วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2565

ทมะ คือการข่มใจ การทรมาน และการฝึกตน

ทมะ คือการข่มใจ การทรมาน และการฝึกตน

พระพุทธองค์ตรัสไว้ในมานกามสูตรที่ ๙ ในสังยุตตนิกาย สคาถวรรคว่า “ทมะ ย่อมไม่มีแก่บุคคลที่ปรารถนามานะ” หมายความว่า คนที่มีความถือตัว ไม่สามารถที่จะบังคับควบคุมตนเองได้ และไม่สามารถฝึกจิตของตนให้เป็นสมาธิได้ เมื่อไม่มีสมาธิ ปัญญาก็ไม่เกิด

เพราะฉะนั้น เราต้องฝึกตน ก็การฝึกตนนั้นฝึกด้วยอะไรบ้าง ?  พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ในอรรถกถามานกามสูตรที่ ๙ นั้นว่า “คำว่า “ทมะ” เป็นชื่อเรียกสมาธิบ้าง เป็นชื่อเรียกอินทรีย์บ้าง เป็นชื่อเรียกปัญญาบ้าง เป็นชื่อเรียกอุโบสถกรรมบ้าง เป็นชื่อเรียกอธิวาสนขันติบ้าง”

ประการแรก สมาธิคือความฝึกใจให้แน่วแน่ เพื่อให้จิตใจสงบหรือเพื่อให้เกิดปัญญาเห็นแจ้ง เป็นการฝึกจิตให้ตั้งมั่นด้วยอารมณ์กัมมัฏฐานทั้งสมถะและวิปัสสนา

ประการที่สอง อินทรีย์คือร่างกายและจิตใจ หรืออวัยวะที่เป็นใหญ่ในตัวคน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เราต้องฝึกสำรวมอินทรีย์เหล่านี้ก็เพื่อมิให้เกิดความยินดีหรือความยินร้าย ในเวลาเห็นรูป ได้ยินเสียง และรับรูอารมณ์ต่างๆ ที่มากระทบ

ประการที่สาม ปัญญาคือความรู้ทั่ว ที่เราต้องฝึกมองหรือพิจารณาทุกสรรพสิ่งให้รู้ทั่วถึงเหตุถึงผล รู้อย่างชัดเจน รู้เรื่องบาปบุญคุณโทษ รู้สิ่งที่ควรทำควรเว้นเป็นต้น

ประการที่สี่ อุโบสถกรรมคือการอยู่จำ สำหรับคฤหัสถ์ หมายถึง การรักษาศีล ๘ และบำเพ็ญข้อปฏิบัติอย่างอื่นที่สมควรมีฟังพระธรรมเทศนาเป็นต้น เป็นการฝึกตนด้วยการรักษากายวาจาใจให้เรียบร้อยหรือให้เป็นปกติ เพื่อบำเพ็ญกุศลกรรมทำความดีพิเศษตามหลักพระพุทธศาสนา

ประการสุดท้าย อธิวาสนขันติคือความอดทนอย่างยิ่งยวด หมายถึง การอดทนต่อการกระทบกระทั่งของคนที่ด้อยกว่า จะในทางฐานะ ทางศีลธรรม ทางยศ หรือทางใดก็ตาม วิธีอดทนคือ ให้ถ่อมใจของเรามาเสีย ลดมานะของเราลง เขาว่ามาก็คิดเสียว่า "ถูกของเขา" เป็นความอดกลั้นที่สูงกว่าขันติสามัญ เพราะขันติสามัญนั้นสามารถอดทนได้เมื่อได้รับความลำบากจากการตรากตรำและความทุกข์ในยามป่วยไข้เป็นต้น ส่วนอธิวาสนขันตินั้นสามารถรับความเจ็บช้ำน้ำใจจากการถูกกล่าวว่ากระทบกระทั่ง ร่างกายก็จะไม่รู้สึกเป็นทุกข์เพราะความลำบากตรากตรำ จิตใจก็ไม่รู้สึกเป็นทุกข์เพราะความเจ็บช้ำน้ำใจ 

เพราะฉะนั้น บุคคลผู้มีมานะคือความถือตัว จะไม่สามารถข่มใจและฝึกตนเองได้ เมื่อฝึกไม่ได้ก็ยากที่จะบรรลุถึงคุณอันยิ่งคือโลกุตรธรรมได้ ดังนี้.

สาระธรรมจากมานกามสูตรที่ ๙ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ) วัดสามพระยา กรุงเทพฯ

24/4/65





Previous Post
Next Post

0 comments: