วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2564

“อวิชชา” คืออะไร?

“อวิชชา” คืออะไร?   “อวิชชา” มิใช่ความโง่เขลาทั่วๆไป

“พระพุทธองค์ตรัสว่า “อวิชชา” คือ ความไม่รู้ “อริยสัจ ๔” ได้แก่ ความจริงเกี่ยวกับทุกข์ เหตุเกิดของทุกข์ ความดับทุกข์ และทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า อวิชชา มี ๒ ประการ คือ ความไม่รู้ตามความเป็นจริง (อัปปฏิปัตติอวิชชา) และ ความเห็นที่ผิดไปจากความเป็นจริง ซึ่งทำให้เราสำคัญผิดว่าภาพลวงตาเป็นความจริง (มิจฉาปฏิปัตติอวิชชา)

ด้วยเหตุนั้น อวิชชา จึงมิใช่ความโง่เขลาทั่วไป เช่น การไม่รู้จักชื่อคน หรือชื่อของหมู่บ้าน เพราะไม่เนื่องด้วยความหลงผิด แต่หมายถึง #ความเข้าใจผิด เหมือนความเข้าใจว่า สีดำเป็น สีขาว หรือ เหมือนคนที่หลงทาง เข้าใจว่าทิศใต้เป็นทิศเหนือ หรือ ทิศตะวันออกเป็นทิศตะวันตก คนที่ไม่รู้ความจริงเกี่ยวกับทุกข์ก็จะมองโลกมองชีวิตว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม เห็นชีวิตที่เต็มไปด้วยทุกข์ว่าเป็นความสุข

คนเรานั้นไม่อาจแสวงหาความจริงเกี่ยวกับทุกข์ได้ด้วย “การศึกษาจากตำรา” แต่..จะพบได้ “ภายในร่างกายที่ยาววา หนาคืบ กว้างศอก” ของเรานี่เอง ซึ่งปรากฎใน “สภาวธรรม” การเห็น การได้ยิน เป็นต้น เช่น สภาวะเห็น ดวงตาที่เห็นรูป,สภาวะได้ยิน หูที่ได้ยินเสียง, สภาวะรู้กลิ่น จมูกที่ดมกลิ่น, สภาวะรู้รส ลิ้นที่ลิ้มรส, สภาวะกระทบสัมผัส ร่างกายที่สัมผัสได้, ความนึกคิดเรื่องราวต่างๆ รวมไปถึงอากัปกิริยาทางกายต่างๆที่เป็นการเหยียด คู้ และ เคลื่อนไหวร่างกาย ในอิริยาบทต่างๆ ซึ่งกล่าวโดยสรุปก็คือ รูปนาม ที่เกิดขึ้นทางอายตนะทั้ง ๖ ของเรานั่นเอง.    สภาวธรรมเหล่านี้แท้ที่จริงเป็นสภาพที่ไม่ยั่งยืน ไม่น่าปรารถนา ไม่น่ารื่นรมย์ เพราะอาจสิ้นสุดลงได้ทุกขณะ จึงจัดเป็นทุกข์ คือสภาพที่ไร้แก่นสารอันน่ารังเกียจ

สำหรับสัตว์โลกที่เห็นว่าชีวิตของตนเป็นสุข น่าเพลิดเพลินยินดี ก็จะไม่เล็งเห็นถึงความจริงนี้ จึงพยายามที่จะแสวงหาอารมณ์ที่น่าเพลิดเพลินต่อไป เช่น รูปสวย เสียงไพเราะ อาหารอร่อย เป็นต้น ด้วยเชื่อว่าจะอำนวยความสุขให้แก่ชีวิต เพราะถูกอวิชชาปิดบังไว้ ไม่ให้เห็นความจริง 

“อวิชชา” เปรียบเหมือนแว่นตาสีเขียวที่ใส่ให้ม้า เพื่อจะได้กินหญ้าแห้ง เพราะจะเห็นหญ้าแห้งเป็นหญ้าสีเขียวสด เหล่าสัตว์โลกทั้งหลายที่จมอยู่กับกามคุณก็เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา ทั้งนี้ เพราะถูกอวิชชาปิดบังลักษณะที่แท้จริงของอารมณ์ ( รูป เสียง กลิ่น รส ฯ) และ รูปนาม ไว้.”

พระโสภณมหาเถระ

ที่มา : จากหนังสือ “ปฏิจจสมุปบาท เหตุผลแห่งวัฏสงสาร”

มีความรู้มากมาย   แต่ปราศจาก “ความรู้ที่ดับทุกข์ได้” นั่นแหละคือ “อวิชชา”

“น่าประหลาดอยู่อย่างหนึ่งก็คือ ใครๆก็พยายามแสดงตนว่าเป็นผู้รู้จัก“อวิชชา” และให้ความหมายของอวิชชากันไปเองตามชอบใจ ดูประหนึ่งว่าเขาเป็นผู้เข้าใจหรือรู้จักอวิชชาอย่างแจ่มแจ้ง แต่แล้วก็เป็นที่น่าขบขัน ที่ความรู้นั้นใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้แม้แต่นิดเดียว และยังแถมเข้ากันไม่ได้กับความหมายของอวิชชาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้

“อวิชชา” ไม่ได้หมายถึงความไม่รู้อะไรเลยแต่เพียงอย่างเดียว กลับจะหมายถึง..รู้อะไรมากมายไม่มีที่สิ้นสุดด้วยซ้ำไป แต่เป็นความรู้ผิดทั้งนั้น คือเห็นกลับตรงกันข้ามไปหมด เช่น เห็นมูลเหตุของความทุกข์ เป็นมูลเหตุของความสุขไป อย่างที่เรียกว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เขาไม่เห็นอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าความทุกข์นั้นมันอะไรกันแน่ อะไรเป็นมูลเหตุที่แท้จริงของความทุกข์ สภาพที่ปราศจากความทุกข์จริงๆนั้นเป็นอย่างไร และวิธีปฏิบัติอย่างไรคนเราจึงจะเข้าถึงสภาพที่ไม่มีความทุกข์

เราอาจจะกล่าวได้ว่า ความรู้ชนิดใดๆมากมายเท่าใดก็ตาม ถ้าปราศจากความรู้ที่ถูกต้อง ต้องถือว่าเป็นอวิชชาทั้งนั้น ถ้าจะมีคำแปลที่ถูกต้องรัดกุมของคำว่า“อวิชชา”แล้ว จะต้องแปลว่า “ธรรมชาติที่ปราศจากความรู้ชนิดที่จะดับทุกข์ได้” หรือกล่าวว่า “สภาวะที่ปราศจากความรู้ที่ดับทุกข์ได้ นั่นแหละ คือ“อวิชชา” 

ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้โดยเฉพาะ คือตรัสเอา “ความไม่รู้อริยสัจทั้ง ๔” ว่าเป็นอวิชชา หมายความว่า แม้เขาจะมีความรู้มากมายเท่าไร อย่างไรก็ตาม แต่ถ้าไม่รู้อริยสัจทั้ง ๔ แล้ว ก็ถูกจัดว่าเป็นอวิชชา

ฉะนั้น จึงทำให้เรามองเห็นได้ชัดเจนอีกว่า โลกกำลังอยู่ใต้กะลาครอบของ“อวิชชา” หรือ ความรู้ ที่ไม่ใช่“วิชชา”ของพระพุทธเจ้า จึงไม่สามารถจะช่วยชาวโลกได้ ในที่สุดก็เข้าทำนองที่เรียกว่า “ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด” กล่าวคือ ความรู้ชนิดนั้นจะกลายเป็นเครื่องทำให้โลกาวินาศอยู่ภายใต้ความรู้นั่นเอง.”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยาย หัวข้อเรื่อง “สิ่งที่ทำให้เกิด ตัวกู-ของกู” เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๐๔ จากหนังสือ “ตัวกู - ของกู”

“โมหะ” หรือ “อวิชชา” ต้องกำจัดด้วย “วิชชา” หรือ ปัญญาอันแท้จริง

“โมหะ ” คือ ความหลง ความไม่รู้ เป็นไวพจน์ ( ไวพจน์ คือ คำที่ใช้เรียกแทนกันได้ ) ของคำว่า “อวิชชา” หมายถึง ความไม่รู้ตามความเป็นจริง ไม่รู้ตรงตามสภาวะ เป็นภาวะตรงข้ามกับ “ปัญญา” โดยเฉพาะปัญญาที่เรียกชื่อเฉพาะว่า “วิชชา” พูดอย่างสามัญว่า โมหะ หรือ อวิชชา คือความไม่รู้นี้เป็นภาวะพื้นเดิมของคนซึ่งจะต้องกำจัดให้หมดไปด้วยวิชชา คือความรู้ หรือด้วยการฝึกอบรมเจริญปัญญา

อย่างไรก็ตาม แม้จะเล่าเรียนศิลปวิทยาต่างๆมากมาย และใช้ศิลปวิทยาเหล่านั้นทำกิจประกอบการต่างๆได้มากมาย แต่ถ้าไม่ช่วยให้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ไม่มองเห็นสังขารธรรมทั้งหลายหรือโลกและชีวิตตามสภาวะของมันแล้ว ศิลปวิทยาเหล่านั้นก็เป็นเพียง “สุตะ” คือสิ่งที่สดับถ่ายทอดกันไปเท่านั้น ยังไม่เป็นปัญญาแท้จริง ไม่สามารถกำจัดโมหะหรืออวิชชาได้ และไม่อาจแก้ปัญหาพื้นฐานของชีวิตได้สำเร็จ บางทีจะแก้แต่กลายเป็นก่อปัญหาขึ้นใหม่ เหมือนคนต้องการแสงสว่าง แสวงหารวบรวมฟืนและเชื้อไฟต่างๆ มามากมาย ถึงจะรวมมาได้เท่าใด และจะปฏิบัติอย่างไรต่อฟืนและเชื้อไฟเหล่านั้น จะตกแต่งประดับประดาประดิดประดอยอย่างไร แต่ตราบใดที่ยังมิได้จุดไฟขึ้น ก็ไม่อาจให้แสงสว่างเกิดขึ้นได้.”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ที่มา จากหนังสือ “พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย” ในหัวข้อย่อย ประเภทของความรู้ โมหะ บทที่ ๒ ตอน ๑ หน้า ๕๐ ( พิมพ์ครั้งที่ ๕๕ )

เพราะยังมี “อวิชชา” จึงต้องท่องเที่ยวเร่ร่อนไปในสังสารวัฏ  พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า   “ภิกษุทั้งหลาย เพราะไม่ตรัสรู้ ไม่เข้าใจ อริยสัจ ๔ ทั้งเราและเธอ จึงได้วิ่งแล่นเร่ร่อนไป ( ในสังสารวัฏ ) สิ้นกาลนานอย่างนี้”

ที่มา : ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร, วินย. ๔/๑๖/๒๑, สํ. ม. ๑๙/๑๖๗๐/๕๓๐

ท. ส. ปัญญาวุฑฺโฒ – รวบรวม


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: