มุนิกชาตกํ - ว่าด้วยลักษณะของผู้มีอายุยืน
มา มุนิกสฺส ปิหยิ, อาตุรนฺนานิ ภุญฺชติ;
อปฺโปสฺสุกฺโก ภุสํ ขาท, เอตํ ทีฆายุลกฺขณนฺติฯ
"เธออย่าริษยาหมูมุณิกะเลย, มันกินอาหารอันเป็นเหตุให้เดือดร้อน,
เธอจงเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย กินแต่แกลบเถิด, นี่เป็นลักษณะแห่งความเป็นผู้มีอายุยืน."
มุณิกชาดกอรรถกถา
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระวิหารเชตวันทรงปรารภการประเล้าประโลมของเด็กหญิงอ้วน จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า มามุณิกสฺส ดังนี้.
เรื่องการประเล้าประโลมนั้น จักมีแจ้งในจุลลนารทกัสสปชาดกเตรสนิบาต. ก็พระศาสดาตรัสถามภิกษุนั้นว่า „ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่า เธอเป็นผู้กระสันจะสึกจริงหรือ?“.
ภิกษุนั้นทูลว่า „พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ“, พระศาสดาตรัสถามว่า „เพราะอาศัยอะไร ?“ ภิกษุนั้นกราบทูลว่า „เพราะอาศัยการประเล้าประโลมของเด็กหญิงอ้วน พระเจ้าข้า“.
พระศาสดาตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุ เด็กหญิงอ้วนนั้นการทำความพินาศแก่เธอในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้, แม้ในกาลก่อน ในวันวิวาห์ของเด็กหญิงอ้วนนี้ เธอก็ถึงความสิ้นชีวิต ถึงความเป็นแกงอ่อมของมหาชน“, แล้วทรงน้ำอดีตนิทานมา ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดโค ในบ้านของกุฎุมพีคนหนึ่งในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง โดยมีชื่อว่ามหาโลหิต ฝ่ายน้องชายของพระโพธิสัตว์ได้เป็นผู้ชื่อว่าจูฬโลหิต ธุระการงานในตระกูลนั้นนั่นแล ย่อมดำเนินไปได้เพราะอาศัยโค๒ ตัวพี่น้องนั้นนั่นเอง.
ก็ในตระกูลนั้น มีเด็กหญิงคนหนึ่ง. กุลบุตรชาวเมืองคนหนึ่ง ขอเด็กหญิงนั้นเพื่อบุตรของตน. บิดามารดาของเด็กหญิงนั้น ให้ข้าวยาคูและภัตเลี้ยงดูสุกรชื่อว่ามุณิกะ ด้วยหวังว่า „แกงอ่อมจักมีเพื่อแขกทั้งหลายผู้มาในวันวิวาห์ของเด็กหญิง“.
โคจูฬโลหิตเห็นดังนั้นจึงถามพี่ชายว่า „ธุระการงานในตระกูลนี้เมือจะดำเนินไป ก็อาศัยเราพี่น้องทั้งสองจึงดำเนินไปได้, แต่คนเหล่านี้ให้เฉพาะแต่หญ้าและใบไม้แก่พวกเรา, กลับปรนเปรอสุกรด้วยข้าวยาคูและภัต, ด้วยเหตุไรหนอ? สุกรนี้จึงได้ยาคูและภัตนั้น“.
ลำดับนั้น โคผู้พี่จึงกล่าวกะจูฬโลหิตผู้น้องว่า „ดูก่อนพ่อจูฬโลหิต เจ้าอย่าริษยาโภชนะของสุกรนั้นเลย, สุกรนี้กำลังบริโภคภัตเป็นเหตุตาย, ในวันวิวาห์ของกุมาริกาสุกรนี้จักเป็นแกงอ่อมสำหรับแขกผู้มา, เพราะเหตุนั้น ชนเหล่านั้นจึงเลี้ยงดูสุกรนี้ โดยล่วงไป ๒-๓ วัน แต่นี้ไปคนทั้งหลายจักพากันมา เมื่อเป็นอย่างนั้นเจ้าจักได้เห็นสุกรนั้นถูกจับที่เท้าทั้งหลายดึงออกมาจากใต้เตียง ถูกเขาฆ่าการทำแกงและกับข้าวเพื่อแขกทั้งหลาย“, แล้วกล่าวคาถานี้ว่า :-
„เจ้าอย่าริษยาหมูมุณีกะเลย, มันกินอาหารอันเป็นเหตุให้เดือดร้อน, เจ้าจงเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย กินแต่แกลบเถิด, นี้เป็นลักษณะแห่งความเป็นผู้มีอายุยืน“.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มา มุณิกสฺส ปิหยิ ความว่า ท่านอย่ายังความริษยาให้เกิดขึ้นในโภชนะของหมูมุณิกะ คืออย่าริษยาต่อหมูมุณิกะว่า หมูนี้บริโภคโภชนะดีได้แก่ อย่าปรารถนาเป็นอย่างหมูมุณิกะว่า เมื่อไรหนอ แม้เราก็จะมีความสุขอย่างนี้ เพราะหมูมุณิกะนี้บริโภคอาหารอันเป็นเหตุเดือดร้อน.
บทว่า อาตุรนฺนานิ ได้แก่ โภชนะเป็นเหตุให้ตาย. บทว่า อปฺโปสฺสุโก ภุสํ ขาท ความว่า ท่านจงเป็นผู้มีความขวนขวายน้อยในโภชนะของหมูมุณิกะนั้น จงบริโภคแกลบที่ตนได้เถิด.
บทว่า เอตํ ทีฆายุลกฺขณํ ความว่า นี่เป็นเหตุแห่งความเป็นผู้มีอายุยืน. แต่นั้น ไม่นานนัก คนเหล่านั้นก็พากันมา. ฆ่าหมูมุณิกะแล้วแทงโดยประการต่าง ๆ.
พระโพธิสัตว์กล่าวกะโคจูฬโลหิตว่า „พ่อ เจ้าเห็นหมูมุณิกะแล้วหรือ“?. โคจูฬโลหิตกล่าวว่า „ข้าแต่พี่ ผลแห่งการบริโภคของหมูมุณิกะฉันเห็นแล้ว, ของสักว่าหญ้า ใบไม้และแกลบเท่านั้น ของพวกเราอุดม, ไม่มีโทษและเป็นลักษณะแห่งความเป็นผู้มีอายุยืน กว่าภัตของหมูมุณิกะโดยร้อยเท่าพันเท่า“.
พระศาสดา ตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุ แม้ในกาลก่อน เธอก็อาศัยกุมาริกานี้ถึงความสิ้นชีวิตแล้วถึงความเป็นแกงอ่อมของมหาชน ด้วยประการอย่างนี้แล“.
ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วจึงทรงประกาศสัจจะทั้งหลาย. ในเวลาจบสัจจะภิกษุผู้กระสันอยากสึก ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล.
แม้พระศาสดาก็ทรงสืบอนุสนธิแล้วทรงประชุมชาดกว่า มุณิกสุกรในครั้งนั้นได้เป็นภิกษุผู้กระสันจะสึก, กุมาริกานี้แหละได้เป็นกุมาริกาอ้วน, โคจูฬโลหิตได้เป็นพระอานนท์, ส่วนโคมหาโลกหิตได้เป็นเราแล.
จบมุณิชาดกที่ ๑๐, จบกุรุงควรรคที่ ๓
CR: หมายเหตุ ข้อมูลที่มา ภาษาบาฬี จากเว็บไซต์ tipitaka.org คำแปลจาก ฉบับมหิดล, ฉบับสยามรัฐ, ฉบับมหาเถรสมาคม เป็นต้น, ส่วนอรรถกถาแปลโดยมากจากฉบับมหาจุฬาฯ.
29. ว่าด้วยผู้เอาการเอางาน , 28. ว่าด้วยการพูดดี , 27. ว่าด้วยการเห็นกันบ่อยๆ , 26. ว่าด้วยการเสี้ยมสอน , 25. ว่าด้วยการเบื่อเพราะซ้ำซาก , 24. ว่าด้วยม้าอาชาไนยกับม้ากระจอก , 23. ว่าด้วยม้าสินธพอาชาไนย , 22. ว่าด้วยสุนัขที่ถูกฆ่า , 21. ว่าด้วยกวางกุรุงคะ , 20. เหตุที่ไม้อ้อเป็นรูทะลุตลอด , 19. ว่าด้วยการเปลื้องตน , 18. ว่าด้วยสัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์ , 17. ว่าด้วยความหนาวเกิดแต่ลม , 16. ว่าด้วยเล่ห์กลลวงพราน , 15. ว่าด้วยผู้ล่วงเลยโอวาท , 14. ว่าด้วยอำนาจของรส , 13. ว่าด้วยผู้ตกอยู่ในอำนาจหญิง , 12. ว่าด้วยการเลือกคบ , 11. ว่าด้วยผู้มีศีล , 10. ว่าด้วยการอยู่เป็นสุข , 9. ว่าด้วยเทวทูต , 8. ว่าด้วยไม่ใจเร็วด่วนได้ , 7. ว่าด้วยพระเจ้ากัฏฐวาหนะ , 6. ว่าด้วยธรรมของเทวดา , 5. ว่าด้วยราคาข้าวสาร, 4. ว่าด้วยคนฉลาดตั้งตนได้ , 3. ว่าด้วยเสรีววาณิช , 2. ว่าด้วยผู้ไม่เกียจคร้าน , 1. ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ
0 comments: