วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2565

คำอธิบาย ‘ปฏิจจสมุปบาท’ จากพระพุทธเจ้า

คำอธิบาย ‘ปฏิจจสมุปบาท’ จากพระพุทธเจ้า

[ณ วิหารเชตวัน ใกล้กรุงสาวัตถี พระพุทธเจ้ากล่าวกับเหล่าภิกษุว่า]

พ:  เราจะสอนและจำแนกปฏิจจสมุปบาท (อาการที่อาศัยกันเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้นสืบเนื่องกันมา เมื่อสิ่งนั้นมี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนั้นเกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น)

จงใส่ใจฟังให้ดี

ปฏิจจสมุปบาทเป็นอย่างไร

เพราะอาศัยอวิชชาเป็นปัจจัย (การไม่รู้จักโลกตามความเป็นจริงว่าสิ่งต่างๆไม่เที่ยง ไม่มีตัวตนของมันเอง มีแต่เหตุประกอบกันขึ้น) จึงมีสังขาร (การคิดปรุงแต่ง)

เพราะอาศัยสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ (การรู้สิ่งต่างๆ)

เพราะอาศัยวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป (จิตกับกาย)

เพราะอาศัยนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ (ช่องทางการรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)

เพราะอาศัยสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ (การสัมผัส)

เพราะอาศัยผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา (ความรู้สึก)

เพราะอาศัยเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา (ความใคร่อยาก)

เพราะอาศัยตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน (การยึดติด)

เพราะอาศัยอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ (สภาวะอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดจากจิต)

เพราะอาศัยภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ (การเป็นตัวเป็นตน)

เพราะอาศัยชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา (ความแก่) มรณะ (ความตาย) โสกะปริเทวะ (ความเศร้าโศกเสียใจ) ทุกข์กายทุกข์ใจ และอุปายาส (ความคับแค้นใจ)

กองทุกข์ทั้งปวง จึงเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้

ชราและมรณะคืออะไร

ความแก่ ฟันหลุด ผมหงอก หนังย่น ความเสื่อมของวัย ความหง่อมของอินทรีย์ (เซลล์และอวัยวะต่างๆ) นี้เรียกว่าชรา

ความตาย ความแตกของธาตุขันธ์ การทำลาย การเคลื่อนย้ายที่ (จุติ) การหายไป การไม่มีชีวิต นี้เรียกว่ามรณะ

ชาติคืออะไร

ความเกิด การก่อเกิด การหยั่งลง (เกิดจากเปลือกไข่หรือจากมดลูก)

การบังเกิด (เกิดจากของเน่าเสีย)

การเกิดจำเพาะ (ผุดเกิดโตเต็มตัวทันทีตามแต่กรรม)

การปรากฏขึ้นของขันธ์ (กาย ความรู้สึก ความจำได้ การปรุงแต่ง การรับรู้)

การได้อายตนะ (ช่องทางรับรู้และสิ่งที่ถูกรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)

นี้เรียกว่าชาติ (การเป็นตัวเป็นตน)

ภพคืออะไร

1. กามภพ (ที่เกิดหรือสภาวะของสัตว์ที่มีธาตุไม่ละเอียดยังเกี่ยวข้องกับกาม ได้แก่ มนุษย์ เทวดา สัตว์นรก)

2. รูปภพ (ที่เกิดหรือสภาวะของสัตว์ที่มีธาตุละเอียดขึ้นมาอีกขั้นแต่ก็ยังมีรูปอยู่ เช่น พรหมที่มีรูป)

3. อรูปภพ (ที่เกิดหรือสภาวะของสัตว์ที่มีธาตุละเอียดประณีตเหลือแต่จิต)

นี้เรียกว่าภพ (สภาวะอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดจากจิต)

อุปาทานคืออะไร

1. กามุปาทาน (การยึดติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส)

2. ทิฏฐุปาทาน (การยึดมั่นในความคิดตน)

3. สีลพัตตุปาทาน (การถือมั่นในสิ่งที่ทำๆสืบต่อกันมาโดยไม่คิดถึงเหตุผล)

4. อัตตวาทุปาทาน (การยึดติดว่าขันธ์ 5 นั่นนี่เป็นตัวตนของเรา)

นี้เรียกว่าอุปาทาน (การยึดมั่นถือมั่น)

ตัณหาคืออะไร

1. รูปตัณหา (การอยากเห็นรูป)

2. สัททตัณหา (การอยากได้ยินเสียง)

3. คันธตัณหา (การอยากได้กลิ่น)

4. รสตัณหา (การอยากลิ้มรส)

5. โผฏฐัพพตัณหา (การอยากสัมผัส)

6. ธัมมตัณหา (การอยากได้สิ่งที่ใจนึกคิด)

นี้เรียกว่าตัณหา (ความใคร่อยาก)

เวทนาคืออะไร

1. จักขุสัมผัสสชาเวทนา (ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการที่ตา รูป และการรับรู้ทางตา มาประจวบกันเข้า)

2. โสตสัมผัสสชาเวทนา (ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการที่หู เสียง และการรับรู้ทางหู มาประจวบกันเข้า)

3. ฆานสัมผัสสชาเวทนา (ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการที่จมูก กลิ่น และการรับรู้ทางจมูก มาประจวบกันเข้า)

4. ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา (ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการที่ลิ้น รส และการรับรู้ทางลิ้น มาประจวบกันเข้า)

5. กายสัมผัสสชาเวทนา (ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการที่กาย สัมผัส และการรับรู้ทางกาย มาประจวบกันเข้า) และ

6. มโนสัมผัสสชาเวทนา (ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการที่ใจ ความนึกคิด และการรับรู้ทางใจ มาประจวบกันเข้า)

นี้เรียกว่าเวทนา (ความรู้สึก)

ผัสสะคืออะไร

1. จักขุสัมผัส (ตามองเห็น)

2. โสตสัมผัส (หูได้ยินเสียง)

3. ฆานสัมผัส (จมูกได้กลิ่น)

4. ชิวหาสัมผัส (ลิ้นรับรส)

5. กายสัมผัส (กายถูกกระทบ)

6. มโนสัมผัส (ใจถูกกระทบ)

นี้เรียกว่าผัสสะ (การกระทบสัมผัส)

สฬายตนะคืออะไร

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  นี้เรียกว่า สฬายตนะ (ช่องทางรับรู้)

นามรูปคืออะไร

นาม คือ เวทนา (ความรู้สึก) สัญญา (ความจำ) เจตนา (ความตั้งใจ) ผัสสะ (การถูกกระทบ) มนสิการ (การใช้ใจพิจารณา)

รูป คือ มหาภูตรูป 4 (ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ) และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป 4 (รูปลักษณ์ที่ประกอบกันขึ้นจากธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ)

นี้เรียกว่านามรูป (จิตกับกาย)

วิญญาณคืออะไร

1. จักขุวิญญาณ (การรับรู้ทางตา)

2. โสตวิญญาณ (การรับรู้ทางหู)

3. ฆานวิญญาณ (การรับรู้ทางจมูก)

4. ชิวหาวิญญาณ (การรับรู้ทางลิ้น)

5. กายวิญญาณ (การรับรู้ทางกาย)

6. มโนวิญญาณ (การรับรู้ทางใจ)

นี้เรียกว่าวิญญาณ (การรับรู้)

สังขารคืออะไร

1. กายสังขาร (การปรุงแต่งทางกาย เช่น การหายใจ การเคลื่อนไหวร่างกาย)

2. วจีสังขาร (การปรุงแต่งทางวาจา เช่น คำพูดต่างๆที่พูดออกมา)

3. จิตตสังขาร (การปรุงแต่งทางใจ เช่น ใจที่นึกคิดไปต่างๆ)

นี้เรียกว่าสังขาร (การปรุงแต่ง)

อวิชชาคืออะไร

ความไม่รู้ว่า 1. ทุกข์คืออะไร 2. เกิดจากสาเหตุอะไร 3. การพ้นทุกข์นั้นเป็นอย่างไร และ 4. การพ้นทุกข์นั้นทำอย่างไร

นี้เรียกว่าอวิชชา (การไม่รู้จักโลกตามความเป็นจริง ไม่รู้จักอริยสัจ 4)

ภิกษุทั้งหลาย

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร

เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ

เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป

เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ

เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ

เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา

เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา

เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน

เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ

เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ

เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะโสกะปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส

กองทุกข์ทั้งปวงจึงเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้


ซึ่งถ้าอวิชชาดับ สังขารก็ดับ

เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ

เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ

เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ

เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ

เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ

เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ

เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ

เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ

เพราะภพดับ ชาติจึงดับ

เพราะชาติดับ ชรา มรณะโสกะปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสจึงดับ

กองทุกข์ทั้งปวงจึงดับไปด้วยอาการอย่างนี้

_______

ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 26 (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ภาค 2 วิภังคสูตร ข้อ 4), 2559, น.18-20

Credit: เพจ  พระพุทธเจ้าพูดอะไร

ศีล ศรัทธา ปัญญา บุญอย่างไรจึงเรียกว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสแล้ว , ผู้มีปัญญาย่อมไม่ห่วงใยชีวิต , รถสู่นิพพาน ผลของการมีสติรู้ตัวทุกลมหายใจ ใบไม้หนึ่งกำมือ , เมื่อไม่ยึดติดยินดีในสิ่งใดแม้แต่ชีวิตและร่างกาย ก็จะไม่ทุกข์ , ทำอย่างไรจะออกจากทุกข์ไปได้ , 'ความอยาก' ทำให้เราเวียนว่ายไม่จบสิ้น , อะไรที่จะทำให้เราอยู่อย่างเป็นสุข? , อะไรที่ทำให้จิตเศร้าหมอง?







Previous Post
Next Post

0 comments: