วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2564

จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๔)


จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๔)

ถอดความรัตนะ ๗ ประการของพระเจ้าจักรพรรดิ

ก่อนจะคืบหน้าไปในตัวพระสูตร ขออนุญาตแวะข้างทางด้วยการชวนคิดถอดความรัตนะ ๗ ประการของพระเจ้าจักรพรรดิว่า รัตนะ ๗ ประการหมายถึงอะไร  บอกก่อนนะครับว่า นี่เป็นความเห็นส่วนตัวล้วนๆ ท่านผู้อ่าน-ท่านผู้อื่นไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยตามนี้  รัตนะ ๗ ประการของพระเจ้าจักรพรรดิคือ :-   ๑. จักกรัตนะ จักรแก้ว  ๒. หัตถิรัตนะ ช้างแก้ว  ๓. อัสสรัตนะ ม้าแก้ว  ๔. มณีรัตนะ แก้วมณี  ๕. อิตถีรัตนะ นางแก้ว  ๖. คฤหปติรัตนะ ขุนคลังแก้ว  ๗. ปริณายกรัตนะ ขุนพลแก้ว

ลองจัดกลุ่มรัตนะ ๗ ประการ จะได้ดังนี้ -  มนุษย์ ๓: คือ นางแก้ว ขุนคลังแก้ว ขุนพลแก้ว,   สัตว์ ๒: คือ ช้างแก้ว ม้าแก้ว,  สิ่งของ ๒: คือ จักรแก้ว แก้วมณี

๑ จักรแก้ว หมายถึงอะไร?

ดูจากพลังอำนาจของจักรแก้วดังที่นำเสนอในตอนที่แล้ว ถอดความได้แน่นอนว่า จักรแก้วหมายถึงพลังอำนาจทางทหาร  จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิได้ อันดับแรกต้องมีพลังอำนาจทางทหาร  ถ้าดูตามความในพระสูตร อาจชี้ชัดลงไปได้ว่า พลังอำนาจทางทหารหมายถึง พลังอาวุธเป็นตัวนำ พลังคนเป็นตัวหนุน  จักรแก้วเป็นตัวแทนพลังอาวุธ 

ปล่อยจักรแก้วไปก่อน พระเจ้าจักรพรรดิพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาจึงยกทัพติดตามไป  เห็นได้ว่าถ้าไม่มีจักรแก้วเป็นตัวนำ กำลังพลหรือกำลังคนก็ไม่อาจขยายอำนาจตามไปได้  นึกถึงสงครามโลกครั้งที่ ๒ อเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูที่ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นยอมแพ้ สงครามสงบ  จักรแก้วกับระเบิดปรมาณูมีนัยเดียวกัน คือเป็นพลังอาวุธ  แต่นัยที่ต่างกันอย่างยิ่งก็คือ ระเบิดปรมาณูทำลายชีวิตคน แต่จักรแก้วไม่ปรากฏว่าได้ทำลายชีวิตใคร

นอกจากนั้น ที่ควรศึกษาสังเกตอย่างยิ่งก็คือ พระเจ้าจักรพรรดิยึดบ้านเมืองไหนได้ก็คืนอำนาจให้เขาปกครองกันเองต่อไป มีเงื่อนไขสำคัญอยู่ที่-ต้องใช้เบญจศีลเป็นธรรมนูญปกครอง (โปรดย้อนไปดูความตอนที่แล้ว)  อาจกล่าวได้ว่า ใช้พลังอาวุธ-มิใช่เพื่อฆ่าให้ตาย แต่เพื่อขู่ให้กลัว เมื่อกลัวแล้วก็บังคับให้ทำความดี   นี่เป็นแนวนโยบายของพระเจ้าจักรพรรดิที่ควรสังเกตอย่างยิ่ง

พระเจ้าอโศกมหาราชของอินเดียเป็นองค์หนึ่งที่ใช้นโยบายนี้-บังคับให้ประชาชนทำความดี   บรรยายความตามสำนวนทองย้อยก็ว่า-สมัยพระเจ้าอโศกมีตำรวจศีลธรรม คอยกวดขันให้ประชาชนรักษาศีลปฏิบัติธรรม   วันพระ ใครไม่รักษาอุโบสถศีล ต้องอธิบายได้ว่าทำไม ขัดข้องตรงไหนขอให้บอก ทางการจะช่วยแก้ไขข้อขัดข้องให้  แน่นอน พูดอย่างนี้จะต้องมีคนสมัยใหม่บอกว่า-ทองย้อยไปเห็นมาเรอะ ทองย้อยเกิดทันพระเจ้าอโศกเรอะ ฮ่า ฮ่า ฮ่า.  เพราะฉะนั้น จบประเด็นไว้แค่นี้พอ  เอาเวลาไปศึกษาจักกวัตติสูตรต่อไปดีกว่า

แต่ก็-พอดีนึกขึ้นมาได้ ใครยังจะพอจำได้ไหมครับ ในอดีตกาลไม่นานไกลนักนี่เอง สมเด็จพระสังฆราชพระองค์หนึ่งของเราเคยทรงมีนโยบายชักชวนประชาชนให้รักษาศีล ๕ มีการรณรงค์กันอยู่มากพอสมควรทีเดียว  แต่พอสิ้นพระองค์ท่าน นโยบายนั้นก็สิ้นตามเสด็จไปด้วย  ศึกษาจักกวัตติสูตรถึงตอนนี้ทำให้หวนนึกขึ้นมาว่า ทำไมผู้บริหารบ้านเมืองของเราจึงไม่ใช้เบญจศีลเป็นแนวนโยบาย-เหมือนพระเจ้าจักรพรรดิ

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก่อนหน้ายึดอำนาจ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ถอยขึ้นไปจนถึงยุคสร้างบ้างแปลงเมือง ผู้นำของเรา-ไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าพ่อขุนท้าวพระยาพระราชามหากษัตริย์พระเจ้าแผ่นดินหรืออะไรก็ตาม-มีร่องรอยว่าได้ใช้หลักศีลธรรมในพระพุทธศาสนานำหน้าในการครอบบ้านครองเมืองอยู่เป็นอันมาก

แต่นโยบายเช่นนั้นถูกนักวิชาการรัฐศาสตร์การเมืองการปกครองสมัยใหม่ตำหนิติเตียนว่า เป็นการมอมเมาประชาชนให้ยอมสยบอยู่ใต้อำนาจ เอาบุญกุศลมาล่อประชาชนให้หวังสุขสบายในชาติหน้า ในขณะที่ชนชั้นปกครองได้เสวยสุขในชาตินี้ 

พระพุทธศาสนาตกเป็นจำเลยด้วย-ในฐานะทำตัวเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองมอมเมาประชาชน - นี่คือมุมมองของนักวิชาการ

สมัยผมเรียน มสธ. (รัฐศาสตร์ แขนงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ-การเมืองการปกครองเปรียบเทียบ) ช่วงปี ๒๕๒๘ - ๒๕๓๐ ในการอบรมเข้ม ๗ วันก่อนสำเร็จการศึกษาตามหลักเกณฑ์ของ มสธ. อาจารย์ท่านหนึ่งประกาศเป็นส่วนตัวกับผมอย่างเป็นทางการว่า พระพุทธศาสนาเป็นตัว block สังคมไทย - ท่านใช้คำฝรั่งคำนี้  ท่านกระซิบกับผมที่โต๊ะบุฟเฟต์ว่า เดี๋ยวกินข้าวเสร็จท่านจะเอาประเด็นนี้ขึ้นไปขยายผลบนเวทีกลาง  เดชะบุญที่จะไม่เกิดสงครามกลางเวที ท่านอาจารย์ไม่มีจังหวะเวลาที่จะพูดประเด็นนี้ หรือท่านจะลืมก็ไม่ทราบได้

ญาติมิตรที่เป็นชาวพุทธ โดยเฉพาะที่เป็นชาววัด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เรียนบาลี ถ้ามีใครมาประกาศว่า พระพุทธศาสนาเป็นตัว block สังคมไทย ท่านจะแก้ไขข้อกล่าวหานี้ว่ากระไร จงอธิบาย  

หรือว่าท่านจะพลอยประสมโรงไปกับเขาด้วย?

กระแสความในประเด็น-ทางราชการบ้านเมืองเห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนาหรือไม่เห็น ยังไม่สิ้นสุดนะครับ รวมทั้งการถอดความรัตนะ ๗ ประการของพระเจ้าจักรพรรดิก็เพิ่งเริ่มได้แค่จักรแก้วเท่านั้น ยังไม่ได้พูดถึงแก้วอีก ๖ ประการ

ขอยกไปพูดต่อในตอนหน้าและตอนต่อไปครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย,  ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๔, ๑๔:๕๑

จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๑) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๒) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๓) จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๔) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๕) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๖) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๗) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๘) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๙) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๐) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๑) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๒) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๓) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๔) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๕) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๖) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๗) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๘) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๙) , จักกวัตติสูตรศึกษา (๒๐)







Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: