วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2564

สิงฺคาลชาตกํ - ว่าด้วยสุนัขเข้าอยู่ในท้องช้าง

สิงฺคาลชาตกํ - ว่าด้วยสุนัขเข้าอยู่ในท้องช้าง

"นาหํ  ปุนํ  น  จ  ปุนํ,    น  จาปิ  อปุนปฺปุนํ;       หตฺถิโพนฺทึ  ปเวกฺขามิ,     ตถา  หิ  ภยตชฺชิโตติฯ   เราจะไม่เข้าไปสู่ท้องช้างบ่อยๆ อีกต่อไปแล้ว เพราะในเวลาที่เข้าไปอยู่ในท้องช้าง เราถูกภัยคุกคามแล้ว." 

อรรถกถาสิคาลชาดกที่ ๘

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภการข่มกิเลส ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า  นาหํ  ปุนํ  น  จ  ปุนํ  ดังนี้.

ได้ยินว่า เศรษฐีบุตรในเมืองสาวัตถี ประมาณ ๕๐๐ คนเป็นเพื่อนกัน ต่างมีสมบัติคนละมากมาย ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว พากันบวชถวายชีวิตในพระศาสนา อยู่ในกุฏิแถวสุดในพระวิหารเชตวัน อยู่มาวันหนึ่ง เป็นเวลาท่ามกลางรัตติกาล ความดำริ อาศัยกิเลสเป็นเจ้าเรือน บังเกิดขึ้นแก่พวกภิกษุเหล่านั้นพวกเธอต่างกระสัน เกิดจิตตุบาท เพื่อที่จะยึดครองกิเลสที่ตนละแล้วอีก

ครั้งนั้น พระศาสดาทรงชูประทีปอันมีพระสัพพัญญุตญาณเป็นด้าม ในระหว่างท่ามกลางรัตติกาลทรงตรวจดูอัธยาศัยของภิกษุทั้งหลายว่า พวกภิกษุพากันพำนักอยู่ในพระเชตวันวิหาร ด้วยความยินดีอย่างไหนเล่าหนอ ? ได้ทรงทราบความที่พวกภิกษุเหล่านั้นต่างมีความดำริในกามราคะ เกิดขึ้นในภายในก็ธรรมดาพระศาสดาย่อมรักษาหมู่สาวกของพระองค์ ประดุจหญิงมีบุตรคนเดียวถนอมบุตรของตน ประดุจคนมีตาข้างเดียวระวังนัยน์ตาของตน ก็ปานกัน ในสมัยใด ๆ มีเวลาเช้าเป็นต้น กองกิเลสเกิดแก่หมู่สาวกนั้นก็ไม่ทรงยอมให้กองกิเลสเหล่านั้นของสาวกเหล่านั้นพอกพูนไปกว่า นั้นทรงข่มเสียในสมัยนั้น ๆทีเดียว

ด้วยเหตุนั้น พระองค์จึงได้มีพระปริวิตกว่า „กาลนี้ เป็นประดุจดังกาลที่เกิดพวกโจรขึ้นภายในพระนคร ของพระเจ้าจักรพรรดิ ฉะนั้น เราต้องแสดงพระธรรมเทศนาข่มกองกิเลสแล้วให้พระอรหัตผลแก่พวกเธอในบัดนี้ทีเดียว“

พระองค์จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎี มีกลิ่นหอมมีพระดำรัสด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะ เรียกท่านพระอานนท์ผู้เป็นขุนคลังแห่งธรรมว่า „ดูก่อนอานนท์“ พระเถระเจ้ารับพระพุทธดำรัสว่า „อะไร พระเจ้าข้า ?“ มาถวายบังคมยืนอยู่ตรัสว่า „อานนท์ ภิกษุมีเท่าไร ที่อยู่ในกุฏิแถวหลังสุด เธอจงให้ประชุมกันในบริเวณคันธกุฎีทั้งหมดทีเดียว“

ได้ยินว่า พระองค์ได้ทรงมีพระดำริดังนี้ว่า „แม้นเราให้เรียกภิกษุ ๕๐๐ พวกนั้นเท่านั้นมาประชุม พวกเธอจักพากันสลดใจว่า พระศาสดาทรงทราบความที่กองกิเลสเกิดขึ้น ในภายในของพวกเราแล้ว จักมิอาจ ที่จะรับพระธรรมเทศนาได้ เหตุนั้น จึงตรัสว่า „ให้ประชุมทั้งหมด“ พระเถระรับพระพุทธดำรัสว่า „ดีละ พระเจ้าข้า“ แล้วถือลูกดาลเที่ยวไปทั่วบริเวณ บอกให้ภิกษุทั้งหมด ประชุมกัน ณ บริเวณพระคันธกุฎีแล้วจัดปูลาดพระพุทธอาสน์ไว้.

พระศาสดาทรงคู้บัลลังก์ ตั้งพระกายตรง ประทับเหนือพระพุทธอาสน์ที่จัดไว้ ปานประหนึ่งขุนเขาสิเนรุอันดำรงอยู่เหนือปฐพีศิลาทรงเปล่งพระพุทธรัศมีเป็นทิวแดงมีพรรณ ๖ ประการ ฉวัดเฉวียนประสานสีทีละคู่ ๆ พระรัศมีแม้เหล่านั้นมีประมาณเท่าถาด เท่าฉัตรและเท่าโคมแห่งเรือนยอด ขาดเป็นระยะวนเวียนรอบพระกาย ประหนึ่งสายฟ้าในนภากาศ กาลนั้นได้เป็นเสมือนเวลาที่ดวงอาทิตย์กำลังเริ่มฉายแสงอ่อน ๆ ทำให้ท้องมหรรณพ มีประกายสาดแสงระยิบระยับฉะนั้น

ภิกษุสงฆ์เล่าก็น้อมเกล้าถวายบังคมพระศาสดาดำรงจิตอันเคารพไว้มั่นคงนั่งล้อมพระองค์โดยรอบ ประหนึ่งแวดวงไว้ด้วยม่านกำพลแดงพระบรมศาสดาทรงเปล่งพระสุรเสียงดังเสียงพรหมทรงเตือนภิกษุทั้งหลาย ตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาภิกษุไม่ควรตรึก อกุศลวิตกทั้ง ๓ นี้ คือ กามวิตก ความตรึกในกาม พยาบาทวิตก ความตรึกในพยาบาท วิหิงสาวิตก ความตรึกในวิหิงสาขึ้นชื่อว่ากิเลสเป็นเช่นกับปัจจามิตรและปัจจามิตรเล่า จะชื่อว่าเล็กน้อยไม่มีเลยได้โอกาสแล้วย่อมทำให้ถึงความพินาศโดยส่วนเดียว

กิเลสแม้ถึงจะมีประมาณน้อย เกิดขึ้นแล้วได้โอกาส เพื่อจะเพิ่มพูน ย่อมยังความพินาศอย่างใหญ่พลวงให้เกิดขึ้นได้อย่างนั้นทีเดียว ขึ้นชื่อว่ากิเลสนี้ เปรียบด้วยยาพิษที่ร้ายแรงเป็นเช่นกับด้วยหัวฝีที่มีผิวหนังปอกไปแล้ว เทียบกันได้กับอสรพิษคล้ายกับไฟที่เกิดจากอสนีบาต.  ไม่ควรเลยที่จะนิยมยินดี ควรจะกีดกันเสีย ด้วยพลังแห่งการพิจารณา ด้วยพลังแห่งภาวนาในขณะที่เกิดทีเดียว ควรจะละเสีย ด้วยการที่กองกิเลสทั้งนั้นจะเลือนไปไม่ทันตั้งอยู่ในหทัยแม้เพียงครู่เดียว เหมือนหยาดน้ำกลิ้งตกไปจากใบบัว ฉันใด ก็ฉันนั้น แม้ถึงบัณฑิตในครั้งก่อนทั้งหลาย ก็ติเตียนกิเลสแม้มีประมาณน้อย ข่มมันเสียไม่ยอมให้เกิดขึ้นในภายในได้อีกฉะนั้น“ ดังนี้แล้ว ทรงนำเรื่องอดีต มาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี   พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในกำเนิดหมาจิ้งจอก พำนักอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำใกล้ป่า

ครั้งนั้น ช้างแก่ตัวหนึ่งล้มอยู่ที่ฝั่งคงคาสุนัขจิ้งจอก ออกหาเหยื่อ พบทรากช้างนั้น คิดว่า เหยื่อชิ้นใหญ่เกิดแก่เราแล้วจึงไปที่ทรากช้างนั้น กัดที่งวง ก็เป็นเหมือนเวลาที่กัดงอนไถ มันคิดว่า ตรงนี้ไม่ควรกิน จึงกัดที่งาทั้งคู่ ก็เป็นเหมือนเวลาที่กัดเสา กัดหูเล่าก็ได้เป็นเหมือนเวลาที่กัดขอบกระด้งกัดที่ท้องได้เป็นเหมือนเวลาที่กัดยุ้งข้าว กัดที่เท้าก็ได้เป็นเหมือนเวลาที่กัดครก กัดที่หางได้เป็นเหมือนเวลาที่กัดสาก.   ดำริว่า แม้ในที่นี้ก็ไม่ควรกิน เมื่อไม่ได้รับความพอใจในอวัยวะ ทั้งปวง ก็กัดตรงวัจมรรคได้เป็นเหมือนเวลาที่กัดขนมนุ่มมันดำริว่า คราวนี้เราได้ที่ที่ควรกินอันอ่อนนุ่มในสรีระนี้แล้วจึงกัดแต่วัจมรรคนั้น เข้าไปถึงภายในท้อง กินดับและหัวใจเป็นต้น เวลากระหายน้ำ ก็ดื่มโลหิต เวลาอยากจะนอนก็เอาพื้นท้องรองนอน

ครั้งนั้น สุนัขจิ้งจอกได้มีปริวิตกว่า ทรากช้างนี้เป็นเหมือนเรือนของเรา เพราะเป็นที่อยู่สบาย ครั้นอยากกิน ก็มีเนื้ออย่างเพียงพอ ทีนี้เราจะไปที่อื่นทำไม จึงไม่ยอมไปในที่อื่นอีกเลย คงอยู่กินเนื้อในท้องช้างแห่งเดียว.  ครั้งเวลาล่วงไป ผ่านไป จนถึงฤดูแล้ว ซากช้างนั้นก็หดตัวเหี่ยวแห้ง ด้วยถูกลมสัมผัสและถูกแสงอาทิตย์แผดเผาช่องที่สุนัขจิ้งจอกเข้าไปก็ปิด ภายในท้องก็มืด ปรากฏแก่มันเหมือนอยู่ในโลกันตนรก ฉะนั้น เมื่อซากเหี่ยวแห้ง แม้เนื้อก็พลอยแห้งแล้วโลหิตก็เหือดหาย มันไม่มีทางออก ก็เกิดความกลัว ซมซานไปกัดทางโน้น ทางนี้ วุ่นวายหาทางออกอยู่ เมื่อสุนัขจิ้งจอกนั้นตกอยู่ในท้องช้างอย่างนี้ ก็เป็นเหมือนก้อนแป้งในหม้อข้าว

ล่วงมา สองสามวันฝนตกใหญ่ ครั้นซากนั้นชุ่มน้ำฝนก็พองขึ้น จนมีสัณฐานเป็นปกติ วัจมรรคก็เปิด ปรากฏเหมือนดวงดาว มันเห็นช่องนั้น คิดว่า คราวนี้เรารอดได้แน่แล้วถอยหลังไปจนจดหัวช้าง วิ่งไปโดยเร็ว เอาหัวชนวัจมรรคออกไปได้.   เพราะว่า ร่างกายของมันซูบซีดเหี่ยวแห้ง ขนทั้งหมดก็เลยติดอยู่ที่วัจมรรคนั่นเอง มันมีจิตสะดุ้ง ด้วยสรีระอันไร้ขน เหมือนลำตาล วิ่งไปครู่หนึ่ง กลับนั่งมองดูสรีระแล้วสลดใจว่า „ทุกข์นี้ของเรา สิ่งอื่นมิได้ทำให้เลย แต่เพราะความโลภเป็นเหตุเพราะความโลภเป็นตัวการณ์ เราอาศัยความโลภ ก่อทุกข์นี้ไว้เอ็ง บัดนี้นับแต่นี้ เราจะไม่ยอมอยู่ในอำนาจของความโลภ ขึ้นชื่อว่าทรากช้างละก็เราจะไม่ขอเข้าไปอีกต่อ“  ดังนี้แล้ว กล่าวคาถานี้ว่า :-

„ไม่เอาอีกแล้ว ไม่เอาอีกละ เราจะไม่ขอเข้าสู่ซากช้างซ้ำอีกละ เพราะเวลาอยู่ในท้องช้าง ถูกภัยคุกคามเจียนตาย.“

ในคาถานั้น  อ  อักษร ในบาทคาถาว่า  น  จาปิ  อปุนปฺปุนํ  เป็นเพียงนิบาต ก็ในคาถาทั้งหมดนี้ มีอรรถาธิบายดังนี้ว่า :- ก็ต่อแต่นี้ไป เราจะไม่เข้าไปอีกละได้แก่ เราจะไม่ขอเข้าไปสู่ซากช้าง คือสรีระของช้าง หลังจากที่พูดไว้ว่า ไม่เอาอีกแล้วดังนี้ เพราะเหตุไร ?

เพราะว่า เวลาอยู่ในท้องช้าง ถูกภัยคุกคามแทบตาย อธิบายว่า เพราะเราถูกภัยในการเข้าไปทั้งนี้ทีเดียว คุกคามแทบตาย คือต้องถึงความสะดุ้ง ความสลดใจเพราะกลัวตาย. ก็แลสุนัขจิ้งจอกนั้น.   ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็หนีไปจากที่นั้นทันที ขึ้นชื่อว่าสรีระช้างตัวนั้นหรือตัวอื่น มันจะไม่ยอมเหลียวหลังไปมอง ดูอีกเลย ต่อจากนั้น สุนัขจิ้งจอกนั้น ก็ไม่ตกอยู่ในอำนาจของความโลภ.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่ากิเลสที่เกิดขึ้นภายในต้องไม่ให้พอกพูนได้ ควรข่มเสียทันทีทันใดทีเดียวแล้วตรัสประกาศสัจจะทั้งหลายทรงประชุมชาดก

ในเวลาจบสัจจะภิกษุที่เหลือแม้ทั้ง ๕๐๐ รูป ก็ดำรงอยู่ในพระอรหัตผล ในบรรดาภิกษุที่เหลือเล่า บางเหล่าก็ได้เป็นพระโสดาบัน บางเหล่าเป็นพระสกทาคามีบางเหล่าได้เป็นพระอนาคามีก็ในกาลครั้งนั้น สิคาล (จิ้งจอก)ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.  จบอรรถกถาสิคาลชาดกที่ ๘

ที่มา : Palipage: Guide to Language - Pali





Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: