนไป   เพราะฉะนั้น เวลาจะแก้แทนให้ใครว่า เขาทำชั่วเพราะความหิว ก็ต้องดูบริบทให้ทั่วถึงด้วย

สรุปว่า มนุษย์เริ่มทำชั่วอย่างแรก คืออทินนาทาน-การขโมย 

และเมื่อจับขโมยได้ก็เอาตัวมาสอบสวน พระราชาทรงสอบสวนเอง สำนวนการสอบสวนน่าสนใจ ขออนุญาตนำมาเสนอพร้อมทั้งคำบาลีเพื่อเจริญปัญญา   ญาติมิตรที่อ่านเรื่องนี้ ขอความกรุณาอย่าเพิ่งรำคาญว่าเอาคำบาลีมาใส่ไว้รุงรังไปหมด ไม่ถนัดอ่านคำบาลีก็ข้ามไปได้ เมื่อใดสนใจอยากจะดูสำนวนต้นฉบับก็มีให้ดู

สจฺจํ  กิร  ตฺวํ  อมฺโภ  ปุริส  ปเรสํ  อทินฺนํ  เถยฺยสงฺขาตํ  อาทิยสีติ ฯ  พ่อบุรุษ ได้ยินว่าเธอขโมยเอาทรัพย์ของคนอื่นไปจริงหรือ      สจฺจํ  เทวาติ ฯ    จริงพระพุทธเจ้าข้า    กึการณาติ  ฯ    เพราะเหตุไร  น  หิ  เทว  ชีวามีติ ฯ   เพราะไม่มีอะไรจะเลี้ยงชีพพระพุทธเจ้าข้า

ลำดับนั้น ท้าวเธอจึงพระราชทานทรัพย์ให้แก่เขา แล้วรับสั่งว่า :-    อิมินา  ตฺวํ  อมฺโภ  ปุริส  ธเนน  อตฺตนา  จ  ชีวาหิ   พ่อบุรุษ ทรัพย์นี้เธอจงใช้เลี้ยงชีพ   มาตาปิตโร  จ  โปเสหิ    เลี้ยงมารดาบิดา     ปุตฺตทารญฺจ  โปเสหิ   เลี้ยงบุตรภรรยา   กมฺมนฺเต  ปโยเชหิ  ใช้เป็นทุนประกอบการงาน  สมเณสุ  พฺราหฺมเณสุ  อุทฺธคฺคิกํ  ทกฺขิณํ  ปติฏฺฐเปหิ  โสวคฺคิกํ  สุขวิปากํ  สคฺคสํวตฺตนิกนฺติ ฯ  ใช้ทำบุญในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย อันจะส่งผลสูงส่งเป็นความดีงามล้ำเลิศ มีสุขเป็นผล นำตนไปสู่สวรรค์นั่นเถิด 

ที่มา : จักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๓๙

ขอให้สังเกตว่า การพระราชทานทรัพย์ให้แก่ขโมยนั้นมิได้พระราชทานแบบเลื่อนลอยปล่อยส่ง เหมือนแจกเงินประชาชนตามนโยบายประชานิยมของผู้บริหารบ้านเมืองบางคน หากแต่มีคำสั่งกำกับไปด้วย เป็นการพระราชทานอย่างมีเป้าหมาย  และขอให้สังเกตเป้าหมายด้วยว่า มิใช่มุ่งเพียงทิฏฐธัมมิกประโยชน์-ประโยชน์ในชีวิตนี้เท่านั้น หากแต่มุ่งไปถึงสัมปรายิกัตถประโยชน์-ประโยชน์ในชีวิตหน้าด้วย  เป้าหมายแบบนี้เราแทบจะหาไม่พบในนโยบายของผู้บริหารบ้านเมืองยุคปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม นโยบายแจกเงินให้หัวขโมยได้กลายเป็นความผิดพลาดที่คาดไม่ถึง นำไปสู่ปัญหาร้ายแรงที่ส่งผลไปถึงอนาคตของมนุษยชาติในกาลต่อไปด้วย

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย,  ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๔,  ๑๑:๓๗

จักกวัตติสูตรศึกษา (๒๐) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๙) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๘) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๗) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๖) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๕) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๔) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๓) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๒) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๑)จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๐)จักกวัตติสูตรศึกษา (๙)จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๘)จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๗)จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๖)จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๕), จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๔)จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๓)จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๒)จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๑)



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: