วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2564

การกำหนดรู้โกธะ (ความโกรธ)


การกำหนดรู้โกธะ (ความโกรธ)

พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า   “ภิกษุทั้งหลาย ผู้ไม่รู้ซึ้งถึงโกธะ ยังกำหนดรู้โกธะไม่ได้ ยังไม่คลายความพอใจในโกธะนั้น ยังละโกธะไม่ได้ ก็ยังไม่อาจสิ้นทุกข์ได้.....ฯลฯ.....”

ดังนี้แล้ว จึงตรัสคาถาประพันธ์นี้ว่า  “โกธะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้โกรธไปสู่ทุคติ ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมละโกธะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ  ครั้นละได้แล้ว ก็ไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีกไม่ว่าในกาลไหนๆ ดังนี้”

อธิบายความ

โกธะ (ความโกรธ) เกิดจากอาฆาตวัตถุ ๑๙ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ

๑. ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา    ๒. ผู้นี้ไม่ได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เรา   ๓. ผู้นี้กำลังทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา    ๔. ผู้นี้กำลังไม่ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เรา    ๕. ผู้นี้จักทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา    ๖. ผู้นี้จักไม่ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เรา   

๗. ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา    ๘. ผู้นี้ไม่ได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา   ๙. ผู้นี้กำลังทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา    ๑๐. ผู้นี้กำลังไม่ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา   ๑๑. ผู้นี้จักทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา   

๑๒. ผู้นี้จักไม่ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา   ๑๓. ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของเรา    ๑๔. ผู้นี้ไม่ได้ทำสิ่งที่เป็นไม่ประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของเรา   ๑๕. ผู้นี้กำลังทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของเรา   

๑๖. ผู้นี้กำลังไม่ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของเรา   ๑๗. ผู้นี้จักทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของเรา   ๑๘. ผู้นี้จักไม่ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของเรา  และ ๑๙. ความโกรธกับสิ่งที่ไม่ใช่ฐานะมีตอและหนามเป็นต้น เช่นเดินสะดุดตอไม้ก็โกรธตอไม้เป็นต้น เพราะรู้ไม่เท่าทันอารมณ์

ก็ความอาฆาตนั้นท่านกล่าวว่า “เป็นโกธะ” เพราะเป็นเหตุให้เคืองหรือให้ขุ่นเคือง หรือให้ลงมือประทุษร้ายเองหรือเพียงคิดประทุษร้ายเท่านั้น 

เพราะฉะนั้น พึงกำหนดพิจารณาให้เห็นแจ้งในโกธะนั้นว่า

๑. คนโกรธนั้นพึงเห็นว่ามีลักษณะดุร้าย ประดุจอสรพิษที่ถูกทุบ    ๒. ความโกรธนั้นพึงเห็นว่ามีลักษณะซ่านไป ประดุจยาพิษซ่านสู่ร่างกาย   ๓. ความโกรธนั้นพึงเห็นว่ามีลักษณะเผานิสัยของตน (เผ่าคุณความดีของตน) ประดุจไฟไหม้ป่าจะไหม้ทุกสิ่งทุกอย่างที่สามารถไหม้ได้   ๔. คนโกรธนั้นพึงเห็นว่าเป็นผู้บำรุงเลี้ยงความโหดเหี้ยม ประดุจปล่อยให้ศัตรูได้โอกาส   

๕. ความโกรธนั้นพึงเห็นว่าเป็นปทัฏฐาน (เหตุใกล้ให้เกิด) แห่งอาฆาตวัตถุตามที่กล่าวแล้ว ประดุจของบูดและน้ำมูตร (น้ำปัสสาสะ) ที่เขาทิ้งแล้ว เพราะว่าของบูดที่เขาทิ้งแล้วก็ไม่ควรเอามาบริโภคอีก หรือน้ำปัสสาวะที่เขาฉี่ทิ้งแล้วก็ไม่ควรเอามาดื่ม หมายถึงอารมณ์บูดหรืออารมณ์เสียเราไม่ควรเอามาใส่ใจ ดังนี้.

สาระธรรมจากโกธปริญญาสูตร

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ)

23/8/64



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: