วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2564

การรักษาพระพุทธศาสนา เป็นหน้าที่ของ..พุทธบริษัททั้ง ๔

การรักษาพระพุทธศาสนา เป็นหน้าที่ของ..พุทธบริษัททั้ง ๔

ถ้าพระเสีย แต่โยมยังอยู่ อุบาสก-อุบาสิกา ก็ต้องรักษาพระพุทธศาสนาไว้ ยามใดที่พระสงฆ์เพลี่ยงพล้ำ อุบาสก-อุบาสิกา ต้องเป็นหลัก กลับมาช่วยฟื้นฟู หนุนให้มี“พระดี”มารักษาพระพุทธศาสนา

ในการที่จะรักษาพระพุทธศาสนานั้น นอกจากมีจิตสำนึกที่จะไม่ประมาท มีความรู้สึกรับผิดชอบร่วมกัน และมีความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของด้วยแล้ว ตัวเราเองจะต้องมีคุณสมบัติที่จะรักษาพระศาสนาได้ด้วย 

พระพุทธเจ้าได้ตรัสหลักนี้ไว้ให้แล้ว ใน “มหาปรินิพพานสูตร” ว่า..พระองค์จะปรินิพพานต่อเมื่อ “พุทธบริษัททั้ง ๔” ไม่ว่าจะเป็นภิกษุก็ตาม ภิกษุณีก็ตาม อุบาสกก็ตาม อุบาสิกาก็ตาม #ไม่ใช่แต่เฉพาะพระสงฆ์ ต้องมีคุณสมบัติ ๓ ข้อต่อไปนี้ ( ดูใน ที. ม. ๑๐/๑๐๒ ) (โดยสรุป) คือ

๑.  ในแง่ตนเอง ก็ทั้ง “รู้” และ “ปฏิบัติ” ได้ถูกต้อง    ๒. ในแง่สัมพันธ์กับผู้อื่น ก็มีความรู้ความสามารถ และ มีน้ำใจเมตตาที่จะเผื่อแผ่ให้ความรู้ธรรมแก่เขา    ๓. ในแง่หลักการ ก็สามารถรักษาหลักการของพระพุทธศาสนา ชี้แจงแก่ผู้ที่มาพูดกล่าวร้าย หรือแก้ไขความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อพระพุทธศาสนาได้ 

ถ้าทุกคนที่เป็นชาวพุทธ อยู่ในพุทธบริษัท ๔ เป็นอุบาสิกา เป็นอุบาสก เป็นภิกษุณี เป็นภิกษุ ที่มีความสามารถเช่นนี้ แล้วช่วยกันรับผิดชอบ ก็จะสามารถรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้แน่นอน เราจะไม่มีปัญหา    แต่เมื่อใด ความเสื่อมเกิดขึ้นและรุกเข้ามาจนถึงจุดศูนย์กลาง กล่าวคือ แม้แต่ “ความรู้ และ การปฏิบัติ” ต่อพระพุทธศาสนา ที่เป็นส่วนของ“พระ”เอง ก็พลอยคลาดเคลื่อนหรือพระเองก็ไม่มีคุณสมบัติ เมื่อนั้น..พระพุทธศาสนาก็จะเสื่อมโทรมลง”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  (ป. อ. ปยุตฺโต)

ที่มา : จากธรรมบรรยาย “ความยิ่งใหญ่ ที่ทำให้ทั้งเจริญและเสื่อม”  ณ นาลันทามหาวิหาร (Old Nalanda ) เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ เวลา ๐๗.๓๕ น




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: