วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2565

โอภตจุมพฏา - ภรรยาประเภทที่ 6

โอภตจุมพฏา - ภรรยาประเภทที่ 6

ภรรยาที่ถูกปลงเทริด

ควรทราบก่อน :  ในจำนวนศีล 227 สิกขาบทของภิกษุ ในหมวดอาบัติสังฆาทิเสสมี 13 สิกขาบท สิกขาบทที่ 5 บัญญัติว่า “ภิกษุชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน ต้องสังฆาทิเสส” (นวโกวาท หน้า 3)

เมื่อกล่าวถึง “ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน” ตามสิกขาบทนี้ พระวินัยปิฎกจำแนกหญิงที่ชายได้มาเป็นภรรยาไว้ 10 ประเภท คือ -

(1) ธนกีตา  =  ภรรยาสินไถ่ 

(2) ฉันทวาสินี  =  ภรรยาที่อยู่ด้วยความเต็มใจ 

(3) โภควาสินี  =  ภรรยาที่อยู่เพราะสมบัติ

(4) ปฏวาสินี  =  ภรรยาที่อยู่เพราะผ้า 

(5) โอทปัตตกินี  =  ภรรยาที่สมรส 

(6) โอภตจุมพฏา  =  ภรรยาที่ถูกปลงเทริด 

(7) ทาสี  จ  ภริยา  จ  =  ภรรยาที่เป็นทั้งคนใช้เป็นทั้งภรรยา 

(8 ) กัมมการี จ  ภริยา  จ  =  ภรรยาที่เป็นทั้งลูกจ้างทั้งเป็นภรรยา 

(9) ธชาหฏา =  ภรรยาเชลย

(10) มุหุตติกา  =  ภรรยาชั่วคราว 

ชื่อภรรยาทั้ง 10 ประเภทนี้ ไม่ใช่คำแสดงลักษณะนิสัยของภรรยาเหมือนภรรยา 7 ประเภท เช่น “โจรีภริยา” ภรรยาเยี่ยงโจร “มาตาภริยา” ภรรยาเยี่ยงมารดา เป็นต้น หากแต่เป็นคำแสดงที่มาหรือลักษณะที่ได้หญิงนั้นมาเป็นภรรยาว่าได้มาด้วยวิธีใด

ชื่อภรรยาทั้ง 10 ประเภทนี้บ่งบอกถึงสภาพสังคมหรือค่านิยมในการหาคู่ครองของชายชาวชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล เป็นเรื่องน่ารู้ จึงนำแต่ละชื่อมาแสดงความหมายตามกรอบขอบเขตของ “บาลีวันละคำ” พอเป็นอลังการของนักเรียนบาลี

“โอภตจุมพฏา” อ่านว่า โอ-พะ-ตะ-จุม-พะ-ตา ประกอบด้วยคำว่า โอภต + จุมพฏา

(๑) “โอภต”  อ่านว่า โอ-พะ-ตะ เป็นคำ “กิริยากิตก์” รากศัพท์มาจาก โอ (คำอุปรรค = ลง) + ภรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ต ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (ภรฺ > ภ)

: โอ + ภรฺ = โอภรฺ + ต = โอภรต > โอภต แปตามศัพท์ว่า “เอาลงแล้ว” หมายถึง ปลงลง, เอาออก, ถอดออก (having taken away or off)

(๒) “จุมพฏา”  เขียนแบบบาลีเป็น “จุมฺพฏา” (มีจุดใต้ มฺ) อ่านว่า จุม-พะ-ตา รูปคำเดิมเป็น “จุมฺพฏ” (จุม-พะ-ตะ) รากศัพท์มาจาก จุมฺพฺ (ธาตุ = จูบ, แนบติด) + อฏ ปัจจัย 

: จุมฺพฺ + อฏ = จุมฺพฏ (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่แนบติดศีรษะ” 

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “จุมฺพฏ” ว่า ม้วนผ้าตั้งของบนศีรษะ, เทริด, เสวียนผ้า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จุมฺพฏ” ดังนี้ 

(1) a coil; a pad of cloth, a pillow (เทริด; ผ้าโพก, หมอน)

(2) a wreath (พวงมาลัย, พวงหรีด)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

“จุมพฏ : (คำนาม) เสวียน; รัดเกล้า, เทริด; ของที่เป็นวง. (ป.).”

โอภต + จุมฺพฏ = โอภตจุมฺพฏ (โอ-พะ-ตะ-จุม-พะ-ตะ) แปลว่า “ผู้มีเทริดอันปลงลงแล้ว” หมายความว่า เคยมี “เทริด” อยู่บนศีรษะ แต่บัดนี้มีผู้เอาเทริดนั้นออกจากศีรษะแล้ว (ไม่ได้เอาออกเอง แต่มีผู้อื่นมาเอาออกให้)

“โอภตจุมฺพฏ” เป็นคำคุณศัพท์ เมื่อขยายคำนามที่เป็นอิตถีลิงค์ ลง อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “โอภตจุมฺพฏา” (โอ-พะ-ตะ-จุม-พะ-ตา)

“โอภตจุมฺพฏา” เขียนแบบไทยเป็น “โอภตจุมพฏา” (ไม่มีจุดใต้ ม) แปลว่า “ภรรยาที่ถูกปลงเทริด”

ขยายความ :  เบื้องต้นพึงทำความเข้าใจก่อนว่าคำว่า “จุมพฏ” ที่แปลว่า “เทริด” หมายถึงอะไร

คำว่า “เทริด” อ่านว่า เซิด (ทร = ซ ไม่ใช่ ทะ-เริด หรือ เท-ริด) ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

“เทริด : (คำนาม) เครื่องประดับศีรษะ รูปมงกุฎอย่างเตี้ย มีกรอบหน้า.”

โปรดทราบว่า “จุมพฏ” ที่ท่านแปลว่า เทริด ในที่นี้ ไม่ใช่เครื่องประดับศีรษะอย่างที่ใช้ในภาษาไทย แต่หมายถึง ผ้ารองศีรษะ ซึ่งอาจทำเป็นแผ่นผ้ากลมๆ หรือเป็นวงกลมวางบนศีรษะเมื่อใช้ศีรษะทูนของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อกันไม่ให้ของนั้นกระทบศีรษะตรงๆ

“จุมพฏ” หรือ “เทริด” ในความหมายนี้เป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งในการทำงานแบกขนสิ่งของ ซึ่งตามวัฒนธรรมของชาวชมพูทวีปมักใช้วิธีวางของนั้นไว้บนศีรษะ ที่มีคำเรียกว่า “ทูน” แล้วเดินไป สตรีที่ทำงานบ้าน เช่น ตักน้ำ หาฟืน เป็นต้น จะต้องมี “จุมพฏ” วางไว้บนศีรษะเสมอ “จุมพฏ” จึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์บอกให้รู้ว่าสตรีผู้นั้นเป็นคนงาน คือคนที่ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ หรือมีหน้าที่ทำงานรับใช้หรือรับจ้างทั่วไป ยังไม่มีชายใดรับเลี้ยงดูเป็นภรรยา

ชายที่เห็นสตรีมี “จุมพฏ” บนศีรษะ หากพอใจจะรับเป็นภรรยา ก็จะใช้วิธีเข้าไปหยิบ “จุมพฏ” ออกจากศีรษะ เป็นอันบอกให้รู้ว่า บัดนี้เธอไม่ต้องทำงานเช่นนี้อีกแล้ว ฉันขอรับเธอเป็นภรรยา

ภรรยาเช่นนี้แหละเรียกว่า “โอภตจุมพฏา” = ภรรยาที่ถูกปลงเทริด

ในพระไตรปิฎก สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ 5 ให้คำจำกัดความ “โอภตจุมพฏา” ไว้ดังนี้ -

โอภตจุมฺพฏา  นาม  จุมฺพฏํ  โอโรเปตฺวา  วาเสติ  ฯ  ภรรยาที่ชื่อว่า “โอภตจุมพฏา” หมายถึง สตรีที่ชายนำเทริดออกจากศีรษะแล้วให้อยู่ร่วมกัน

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 433

คัมภีรอรรถกถาพระวินัยปิฎกขยายความ “โอภตจุมพฏา” ไว้ดังนี้ -

โอภตํ  โอโรปิตํ  จุมฺพฏมสฺสาติ  โอภตจุมฺพฏา  กฏฺฐหาริกาทีนํ  อญฺญตรา  ฯ   เทริดของสตรีนั้นอันบุรุษนำลง คือปลงลงแล้ว สตรีนั้นชื่อว่า โอภตจุมพฏา คือบรรดาสตรีทั้งหลายมีสตรีหาฟืนเป็นต้นคนใดคนหนึ่ง

ยสฺสา  สีสโต  จุมฺพฏํ  โอโรเปตฺวา  ฆเร  วาเสติ  ตสฺสา  เอตํ  อธิวจนํ  ฯ

คำว่า โอภตจุมพฏา เป็นชื่อเรียกภรรยาที่ฝ่ายชายยกเทริดลงจากศีรษะแล้วให้อยู่ร่วมเรือน

ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค 2 หน้า 57 (อธิบายสังฆาทิเสสสิกขาบทที่ 5)

ดูก่อนภราดา!  

ปลงเทริดจากศีรษะไปเป็นภรรยา  ต้องรอเวลาให้พบชายในดวงใจ

ปลงกิเลสจากจิตไปเป็นไท   ไม่ต้องรอใคร ทำได้ทันที

บาลีวันละคำ (3,592) ,  ทองย้อย แสงสินชัย

มุหุตติกา - ภรรยาประเภทที่ 10 , ธชาหฏา - ภรรยาประเภทที่ 9 , กัมมการี  จ  ภริยา  จ  -  ภรรยาประเภทที่ 8 , ทาสี  จ  ภริยา  จ - ภรรยาประเภทที่ 7 , โอภตจุมพฏา - ภรรยาประเภทที่ 6  โอทปัตตกินี - ภรรยาประเภทที่ 5 , ปฏวาสินี - ภรรยาประเภทที่ 4 , โภควาสินี - ภรรยาประเภทที่ 3 ,  ฉันทวาสินี  -  ภรรยาประเภทที่ 2 , ธนกีตา - ภรรยาประเภทที่ 1


Previous Post
Next Post

0 comments: