วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2565

กุลาวกชาตกํ - ว่าด้วยการเสียสละ

กุลาวกชาตกํ - ว่าด้วยการเสียสละ

กุลาวกา  มาตลิ ​ สิมฺพลิสฺมึ,    ​อีสามุเขน  ปริวชฺชยสฺสุ;
กามํ  จชาม  อสุเรสุ  ปาณํ,    ​มา  เม  ทิชา  วิกฺกุลวา [1]  อเหสุนฺติฯ

"ดูกรมาตลีเทพบุตร ที่ต้นงิ้วมีลูกนกครุฑจับอยู่ ท่านจงหันหน้ารถกลับ,
เรายอมสละชีวิตให้พวกอสูร,  ลูกนกครุฑเหล่านี้อย่าได้แหลกรานเสียเลย."

1) [มายิเม ทิชา วิกุลาวา (สี. สฺยา. ปี.)]

กุลาวกชาดกอรรถกกถา

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ในพระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภภิกษุผู้ดื่มน้ำที่ไม่ได้กรอง จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า  กุลาวกา  ดังนี้.

ได้ยินว่า ภิกษุหนุ่มสองสหาย จากเมืองสาวัตถีไปยังชนบท อยู่ในที่ผาสุกแห่งหนึ่งตามอัธยาศัยแล้วคิดว่า จักเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงออกจากชนบทนั้น มุ่งหน้าไปยังพระเชตวันอีก. ก็ภิกษุรูปหนึ่งมีเครื่องกรองน้ำ ส่วนรูปหนึ่งไม่มีแม้ภิกษุทั้งสองรูปก็ร่วมกันกรองน้ำดื่มแล้วจึงดื่ม. วันหนึ่ง ภิกษุทั้งสองรูปนั้นได้ทำการวิวาทโต้เถียงกัน. 

ภิกษุผู้เป็นเจ้าของเครื่องกรองน้ำไม่ให้เครื่องกรองน้ำแก่ภิกษุนอกนี้ กรองน้ำดื่มเฉพาะตนเองแล้วดื่ม ส่วนภิกษุนอกนี้ไม่ได้เครื่องกรองน้ำ เมื่อไม่อาจอดกลั้นความกระหายจึงดื่มน้ำดื่มที่ไม่ได้กรอง ภิกษุแม้ทั้งสองนั้น มาถึงพระเชตวันวิหารโดยลำดับถวายบังคมพระศาสดาแล้วนั่ง.

พระศาสดาทรงตรัสสัมโมทนียกถาแล้วตรัสถามว่า „พวกเธอมาจากไหน ?“ ภิกษุทั้งสองนั้นกราบทูลว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญพวกข้าพระองค์อยู่ในบ้านแห่งหนึ่งในโกศลชนบท ออกจากบ้านนั้นมา เพื่อจะเฝ้าพระองค์“.

พระศาสดาตรัสถามว่า พวกเธอเป็นผู้สมัครสมานพากันมาแล้วแลหรือ ? ภิกษุผู้ไม่กรองน้ำกราบทูลว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุนี้ กระทำการวิวาทโต้เถียงกันกับข้าพระองค์ในระหว่างทางแล้วไม่ให้เครื่องกรองน้ำ พระเจ้าข้า“. ภิกษุนอกนี้กราบทูลว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุนี้ ไม่กรองน้ำเลย รู้อยู่ ดื่มน้ำมีตัวสัตว์".

พระศาสดาตรัสถามว่า „ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่า เธอรู้อยู่ ดื่มน้ำมีตัวสัตว์จริงหรือ ?" ภิกษุนั้น กราบทูลว่า "พระเจ้าข้าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ดื่มน้ำไม่ได้กรอง พระเจ้าข้า“. 

พระศาสดาตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุบัณฑิตทั้งหลายในปางก่อน ครองราชสมบัติในเทพนครพ่ายแพ้ในการรบ เมื่อจะหนีไปทางหลังสมุทร จึงคิดว่า เราจักไม่ทำการฆ่าสัตว์ เพราะอาศัยความเป็นใหญ่ได้สละยศใหญ่ให้ชีวิตแก่ลูกนกครุฑ จึงให้กลับรถก่อน“, แล้วทรงนำอดีตนิทานมาว่า :- 

ในอดีตกาล พระเจ้ามคธราชพระองค์หนึ่ง ครองราชสมบัติอยู่ในนครราชคฤห์ แคว้นมคธ ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นบุตรของตระกูลใหญ่ในบ้านมจลคามนั้นนั่นแหละ เหมือนอย่างในบัดนี้ ท้าวสักกะบังเกิดในบ้านมจลคาม แคว้นมคธ ในอัตภาพก่อนฉะนั้น ก็ในวันตั้งชื่อพระโพธิสัตว์นั้น ญาติทั้งหลายได้ตั้งชื่อว่ามฆกุมาร. มฆกุมารนั้นเจริญวัยแล้วปรากฏชื่อว่ามฆมาณพ. 

ลำดับนั้น บิดามารดาของมฆมาณพนั่นนำเอานางทาริกา มาจากตระกูลที่มีชาติเสมอกัน มฆมาณพนั้นเจริญด้วยบุตรและธิดาทั้งหลายได้เป็นทานบดี รักษาศีล ๕. 

ก็ในบ้านนั้น มีอยู่ ๓๓ ตระกูลเท่านั้นและวันหนึ่งตนในตระกูลทั้ง ๓๓ ตระกูลนั้น ยืนอยู่กลางบ้าน ทำการงานในบ้านพระโพธิสัตว์เอาเท้าทั้งสองกวาดฝุ่นในที่ที่ยืนอยู่ กระทำประเทศที่นั้น ให้น่ารื่นรมย์ยืนอยู่แล้ว. ครั้งนั้น คนอื่นผู้หนึ่งมายืนในที่นั้น.

พระโพธิสัตว์จึงกระทำที่อื่นอีกให้น่ารื่นรมย์แล้วได้ยืนอยู่. แม้ในที่นั้น คนอื่นก็มายืนเสีย.

พระโพธิสัตว์ได้กระทำที่อื่น ๆ แม้อีกให้น่ารื่นรมย์ รวมความว่าได้กระทำที่ที่ยืนให้น่ารื่นรมณ์แม้แก่คนทั้งปวง สมัยต่อมา ให้สร้างปะรำลงในที่นั้น แม้ปะรำก็ให้รื้อออกเสียแล้วให้สร้างศาลา ปูอาสนะแผ่นกระดานในศาลานั้นแล้วตั้งตุ่มน้ำดื่มไว้ สมัยต่อมา ชั้น ๓๒ คนแม้เหล่านั้นได้มีฉันทะเสมอกัน กับพระโพธิสัตว์.

พระโพธิสัตว์จึงให้ชั้น ๓๒ คนนั้นตั้งอยู่ในศีล ๕ ตั้งแต่นั้นไป ก็เที่ยวทำบุญทั้งหลายพร้อมกับคนเหล่านั้น. ชนแม้เหล่านั้นเมื่อกระทำบุญกับ พระโพธิสัตว์นั้นนั่นแล จึงลุกขึ้นแต่เช้ามืด ถือมีด ขวานและสากเอาสากทุบดินให้แตก ในหนทางใหญ่ ๔ แพร่งเป็นต้นแล้วกลิ้งไป นำเอาต้นไม้ที่กระทบเพลารถทั้งหลายออกไป กระทำที่ขรุขระให้เรียบ ทอดสะพานขุดสระโบกขรณี สร้างศาลา ให้ทาน รักษาศีล โดยมาก ชาวบ้านทั้งสิ้นตั้งอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์แล้วรักษาศีล ด้วยประการอย่างนี้. 

ลำดับนั้น นายบ้านของชนเหล่านั้นคิดว่า „ในกาลก่อน เมื่อคนเหล่านั้นดื่มสุรา กระทำปาณาติบาตเป็นต้น เรายังได้ทรัพย์ ด้วยอำนาจกหาปณะค่าตุ่ม (สุรา)เป็นต้นและด้วยอำนาจพลีค่าสินไหม, แต่บัดนี้ มฆมาณพให้รักษาศีล ไม่ให้ชนเหล่านั้นกระทำปาณาติบาตเป็นต้น, อนึ่ง บัดนี้ จักให้เราทั้งหลายรักษาศีล ๕ „ จึงโกรธเจ้าไปเฝ้าพระราชาแล้วกราบทูลว่า „ข้าแต่สมมติเทพ พวกโจรเป็นอันมากเที่ยวกระทำการฆ่าชาวบ้านเป็นต้น“.

พระราชาได้ทรงสดับคำของนาย บ้านนั้น จึงรับสั่งว่า „ท่านจงไปนำคนเหล่านั้นมา“ นายบ้านนั้นจึงไปจองจำชนเหล่านั้นทั้งหมดแล้วนำมา กราบทูลแด่พระราชาว่า „ข้าแต่สมมติเทพพวกคนที่ข้าพระบาทนำมานี้ เป็นโจร พระเจ้าข้า". 

ลำดับนั้น พระราชาไม่ทรงชำระกรรมของชนเหล่านั้นเลยรับสั่งว่า „ท่านทั้งหลายจงให้ช้างเหยียบชนเหล่านั้น". แต่นั้น ราชบุรุษจึงให้ชนเหล่านั้นแม้ทั้งหมดให้นอนที่พระลานหลวงแล้วนำช้างมา.

พระโพธิสัตว์ได้ให้โอวาทแก่ชนเหล่านั้นว่า „ท่านทั้งหลายจงรำพึงถึงศีล จงเจริญเมตตาในคนผู้การทำการส่อเสียดในพระราชา ในช้างและในร่างกายของตน ให้เป็นเช่นเดียวกัน„. ชนเหล่านั้นได้กระทำอย่างนั้น. 

ลำดับนั้น ราชบุรุษทั้งหลายจึงนำช้างเข้าไป เพื่อต้องการให้เหยียบชนเหล่านั้นช้างนั้น แม้จะถูกคนนำเข้าไป ก็ไม่เข้าไป ร้องเสียงลั่นแล้วหนีไป. 

ลำดับนั้น จึงนำช้างเชือกอื่น ๆ มา. ช้างแม้เหล่านั้นก็หนีไปอย่างนั้นเหมือนกัน.

พระราชาตรัสว่า „จักมีโอสถบางอย่างอยู่ในมือของชนเหล่านี้พวกท่านจงค้นดู“. พวกราชบุรุษตรวจค้นดูแล้วก็ไม่เห็น จึงกราบทูลว่า "ข้าแต่สมมติเทพ ไม่มีพระเจ้าข้า“.

พระราชาตรัสว่า „ถ้าอย่างนั้น ชนเหล่านั้นจักร่ายมนต์อะไร ๆ พวกท่านจงถามพวกเขาดูว่า มนต์สำหรับร่ายของท่านทั้งหลายมีอยู่หรือ ?“ ราชบุรุษทั้งหลายจึงได้ถามพระโพธิสัตว์จึงกล่าวว่า มี. ราชบุรุษทั้งหลายกราบทูลว่า „ข้าแต่สมมติเทพ นัยว่า มีมนต์สำหรับร่าย พะยะค่ะ“ พระราชารับสั่งให้เรียกชนเหล่านั้นแม้ทั้งหมดมาแล้วตรัสว่า „ท่านทั้งหลายจงบอกมนต์ที่ท่านทั้งหลายรู้“.

พระโพธิสัตว์ได้กราบทูลว่า „ข้าแต่สมมติเทพชื่อว่ามนต์ของข้าพระองค์ทั้งหลายอย่างอื่นไม่มี, แต่ข้าพระองค์ทั้งหลาย เป็นคนประมาณ ๓๓ คน ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่กล่าวคำเท็จไม่ดื่มน้ำเนา เจริญเมตตา ให้ทาน กระทำทางให้สม่ำเสมอ ขุดสระโบกขรณีสร้างศาลา, นี้เป็นมนต์ เป็นเครื่องป้องกัน เป็นความเจริญ ของข้าพระองค์ทั้งหลาย“.

พระราชาทรงเลื่อมใสต่อชนเหล่านั้นได้ทรงให้สมบัติในเรือนทั้งหมดของนายบ้านผู้กระทำการส่อเสียดและได้ทรงให้นายบ้านนั้น ให้เป็นทาสของชนเหล่านั้นทั้งได้ทรงให้ช้างและบ้านแก่ชนเหล่านั้นเหมือนกัน. 

จำเดิมแต่นั้น ชนเหล่านั้นกระทำบุญทั้งหลายตามความชอบใจ คิดว่า „จักสร้างศาลาใหญ่ในทาง ๔ แพร่ง“ จึงให้เรียกช่างไม้มาแล้วเริ่มสร้างศาลา แต่ว่า ไม่ได้ให้มาตุคามทั้งหลายมีส่วนบุญในศาลานั้น เพราะไม่มีความพอใจในมาตุคามทั้งหลาย. 

ก็สมัยนั้น ในเรือนของพระโพธิสัตว์มีสตรี ๔ คน คือ นางสุธรรมา นางสุจิตรา นางสุนันทาและนางสุชาดา. บรรดาสตรีเหล่านั้นนางสุธรรมาเป็นอันเดียวกันกับช่างไม้กล่าวว่า „พี่ช่าง ท่านจงทำฉันให้เป็นใหญ่ในศาลานี้“ ดังนี้แล้วได้ให้สินบน. 

ช่างไม้นั้นรับคำแล้ว ยังไม้ช่อฟ้าให้แห้งก่อนทีเดียวแล้วถากเจาะทำช่อฟ้าให้เสร็จแล้วจะยกช่อฟ้า จึงกล่าวว่า „ตายจริง เจ้านายทั้งหลาย ข้าพเจ้าไม่ได้ระลึกถึงสิ่งของอย่างหนึ่ง“. ชนเหล่านั้นถามว่า „ท่านผู้เจริญของชื่ออะไร?“. 

ช่างไม้กล่าวว่า „การได้ช่อฟ้าจึงจะควร“. ชนเหล่านั้นกล่าวว่า „ช่างเถิด เราจักนำมาให้“, ช่างไม้กล่าวว่า „พวกเราไม่อาจทำด้วยไม้ที่ตัดในเดี๋ยวนี้ จะต้องได้ช่อฟ้าที่เขาตัดไว้ก่อนแล้วถากเจาะทำสำเร็จแล้วจึงจะควร“, 

ชนเหล่านั้นกล่าวว่า „บัดนี้ จะทำอย่างไร?“ ช่างไม้กล่าวว่า „ถ้าช่อฟ้าสำหรับขายที่เขาทำไว้เสร็จแล้วเก็บไว้ในเรือนของใครๆ มีอยู่, ท่านต้องหาช่อฟ้าอันนั้น“. 

ชนเหล่านั้นเมื่อแสวงหาได้พบในเรือนของนางสุธรรมา ไม่ได้ด้วยมูลค่า แต่เมื่อนางสุธรรมากล่าวว่า „ถ้าท่านทั้งหลายจะกระทำข้าพเจ้าให้มีส่วนบุญด้วยข้าพเจ้าจึงจักให้“ จึงพากันกล่าวว่า „พวกเราจะไม่ให้ส่วนบุญแก่มาตุคามทั้งหลาย“. 

ลำดับนั้น ช่างไม้จึงกล่าวกะชนเหล่านั้นว่า „เจ้านายท่านทั้งหลายพูดอะไร?, ชื่อว่าที่ที่เว้นจากมาตุคามที่อื่น ย่อมไม่มี เว้นพรหมโลก, ท่านทั้งหลายจงถือเอา ช่อฟ้าเถิด เมื่อเป็นเช่นนั้น การงานทั้งหลายของพวกเราจักถึงความสำเร็จ“. 

ชนเหล่านั้นกล่าวว่า „ดีละ“ แล้วถือเอาช่อฟ้ายังศาลาให้สำเร็จแล้วปูแผ่นกระดานสำหรับนั่ง ตั้งตุ่มน้ำดื่ม เริ่มตั้งยาคูและภัตเป็นต้นเป็นประจำ ล้อมศาลาด้วยกำแพง ประกอบประตู เกลี่ยทรายภายในกำแพงปลูกแถวต้นตาลภายนอกกำแพง. 

ฝ่ายนางสุจิตราให้กระทำอุทยานในที่นั้น ไม่มีคำที่จะพูดว่า ต้นไม้ที่มีดอกและไม้ที่มีผล ชื่อโน้น ไม่มีในอุทยานนั้น. 

ฝ่ายฉางสุนันทาให้กระทำสระโบกขรณีในที่นั้น เหมือนกัน ให้ดารดาษด้วยปทุม ๕ สี น่ารื่นรมย์. นางสุชาดาไม่ได้กระทำอะไร. 

พระโพธิสัตว์บำเพ็ญวัตรบท ๗ เหล่านี้คือ การบำรุงมารดา ๑ การบำรุงบิดา ๑ การกระทำความอ่อนน้อมถ่อมตนแก่คนผู้เป็นให้ในตระกูล ๑ การกล่าววาจาสัตย์ ๑ วาจาไม่หยาบ ๑ วาจาไม่ส่อเสียด ๑ และการนำไปให้พินาศซึ่งความตระหนี่ ๑ ถึงความเป็นผู้ควรสรรเสริญอย่างนี้ว่า :- 

„เทพทั้งหลายชั้นดาวดึงส์กล่าวนรชน ผู้เป็นคนพอเลี้ยงบิดามารดา, ผู้มีปรกติอ่อนน้อมต่อผู้เจริญที่สุดในตระกูล, ผู้กล่าววาจากลมเกลี้ยงอ่อนหวาน, ผู้ละคำส่อเสียด, ผู้ประกอบในการทำความตระหนี่ให้พินาศ, ผู้มีคำสัจ, ครอบงำความโกรธได้นั้นแลว่า เป็นสัปบุรุษ“. 

ในเวลาสิ้นชีวิต บังเกิดเป็นท้าวสักกเทวราช ในภพดาวดึงส์ สหายของพระโพธิสัตว์นั้น ทั้งหมดพากันบังเกิดในภพดาวดึงส์นั้นเหมือนกัน. 

ในกาลนั้น อสูรทั้งหลายอยู่อาศัยในภพดาวดึงส์ ท้าวสักกเทวราชทรงดำริว่า เราทั้งหลายจะประโยชน์อะไรด้วยราชสมบัติอันเป็นสาธารณะทั่วไปแก่คนอื่น จึงให้พวกอสูรดื่มน้ำดื่มอันเป็นทิพย์แล้วให้จับพวกอสูรผู้เมาแล้วที่เท้าแล้วโยนลงไปที่เชิงเขาสิเนรุ. 

พวกอสูรเหล่านั้นย่อมภึงภพอสูรนั่นแล. ชื่อว่าภพอสูรมีขนาดเท่าดาวดึงส์เทวโลกอยู่ ณ พื้นภายใต้เขาสิเนรุ ในภพอสูรนั้นได้มีต้นไม้ตั้งอยู่ชั่วกัปชื่อว่าต้นจิตตปาตลิ (แคฝอย) เหมือนต้นปาริฉัตตกะของเหล่าเทพ. เมื่อต้นจิตตปาตลิบาน พวกอสูรเหล่านั้นก็รู้ว่า นี้ไม่ใช่เทวโลกของพวกเรา เพราะว่า ในเทวโลกต้นปาริฉัตตกะย่อมบาน. 

ลำดับนั้น พวกอสูรเหล่านั้นจึงกล่าวว่า „ท้าวสักกะแก่ทำพวกเราให้มาแล้วโยนลงหลังมหาสมุทรยึดเทพนครของพวกเรา เราทั้งหลายนั้นจักรบกับท้าวสักกะแก่นั้นแล้วยึดเอาเทพนครของพวกเราเท่านั้นคืนมา“ จึงลุกขึ้นเที่ยวสัญจรไปตามเขาสิเนรุ เหมือนมดแดงไต่เสาฉะนั้น. 

ท้าวสักกะทรงสดับว่า „พวกอสูรขึ้นมา“ จึงเหาะขึ้นเฉพาะหลังสมุทรรบอยู่ถูกพวกอสูรเหล่านั้นให้พ่ายแพ้ จึงเริ่มหนีไปสุดมหาสมุทรด้านทิศเหนือ ด้วยเวชยันตรถมีประมาณ ๑๕๐ โยชน์. 

ลำดับนั้น รถของท้าวสักกะนั้นแล่นไปบนหลังสมุทรด้วยความเร็ว จึงแล่นเข้าไปยังป่าไม้งิ้ว ทำลายป่าไม้งิ้วในหนทางที่ท้าวสักกะนั้นเสด็จไป เหมือนทำลายป่าไม้อ้อ ขาดตกลงไปบนหลังสมุทร พวกลูกนกครุฑพลัดตกลงบนหลังมหาสมุทรพากันร้องเสียงขรมท้าวสักกะตรัสถามมาตลีสารถีว่า „มาตลีผู้สหายนั่นเสียงอะไร เสียงร้องน่ากรุณายิ่งนักเป็นไปอยู่ ?“ พระมาตลีทูลว่า „ข้าแต่เทพ เมื่อป่าไม้งิ้วแหลกไปด้วยกำลังความเร็วแห่งรถของพระองค์แล้วตกลงไป พวกลูกนกครุฑถูกมรณภัยคุกคาม จึงพากันร้องเป็นเสียงเดียวกัน“. พระมหาสัตว์ตรัสว่า „ดูก่อนมาตลีผู้สหายลูกนกครุฑเหล่านี้จงอย่าลำบากเหตุอาศัยเราเลย, เราจะไม่อาศัยความเป็นใหญ่กระทำกรรมคือการฆ่าสัตว์, ก็เพื่อประโยชน์แก่ลูกนกครุฑนั้น เราจักสละชีวิตให้แก่พวกอสูร, ท่านจงกลับรถนั้น“, แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า :- 

„ดูก่อนมาตลีเทพบุตร ที่ต้นงิ้วมีลูกนกครุฑจับอยู่ ท่านจงหันหน้ารถกลับ, เรายอมสละชีวิตให้พวกอสูร, ลูกนกครุฑเหล่านี้อย่าแหลกรานเสียเลย“. 

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า  กุลาวกา ได้แก่ พวกลูกนกครุฑนั่นแหละ ท้าวสักกะตรัสเรียกนายสารถีว่า มาตลิ ด้วยบทว่า สัมฺพลิสฺมึนี้ท่านแสดงว่า ท่านจงดู ลูกนกครุฑเหล่านี้จับห้อยอยู่ที่ต้นงิ้ว. 

บทว่า อีสามุเขน  ปริวชฺชยสฺสุ  ความว่า ท่านจงงดเว้นลูกนกครุฑเหล่านั้นโดยประการที่พวกมันไม่เดือดร้อน ด้วยด้านหน้างอนรถนี้เสีย. 

บทว่า  กามํ  จชาม  อสุเรสุ  ปาณํ  ความว่า ถ้าเมื่อเราสละชีวิตให้แก่พวกอสูร ความปลอดภัยก็จะมีแก่ลูกนกครุฑเหล่านั้นเราจะสละโดยแท้ คือจะสละชีวิตของเราให้พวกอสูรโดยแท้ทีเดียว. 

บทว่า  มายิเม  ทิชา  วิกุลาวา  อเหสุํ  ความว่า ก็นกเหล่านั้นคือ ก็ลูกนกครุฑเหล่านี้ชื่อว่าอยู่พลัดพรากจากรังเพราะรังถูกขจัดแหลกรานคืออย่าโยนทุกข์ของพวกเราลงเบื้องบนลูกนกครุฑเหล่านั้นท่านจงกลับรถ. 

พระมาตลิสารถีได้ฟังคำของท้าวสักกะนั้นแล้วจึงกลับรถหันหน้ามุ่งไปยังเทวโลก โดยหนทางอื่นฝ่ายพวกอสูรพอเห็นท้าวสักกะกลับรถเท่านั้นคิดว่า ท้าวสักกะจากจักรวาลแม้อื่นพากันมาเป็นแน่ รถจักกลับเพราะได้กำลังพล เป็นผู้กลัวต่อมรณภัย จึงพากันหนีเข้าไปยังภพอสูรตามเดิม. ฝ่ายท้าวสักกะก็เสด็จเข้ายังเทพนคร แวดล้อมด้วยหมู่เทพในเทวโลกทั้งสองได้ประทับยืนอยู่ในท่ามกลางนคร. 

ขณะนั้น เวชยันตปราสาทสูงพันโยชน์ ชำแรกปฐพีผุดขึ้นเพราะปราสาทผุดขึ้นในตอนสุดท้ายแห่งชัยชนะ เทพทั้งหลายจึงขนานนามปราสาทนั้นว่า เวชยันตะ ลำดับนั้น ท้าวสักกะทรงตั้งอารักขาในที่ ๕ แห่งก็เพื่อต้องการไม่ให้พวกอสูรกลับนาอีกซึ่งท่านหมายกล่าวไว้ว่า  :- 

"ในระหว่างอยุชฌบุตรทั้งสอง ท้าวสักกะทรงตั้ง การรักษาอย่างแข็งแรงไว้ ๕ แห่งนาค ๑ ครุฑ ๑ กุมภัณฑ์ ๑ ยักษ์ ๑ ท้าวมหาราชทั้งสี่ ๑."

แม้นครทั้งสอง คือ เทพนครและอสูรนครก็ชื่อว่าอยุทธปุระเพราะใครๆ ไม่อาจยึดได้ด้วยการรบ เพราะว่า ในกาลใด พวกอสูรมีกำลังในกาลนั้นเมื่อพวกเทวดาหนีเข้าเทพนครแล้วปิดประตูไว้แม้พวกอสูรตั้งแสนก็ไม่อาจทำอะไรได้ ในกาลใดพวกเทวดามีกำลัง ในกาลนั้น เมื่อพวกอสูรหนีไปปิดประตูอสูรนครเสีย พวกเทวดาแม้ทั้งแสนก็ไม่อาจทำอะไรได้ ดังนั้นนครทั้งสองนี้จึงชื่อว่าอยุชฌปุระ เมืองที่ใคร ๆ รบไม่ได้. 

ระหว่างนครทั้งสองนั้น ท้าวสักกะทรงตั้งการรักษาไว้ในฐานะ ๕ ประการมีนาคเป็นต้นเหล่านั้นบรรดาฐานะ ๕ ประการนั้นท่านถือเอานาคด้วยศัพท์ว่า อุรคะนาคเหล่านั้นมีกำลังในน้ำ เพราะฉะนั้น นาคเหล่านั้นจึงมีการอารักขา ที่เฉลียงที่ ๑ แห่งนครทั้งสองท่านถือเอาครุฑด้วยศัพท์ว่า  กโรติ  ได้ยินว่า ครุฑเหล่านั้นมีปานะและโภชนะชื่อว่ากโรติ ครุฑเหล่านั้นจึงได้นามตามปานะและโภชนะนั้น ครุฑเหล่านั้นมีการอารักขาที่เฉลียงที่ ๒ ของนครทั้งสองท่านถือเอากุมภัณฑ์ด้วยศัพท์ว่า ปยสฺส หาริ. ได้ยินว่า พวกกุมภัณฑ์เหล่านั้นคือ ทานพ (อสูรสามัญ)และรากษส (ผีเสื้อน้ำ) พวกกุมภัณฑ์เหล่านั้นมีการอารักขาที่เฉลียงที่ ๓ แห่งนครทั้งสองท่านถือเอาพวกยักษ์ด้วยศัพท์ว่า มทนยุต ได้ยินว่า ยักษ์เหล่านั้นมีปรกติเที่ยวไปไม่สม่ำเสมอ เป็นนักรบ ยักษ์เหล่านั้นมีการอารักขาที่เฉลียงที่ ๔ แห่งนครทั้งสองท่านกล่าวถึงท้าวมหาราชทั้ง ๔ ด้วยบทว่า จตุโร จ มหนฺตานี้. ท้าวมหาราชทั้ง ๔ นั้นมีการอารักขาที่เฉลียงที่ ๕ แห่งนครทั้งสอง เพราะฉะนั้น ถ้าพวกอสูรโกรธ มีจิตขุ่นมัว เข้าไปยังเทพบุรี บรรดานักรบ ๕ ประเภท พวกนาคจะตั้งป้องกันเขาปริภัณฑ์ลูกแรกนั้น อารักขาที่เหลือในฐานะที่เหลือก็อย่างนั้น. 

ก็เมื่อท้าวสักกะจอมเทพทรงตั้งอารักขาในที่ ๕ แห่งเหล่านี้แล้ว เสวยทิพยสมบัติอยู่. 

นางสุธรรมา จุติมาบังเกิดเป็นบาทบริจาริกาของท้าวสักกะนั้นแหละ ก็เทวสภาชื่อว่าสุธรรมามีประมาณ ๕๐๐ โยชน์ ซึ่งเป็นที่ที่ท้าวสักกะจอมเทพประทับนั่งบนบัลลังก์ทองขนาดหนึ่งโยชน์ภายใต้เศวตฉัตรทิพย์ทรงกระทำกิจที่จะพึงกระทำแก่เทวดาและมนุษย์ได้เกิดขึ้นแก่นางสุธรรมา เพราะผลวิบากที่ให้ช่อฟ้า. 

ฝ่ายนางสุจิตรา ก็จุติมาบังเกิดเป็นบาทบริจาริกาของท้าวสักกะนั้นเหมือนกันและอุทยานชื่อว่าจิตรลดาวันก็เกิดขึ้นแก่นางสุจิตรานั้นเพราะผลวิบากของการกระทำอุทยาน. 

ฝ่ายนางสุนันทา ก็จุติมาบังเกิดเป็นบาทบริจาริกาของท้าวสักกะนั้นเหมือนกันและสระโบกขรณีชื่อว่านันทาก็เกิดขึ้นแก่นางสุนันทานั้น เพราะผลวิบากของการขุดสระโบกขรณี. 

ส่วนนางสุชาดา บังเกิดเป็นนางนกยางอยู่ที่ชอกเขาในป่าแห่งหนึ่ง เพราะไม่ได้กระทำกุศลกรรมไว้. 

ท้าวสักกะทรงพระรำพึงว่า „นางสุชาดาไม่ปรากฏนางบังเกิด ณ ที่ไหนหนอ?“ ครั้นทรงเห็นนางสุชาดานั้น จึงเสด็จไปที่ซอกเขานั้น พานางมายังเทวโลกทรงแสดงเทพนครอันน่ารื่นรมย์ เทวสภาชื่อสุธรรมา สวนจิตรลดาวันและนันทาโบกขรณีแก่นางแล้ว, ทรงโอวาทนางว่า „หญิงเหล่านี้ได้กระทำกุศลไว้จึงมาบังเกิดเป็นบาทบริจาริกาของเรา, ส่วนเธอไม่ได้กระทำกุศลไว้จึงบังเกิดในกำเนิดดิรัจฉาน, ตั้งแต่นี้ไป เธอจงรักษาศีล“. 

นางนกยางนั้น ก็รักษาศีลตั้งแต่กาลนั้น โดยล่วงไป ๒-๓ วัน ท้าวสักกะทรงดำริว่า นางนกยางอาจรักษาศีลหรือหนอ จึงเสด็จไป แปลงรูปเป็นปลานอนหงายอย่างหน้า นางนกยางนั้น สำคัญว่า ปลาตายจึงได้คาบที่หัว ปลา กระดิกหาง ลำดับนั้น นางนกยางนั้นจึงปล่อยปลานั้น ด้วยสำคัญว่า เห็นจะเป็นปลามีชีวิตอยู่. ท้าวสักกะตรัสว่า „สาธุ สาธุ เธออาจรักษาศีลได้“ แล้วได้เสด็จไปยังเทวโลก.

 นางนกยางนั้น จุติจากอัตภาพนั้น มาบังเกิดในเรือนของนายช่างหม้อ ในนครพาราณสี. ท้าวสักกะทรงพระดำริว่า „นางนกยางบังเกิด ณ ที่ไหนหนอ?, ทรงรู้ว่า เกิดในตระกูลช่างหม้อ จึงทรงเอาฟักทองคำบรรทุกเต็มยานน้อย แปลงเพศเป็นคนแก่นั่งอยู่กลางบ้านป่าวร้องว่า ท่านทั้งหลายจงรับเอาฟักเหลือง คนทั้งหลายมากล่าวว่า „ข้าแต่พ่อท่านจงให้“, ท้าวสักกะตรัสว่า „เราให้แก่คนทั้งหลายผู้รักษาศีลท่านทั้งหลายจงรักษาศีล" คนทั้งหลายกล่าวว่า „ขึ้นชื่อว่าศีล พวกเราไม่รู้จัก, ท่านจงให้ด้วยมูลค่า“. ท้าวสักกะตรัสว่า „เราไม่ต้องการมูลค่า เราจะให้เฉพาะแก่ผู้รักษาศีลเท่านั้น“. 

คนทั้งหลายกล่าวว่า „นี้ฟักเหลืองอะไรกันหนอ?“, แล้วก็หลีกไป. 

นางสุชาดาได้ฟังข่าวนั้นแล้วคิดว่า „เขาจักนำมาเพื่อเรา“, จึงไปพูดว่า „ข้าแต่พ่อท่านจงให้เถิด“. ท้าวสักกะตรัสว่า „แม่ เธอรักษาศีลแล้วหรือ?“ นางสุชาดากล่าวว่า „จ้ะ ฉัน รักษาศีล“. ท้าวสักกะตรัสว่า „สิ่งนี้เรานำมาเพื่อประโยชน์แก่เจ้าเท่านั้น“, แล้ววางไว้ที่ประตูบ้านพร้อมกับยานน้อยแล้วหลีกไป. 

ฝ่ายนางสุชาดานั้น รักษาศีลจนตลอดชั่วอายุ จุติจากอัตภาพนั้นไปบังเกิดเป็นบิดาของจอมอสูรนามว่าเวปจิตติได้เป็นผู้มีรูปร่างงดงามด้วยอานิสงส์แห่งศีล. 

ในเวลาธิดานั้นเจริญวัยแล้ว ท้าวเวปจิตตินั้นดำริว่า „ธิดาของเราจงเลือกสามีตามความชอบใจของตน“ จึงให้พวกอสูรประชุมกัน. ท้าวสักกะทรงตรวจดูว่า „นางสุชาดานั้นบังเกิด ณ ที่ไหนหนอ“ ครั้นทรงทราบว่านางเกิดในภพอสูรนั้นจึงทรงดำริว่า „นางสุชาดาเมื่อจะเลือกเอาสามีตามที่ใจชอบ จักเลือก เอาเรา“ จึงทรงนิรมิตเพศเป็นอสูรแล้วได้ไปในที่ประชุมนั้น. 

ญาติทั้งหลายประดับประดานางสุชาดาแล้วนำมายังที่ประชุมพลางกล่าวว่า „เจ้าจงเลือกเอาสามีที่ใจชอบ นางตรวจดูอยู่แลเห็นท้าวสักกะ. ด้วยอำนาจความรักอันมีในกาลก่อน จึงได้เลือกเอาว่า ท่านผู้นี้เป็นสามีของเรา. ท้าวสักกะจึงทรงนำนางมายังเทพนครทรงกระทำให้เป็นใหญ่กว่า นางฟ้อนจำนวน ๒๕๐๐ โกฏิทรงดำรงอยู่ตลอดชั่วพระชนมายุแล้วเสด็จไปตามยถากรรม.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุบัณฑิตทั้งหลายในปางก่อนครองราชสมบัติในเทวโลก ถึงจะสละชีวิตของตนก็ไม่กระทำปาณาติบาต ด้วยประการอย่างนี้ ชื่อว่าเธอบวชในศาสนาอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์เห็นปานนี้เหตุไรจักดื่มน้ำมีตัวสัตว์อันมิได้กรองเล่า“ จึงทรงติเตียนภิกษุนั้นแล้วทรงสืบอนุสนธิ ประชุมชาดกว่า มาตลีสารถีในครั้งนั้นได้เป็นพระอานนท์ในบัดนี้ ส่วนท้าวสักกะในครั้งนั้นได้เป็นเราแล. 

จบกุลาวาชาดกที่ ๑

CR: หมายเหตุ ข้อมูลที่มา ภาษาบาฬี จากเว็บไซต์ tipitaka.org คำแปลจาก ฉบับมหิดล, ฉบับสยามรัฐ, ฉบับมหาเถรสมาคม เป็นต้น, ส่วนอรรถกถาแปลโดยมากจากฉบับมหาจุฬาฯ.

Credit: Palipage : Guide to Language - Pali

30. ว่าด้วยลักษณะของผู้มีอายุยืน29. ว่าด้วยผู้เอาการเอางาน , 28. ว่าด้วยการพูดดี , 27. ว่าด้วยการเห็นกันบ่อยๆ , 26. ว่าด้วยการเสี้ยมสอน , 25. ว่าด้วยการเบื่อเพราะซ้ำซาก , 24. ว่าด้วยม้าอาชาไนยกับม้ากระจอก 23. ว่าด้วยม้าสินธพอาชาไนย , 22. ว่าด้วยสุนัขที่ถูกฆ่า , 21. ว่าด้วยกวางกุรุงคะ , 20. เหตุที่ไม้อ้อเป็นรูทะลุตลอด , 19. ว่าด้วยการเปลื้องตน , 18. ว่าด้วยสัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์ , 17. ว่าด้วยความหนาวเกิดแต่ลม , 16. ว่าด้วยเล่ห์กลลวงพราน , 15. ว่าด้วยผู้ล่วงเลยโอวาท , 14. ว่าด้วยอำนาจของรส , 13. ว่าด้วยผู้ตกอยู่ในอำนาจหญิง , 12. ว่าด้วยการเลือกคบ , 11. ว่าด้วยผู้มีศีล , 10. ว่าด้วยการอยู่เป็นสุข , 9. ว่าด้วยเทวทูต , 8. ว่าด้วยไม่ใจเร็วด่วนได้ , 7. ว่าด้วยพระเจ้ากัฏฐวาหนะ ,  6. ว่าด้วยธรรมของเทวดา , 5. ว่าด้วยราคาข้าวสาร,  4. ว่าด้วยคนฉลาดตั้งตนได้ , 3. ว่าด้วยเสรีววาณิช , 2. ว่าด้วยผู้ไม่เกียจคร้าน , 1. ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ 

Previous Post
Next Post

0 comments: