วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2564

สิงฺคาลชาตกํ - ว่าด้วยทำอุบายนอนตาย

สิงฺคาลชาตกํ - ว่าด้วยทำอุบายนอนตาย

"เอตญฺหิ  เต  ทุราชานํ,  ยํ  เสสิ  มตสายิกํ;      ยสฺส  เต  กฑฺฒมานสฺส,  หตฺถา  ทณฺโฑ  น  มุจฺจตีติ ฯ   เหตุที่ท่านทำเป็นเหมือนนอนตายนี้ รู้ได้ยากอยู่ เพราะว่า เมื่อเราคาบปลายไม้ฆ้อนฉุดไป ไม้ฆ้อนก็ไม่หลุดจากมือของท่าน."

อรรถกาถสิคาลชาดกที่ ๒

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารชื่อว่าเวฬุวันทรงปรารภความตะเกียกตะกายเพื่อจะปลงพระชนม์พระองค์เองของพระเทวทัต ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า เอตํ หิเต ทุราชานํ ดังนี้.

ความย่อว่า พระศาสดาทรงสดับถ้อยคำของภิกษุทั้งหลายในธรรมสภาแล้วตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลายมิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่เทวทัตตะเกียกตะกายเพื่อจะฆ่าเรา แม้ในครั้งก่อนก็เคยตะเกียกตะกายมาแล้วเหมือนกัน แต่ไม่อาจจะฆ่าเราได้แต่ตนเอง ต้องลำบากโดยถ่ายเดียวเท่านั้น“ แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี  พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดหมาจิ้งจอกได้เป็นพญาสิงคาล แวดล้อมด้วยหมาจิ้งจอกอยู่ในป่าช้า.  โดยสมัยนั้น พระนครพาราณสี มีมหรสพ ฝูงคนพากันดื่มสุราโดยมาก ได้ยินว่า มหรสพนั้น ก็คือมหรสพที่จัดขึ้นเพื่อการดื่มสุรานั่นเองครั้งนั้น พวกนักเลงสุรา จำนวนมากชวนกันหาสุราและเนื้อมาเป็นอันมากแล้วประดับตกแต่งร่างกาย พากันขับร้องแล้วดื่มสุราไปพลาง กินเนื้อแกล้มไปพลาง พอสิ้นยามแรก ชิ้นเนื้อของพวกนั้นก็หมด แต่สุรายังเหลือมากทีเดียว

ครั้งนั้น นักเลงสุราคนหนึ่งกล่าวว่า „ส่งชิ้นเนื้อให้ชิ้นหนึ่งเถิด“ เมื่อได้รับคำตอบว่า „เนื้อหมดแล้ว" ก็พูดว่า เ“มื่อข้ายังอยู่ต้องไม่มีคำว่า เนื้อหมดแล้ว“ กล่าวต่อไปว่า "ข้าจักฆ่าหมาจิ้งจอกที่มากินเนื้อคนตายในป่าช้าผีดิบ เอาเนื้อมันมา" คว้าไม้พลองออกจากพระนครทางช่องระบายน้ำ ไปสู่ป่าช้านอนหงายถือพลองทำเป็นคนตาย

ขณะนั้นพระโพธิสัตว์ แวดล้อมไปด้วยสุนัขจิ้งจอกไปในที่นั้น เห็นเขาแล้วแม้จะรู้ว่า นี่ไม่ใช่คนตาย คิดว่า „ต้องใคร่ครวญดูให้ละเอียดละออ“ จึงไปยืนใต้ลมของเขา สูดกลิ่นตัว ก็ทราบความที่เขายังไม่ตายโดยแน่นอนทีเดียว คิดว่า „ต้องให้เขาได้อายแล้วจึงจะปล่อยเขาไป“ จึงเดินไปคาบที่ปลายพลองฉุดมา นักเลงไม่ยอมปล่อยพลอง แม้จะไม่มองดูพญาจิ้งจอกผู้เข้ามาใกล้ ก็คงยึดพลองนั้นไว้แน่นขึ้น.  พระโพธิสัตว์ถอยกลับไปแล้วกล่าวว่า „ดูก่อนท่านผู้เจริญ ถ้าท่านพึงเป็นคนตายแล้วจริง เมื่อเราลากพลองมา ก็ไม่น่าจะยึดไว้มั่นคง, ด้วยเหตุนี้ท่านจะตาย หรือยังไม่ตาย จึงรู้ชัดได้โดยยาก“ ดังนี้แล้ว กล่าวคาถานี้ว่า :-

„เหตุที่ท่านทำเป็นเหมือนคนตายนี้ รู้ได้ยากอยู่ เพราะเราคาบปลายไม้พลองฉุดไป ไม้พลองก็ยังไม่หลุดจากมือของท่าน.“

บรรดาบทเหล่านี้ บทว่า  เอตํ  หิ  เต  ทุราชานํ  ความว่า เหตุข้อนี้ของท่านรู้ได้ยากแท้.  บทว่า  ยํ  เสสิ  มตาสยํ  ความว่า เหตุที่ท่านนอนเหมือนคนตายนอนอยู่นั่น (รู้แน่ได้ยากแท้).  บทว่า  ยสฺส  เต  กฑฺฒมานสฺส  ความว่า ท่านผู้ใด เมื่อเราคาบปลายไม้พลองฉุดมา ไม้พลองไม่หลุดจากมือ ก็ท่านผู้นั้นจะเรียกว่า คนตายแล้วไม่ได้แน่นอน ดังนี้.

เมื่อพระโพธิสัตว์กล่าวอย่างนี้แล้ว นักเลงนั้นคิดว่า สุนัขจิ้งจอกตัวนี้ รู้ความที่เรายังไม่ตาย ก็ลุกขึ้น ขว้างไม้พลองไปไม้พลองผิดเป้า นักเลงกล่าวว่า „ไปเถิดมึง คราวนี้ข้าพลาดไป“.   พระโพธิสัตว์หันกลับมาพูดว่า „ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ถึงแม้ท่านจะพลาดเราไป, ท่านก็คงไม่พลาดมหานรก ๘ ขุม อุสสทนรก ๑๖ ขุมเป็นแน่นอน“ แล้วหลบไป นักเลงไม่ได้อะไร ออกจากป่าช้าอาบน้ำในคู เข้าสู่พระนครตามเดิม.

พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประชุมชาดกว่า นักเลงในครั้งนั้นได้มาเป็นเทวทัต ส่วนพระยาสิงคาลได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.  จบอรรถกถาสิคาลชาดกที่ ๒

ที่มา : Palipage: Guide to Language - Pali


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: