วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2564

สิงฺคาลชาตกํ - ว่าด้วยการทำโดยไม่พิจารณา

สิงฺคาลชาตกํ - ว่าด้วยการทำโดยไม่พิจารณา

"อสเมกฺขิตกมฺมนฺตํ,   ตุริตาภินิปาตินํ;   สานิ  กมฺมานิ  ตปฺเปนฺติ,  อุณฺหํวชฺโฌหิตํ  มุเข ฯ    การงานเหล่านั้น ย่อมเผาบุคคลผู้มีการงานอันไม่ได้พิจารณาแล้ว รีบร้อนจะทำให้สำเร็จ เหมือนกับของร้อนที่บุคคลไม่พิจารณาก่อนแล้ว ใส่เข้าไปในปาก ฉะนั้น."

"สีโห   จ   สีหนาเทน,    ททฺทรํ   อภินาทยิ;       สุตฺวา   สีหสฺส   นิคฺโฆสํ,     สิงฺคาโล   ททฺทเร   วสํ;   ภีโต   สนฺตาสมาปาทิ,   หทยญฺจสฺส   อปฺผลีติ ฯ      อนึ่ง ราชสีห์ได้แผดสีหนาทที่ภูเขาเงิน สุนัขจิ้งจอกอยู่ในภูเขาเงินได้ฟังราชสีห์แผดเสียงก็กลัวตาย หวาดกลัว หัวใจแตกตาย."

อรรถกถาสิคาลชาดกที่ ๒

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาทรงปรารถนาบุตรช่างกัลบกคนหนึ่ง ซึ่งอยู่เมืองเวสาลีแล้วตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า  อสเมกฺขิตกมฺมนฺตํ  ดังนี้

ได้ยินว่า บิดาของเราเป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใสถึงไตรสรณาคมน์ สมาทานศีล ๕ กระทำกิจทุกอย่างเป็นต้นว่า ปลงพระมัสสุ แต่งพระเกศา ตั้งกระดานสะกาแด่พระราชา พระมเหสีพระราชกุมารและพระราชกุมารี ยังกาลเวลาให้ล่วงไปด้วยการฟังธรรมของพระศาสดาเนือง ๆ.

วันหนึ่งบิดาไปทำงาน ในราชนิเวศน์ พาบุตรของตนไปด้วย. บุตรนั้น เห็นนางกุมาริกาแห่งเจ้าลิจฉวีองค์หนึ่ง ในราชนิเวศน์นั้น ประดับประดาด้วยเครื่องอลังการ เปรียบด้วยนางเทพอัปสร มีจิตปฏิพัทธ์ ครั้นออกจากราชนิเวศน์กับบิดาแล้วคิดว่า „เมื่อเราได้นางกุมาริกานี้จึงจักมีชีวิตอยู่ เมื่อไม่ได้เราจักตายเสียในที่นี้แหละ“ จึงอดอาหารนอนซมเซาอยู่บนเตียง.

ลำดับนั้น บิดาเข้าไปหาบุตรปลอบโยนว่า „ลูกเอ๋ย ลูกอย่าทำความพอใจยินดีในสิ่งที่ไม่สมควรเลย ลูกเป็นคนมีกำเนิดต่ำต้อย เป็นลูกช่างกัลบก ส่วนกุมาริกาของเจ้าลิจฉวี เป็นธิดากษัตริย์ สมบูรณ์ด้วยชาติ นางไม่สมควรแก่เจ้าดอก พ่อจักนำกุมาริกาอื่นที่เหมาะสมด้วยชาติแลโคตรมาให้ลูก.“ บุตรมิได้เชื่อถ้อยคำของบิดา.

ต่อมา ญาติและมิตรสหาย คือ มารดา พี่ชาย น้องสาว น้า อา ทั้งหมด ประชุมกันชี้แจงก็ไม่อาจให้ยินยอมได้. เขาผอมซูบซีดนอนตายอยู่บนเตียงนั่นเอง บิดาของเขาครั้นทำฌาปนกิจเสร็จแล้ว เมื่อความโศกสร่างลงคิดว่า „เราจักถวายบังคมพระศาสดาจึงถือของหอม ดอกไม้เป็นต้นและเครื่องลูบไล้เป็นอันมาก ไปป่ามหาวัน บูชาพระศาสดาถวายบังคมแล้วนั่งณ ส่วนข้างหนึ่ง

เมื่อพระศาสดาตรัสถามว่า „อุบาสก เพราะอะไรท่านจึงไม่ปรากฏตลอดวัน“ เขาได้กราบทูลความนั้นให้ทรงทราบพระศาสดาตรัสว่า „อุบาสก บุตรของท่านเกิดพอใจยินดีในสิ่งอันไม่สมควรแล้วถึงความพินาศ มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อน บุตรของท่านก็ถึงความพินาศมาแล้ว“ เมื่อเขาทูลอาราธนาจึงทรงนำเรื่องในอดีตมา :-

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต เสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี   พระโพธิสัตว์อุบัติในกำเนิดราชสีห์ ณ ป่าหิมพานต์. ราชสีห์นั้นมีน้องชายหก มีน้องหญิงหนึ่ง. ทั้งหมดอาศัยอยู่ ณ ถ้ำทอง. อนึ่ง ที่รชฏบรรพตไม่ไกลจากถ้ำนั้นมีถ้ำผลึกอยู่ถ้ำหนึ่ง. ที่ถ้ำผลึกนั้นมีสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งอาศัยอยู่.

ครั้นต่อมา พ่อแม่ของราชสีห์ทั้งหลายได้ตายลง. ราชสีห์ผู้พี่เหล่านั้นจึงให้นางราชสีห์ผู้น้องอยู่ในถ้ำทองแล้วออกหาอาหาร นำเนื้อมาให้น้อง. สุนัขจิ้งจอกเห็นนางราชสีห์นั้นได้มีจิตปฏิพัทธ์. แต่เมื่อพ่อแม่ของนางราชสีห์ยังไม่ตาย สุนัขจิ้งจอกจึงไม่ได้โอกาส.

ในเวลาที่ราชสีห์พี่น้องทั้ง ๗ ออกไปหาอาหาร สุนัขจิ้งจอกจึงลงจากถ้ำแก้วผลึกไปยังประตูถ้ำทองกล่าววาจามีเลศนัย อันประกอบด้วยโลกามิส เฉพาะหน้านางราชสีห์ว่า „นี่แน่ะแม่ราชสีห์น้อย เรามีสี่เท้า แม้เจ้าก็มีสี่เท้า เจ้าจงเป็นภรรยาของเราเถิด เราจักเป็นสามีของเจ้า เราทั้งสองจักสมสู่อยู่ร่วมกันอย่างบันเทิงใจ ตั้งแต่นี้ไปเจ้าจงร่วมกับเราด้วยอำนาจกิเลส.“

นางราชสีห์ฟังคำของสุนัขจิ้งจอกแล้วคิดว่า „เจ้าสุนัขจิ้งจอกนี้ เป็นสัตว์เลวทรามน่าขยะแขยง คล้ายตัวจัณฑาลในระหว่างสัตว์สี่เท้าทั้งหลาย พวกเราเท่ากับราชตระกูลชั้นสูง สุนัขจิ้งจอกนี้พูดจาไม่งดงาม ไม่เหมาะสมกับเรา เราฟังถ้อยคำชนิดนี้แล้ว จะมีชีวิตอยู่ไปทำไม เราจักกลั้นใจตายเสีย“

ครั้นแล้วนางราชสีห์ ฉุกคิดขึ้นว่า „เราตายอย่างนี้ไม่สมควร รอให้พวกพี่ของเรากลับมาเสียก่อน เราเล่าเรื่องให้พี่ ๆฟังแล้วจึงจะตาย.“  ฝ่ายสุนัขจิ้งจอก ครั้นไม่ได้คำตอบจากนางราชีสีห์ คิดว่า นางไม่เยื่อใยในเราเสียแล้ว เสียใจกลับเข้าไปนอนในถ้ำแก้วผลึก.  ราชีสีห์ตัวหนึ่งฆ่ากระบือและช้างเป็นต้น ตัวใดตัวหนึ่งกัดกินเนื้อและนำส่วนหนึ่งมาให้นางราชสีห์ผู้น้องกล่าวว่า „น้องเคี้ยวกินเนื้อเสียเถิด." นางราชสีห์ตอบว่า „พี่ ฉันไม่กินดอกฉันจะตายละ."

ราชสีห์ถามว่า „ทำไมเล่าน้อง?.“ นางได้เล่าเรื่องทั้งหมดให้ราชีสีห์ผู้พี่ฟัง. ราชสีห์ถามว่า „เดี๋ยวนี้สุนัขจิ้งจอกมันอยู่ที่ไหนเล่า?“ นางราชีสีห์สำคัญสุนัขจิ้งจอกซึ่งนอนอยู่ในถ้ำแก้วผลึกว่า นอนอยู่ ในกลางแจ้ง จึงตอบว่า „พี่ไม่เห็นหรือ สุนัขจิ้งจอกนี้นอนอยู่กลางแจ้งใกล้เขารชฏบรรพต.“  ลูกราชสีห์ไม่รู้ว่า มันนอนในถ้ำแก้วผลึก สำคัญว่า มันนอนในกลางแจ้ง คิดว่า „จักฆ่ามันเสีย“ จึงวิ่งไปโดยกำลังเร็วของราชสีห์ ชนเอาถ้ำแก้วผลึกหัวใจวาย. ลูกราชสีห์นั้น หัวใจวายถึงแก่ความตาย ล้มลงที่เชิงเขานั้นเอง.

ต่อมา ราชสีห์อีกตัวหนึ่งมา. นางราชสีห์ก็บอกเรื่องราวแก่ราชสีห์เหมือนอย่างเดิม. แม้ราชสีห์นั้นก็ทำอย่างเดียวกันนั้นถึงแก่ความตายล้มลงที่เชิงเขา.  เมื่อพี่ทั้งหกตายหมด ราชสีห์โพธิสัตว์กลับมาภายหลัง. นางราชสีห์ก็เล่าเรื่องให้ราชสีห์โพธิสัตว์ฟัง เมื่อราชสีห์โพธิสัตว์ถามว่า „เดี๋ยวนี้สุนัขจิ้งจอกนั้นอยู่ที่ไหน?“ นางก็บอกว่า „มันนอนที่กลางแจ้งใกล้ยอดเขารชฏบรรพต.“

ราชสีห์โพธิสัตว์คิดว่า "ธรรมดาสุนัขจิ้งจอกทั้งหลายไม่มีที่อาศัยในกลางแจ้ง มันต้องนอนอยู่ในถ้ำแก้วผลึกเป็นแน่.“ ราชสีห์โพธิสัตว์จึงเดินไปยังเชิงภูเขา เห็นพวกน้อง ๆตายหมด หกตัว จึงกล่าวว่า „ราชสีห์เหล่านี้คงจะไม่รู้ว่า สุนัขจิ้งจอกนอนในถ้ำแก้วผลึก เพราะไม่มีปัญญาตรวจสอบ เพราะความที่ตัวโง่จึงชนถ้ำตาย, ขึ้นชื่อว่าการงานของผู้ไม่พิจารณาแล้ว รีบทำย่อมเป็นอย่างนี้แหละ“ แล้วกล่าวคาถาแรกว่า :- 

 „การงานเหล่านั้นย่อมเผาบุคคลผู้มีการงานอันมิได้พิจารณาแล้ว รีบร้อนจะทำให้สำเร็จ เหมือนกับของร้อนที่บุคคลไม่พิจารณาก่อนแล้ว ใส่เข้าไปในปาก ฉะนั้น.“

ในบทเหล่านั้น บทว่า  อสเมกฺขิตกมฺมนฺตํ  ตุริตาภินิปาตินํ  ความว่า บุคคลใดประสงค์จะทำการงานใด มิได้พิจารณาคือมิได้สอบสวนโทษในการงานนั้น รีบร้อนตกลง ผลุนผลันปฏิบัติ เพื่อรีบทำการงานนั้น การงานทั้งหลายเช่นนั้นย่อมเผาผลาญบุคคลผู้นั้น ผู้มิได้พิจารณาการงานรีบร้อนทำให้สำเร็จ คือทำให้เศร้าโศก ทำให้ลำบาก.

ถามว่า เหมือนอะไร?. ตอบว่า เหมือนของร้อนที่ใส่เข้าไปในปากฉะนั้น อธิบายว่า เหมือนผู้จะบริโภคไม่ได้พิจารณาว่า ของนี้เย็น ของนี้ร้อน ใส่ คือ วางของที่กลืนอันร้อนลงไปในปากย่อมลวกปากบ้าง คอบ้าง ท้อง บ้างทำให้เศร้าโศก ทำให้ลำบาก ฉันใด การงานทั้งหลายเหล่านั้นก็ฉันนั้นย่อมเผาบุคคลเช่นนั้น.

ราชสีห์โพธิสัตว์นั้น ครั้นกล่าวคาถานี้แล้วจึงพูดว่า „น้อง ๆ ของเราไม่ฉลาดในอุบาย คิดว่า จักฆ่าสุนัขจิ้งจอก รีบร้อนผลุนผลันไปตัวเองจึงตาย ส่วนเราจักไม่ทำอย่างนั้น จักฉีกอกสุนัขจิ้งจอก ซึ่งนอนสะดุ้งอยู่ในถ้ำแก้วผลึกให้จงได้.“

ราชสีห์โพธิสัตว์สังเกตทางขึ้นลงของสุนัขจิ้งจอกเสร็จแล้วจึงมุ่งหน้าไปทางนั้น บันลือสีหนาทสามครั้ง. อากาศกับผืนแผ่นดินได้มีเสียงกึกก้องเป็นอันเดียวกัน. หัวใจสุนัขจิ้งจอกซึ่งนอนหวาดสะดุ้งอยู่ในถ้ำแก้วผลึก ก็แตกทำลาย. สุนัขจิ้งจอกถึงแก่ความตายในที่นั้นเอง.  พระศาสดาตรัสว่า „สุนัขจิ้งจอกตัวนั้นได้ยินราชสีห์แผด เสียงอย่างนี้แล้วถึงแก่ความตาย“ เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้วจึงตรัสคาถาที่สอง ว่า :-

 „อนึ่ง ราชสีห์ได้แผดสีหนาทที่ภูเขาเงิน สุนัขจิ้งจอกอยู่ในภูเขาเงินได้ฟังราชสีห์แผดเสียงก็กลัวตาย หวาดกลัว หัวแตกตาย.“

ในบทเหล่านั้น บทว่า  สีโห  ได้แก่ ราชสีห์ ๔ จำพวก คือติณราชสีห์ ปัณฑุราชสีห์ กาฬราชสีห์ ไกรสรราชสีห์ (มีมือและเท้าแดง). ในราชสีห์เหล่านั้นในที่นี้ประสงค์เอาไกรสรราชสีห์.   บทว่า  ทฺทรํ  อภินาทยิ  ความว่า ไกรสรราชสีห์นั้นบันลือสีหนาทน่ากลัวดุจสำเนียงอสนิบาตฟาดลงสักร้อยครั้งคือได้กระทำรชฏบรรพตให้มีเสียงกึกก้องเป็นอันเดียวกัน.  บทว่า  ททฺทเร  วสํ  ได้แก่ สุนัขจิ้งจอกซึ่งอาศัยอยู่ในรชฏบรรพตติดกับถ้ำแก้วผลึก.  บทว่า  ภีโต  สนฺตาสมาปาทิ  ความว่า สุนัขจิ้งจอกกลัวตาย ถึงความหวาดสะดุ้ง.  บทว่า  หทยญฺจสฺส  อปฺผลิ  ความว่า หัวใจของสุนัขจิ้งจอกนั้นแตกเพราะความกลัว.

ราชสีห์โพธิสัตว์ ครั้นให้สุนัขจิ้งจอกถึงแก่ความตายแล้วจึงปกคลุมพวกน้อง ๆ ไว้ในที่แห่งหนึ่งแล้วแจ้งการตายของราชสีห์เหล่านั้นให้นางราชสีห์ผู้น้องรู้ ปลอบน้องอยู่อาศัยในถ้ำทองจนสิ้นชีพแล้วก็ไปตามยถากรรม.

„พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วจึงทรงประกาศสัจธรรมประชุมชาดก. ในเวลาจบสัจธรรมอุบาสกตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล สุนัขจิ้งจอกในครั้งนั้นได้เป็นบุตรช่างกัลบกในบัดนี้. นางราชสีห์ได้เป็นกุมาริกาแห่งเจ้าลิจฉวี น้อง ๆทั้งหกได้เป็นพระเถระรูปใดรูปหนึ่ง ส่วนราชสีห์พี่ใหญ่ได้เป็นเราตถาคตนี้แล. จบอรรถกถาสิคาลชาดกที่ ๒

ที่มา : Palipage: Guide to Language - Pali




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: