วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2565

ธชาหฏา - ภรรยาประเภทที่ 9

ธชาหฏา - ภรรยาประเภทที่ 9

ภรรยาเชลย

ควรทราบก่อน :  ในจำนวนศีล 227 สิกขาบทของภิกษุ ในหมวดอาบัติสังฆาทิเสสมี 13 สิกขาบท สิกขาบทที่ 5 บัญญัติว่า “ภิกษุชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน ต้องสังฆาทิเสส” (นวโกวาท หน้า 3)

เมื่อกล่าวถึง “ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน” ตามสิกขาบทนี้ พระวินัยปิฎกจำแนกหญิงที่ชายได้มาเป็นภรรยาไว้ 10 ประเภท คือ -

(1) ธนกีตา  =  ภรรยาสินไถ่ 

(2) ฉันทวาสินี  =  ภรรยาที่อยู่ด้วยความเต็มใจ 

(3) โภควาสินี  =  ภรรยาที่อยู่เพราะสมบัติ

(4) ปฏวาสินี  =  ภรรยาที่อยู่เพราะผ้า 

(5) โอทปัตตกินี  =  ภรรยาที่สมรส 

(6) โอภตจุมพฏา  =  ภรรยาที่ถูกปลงเทริด 

(7) ทาสี  จ  ภริยา  จ  =  ภรรยาที่เป็นทั้งคนใช้เป็นทั้งภรรยา 

(8 ) กัมมการี  จ  ภริยา  จ  =  ภรรยาที่เป็นทั้งลูกจ้างทั้งเป็นภรรยา 

(9) ธชาหฏา  =  ภรรยาเชลย

(10) มุหุตติกา  =  ภรรยาชั่วคราว 

ชื่อภรรยาทั้ง 10 ประเภทนี้ ไม่ใช่คำแสดงลักษณะนิสัยของภรรยาเหมือนภรรยา 7 ประเภท เช่น “โจรีภริยา” ภรรยาเยี่ยงโจร “มาตาภริยา” ภรรยาเยี่ยงมารดา เป็นต้น หากแต่เป็นคำแสดงที่มาหรือลักษณะที่ได้หญิงนั้นมาเป็นภรรยาว่าได้มาด้วยวิธีใด

ชื่อภรรยาทั้ง 10 ประเภทนี้บ่งบอกถึงสภาพสังคมหรือค่านิยมในการหาคู่ครองของชายชาวชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล เป็นเรื่องน่ารู้ จึงนำแต่ละชื่อมาแสดงความหมายตามกรอบขอบเขตของ “บาลีวันละคำ” พอเป็นอลังการของนักเรียนบาลี

“ธชาหฏา” อ่านว่า ทะ-ชา-หะ-ตา ประกอบด้วยคำว่า ธช + อาหฏา

(๑) “ธช”  อ่านว่า ทะ-ชะ รากศัพท์มาจาก ธชฺ (ธาตุ = ไป) + อ (อะ) ปัจจัย

: ธชฺ + อ = ธช (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผ้าที่สะบัดไป” หมายถึง ธงทั่วไป

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธช” ว่า a flag, banner; mark, emblem, sign, symbol (ธง, สัญลักษณ์; เครื่องหมาย, เครื่องแสดง, เครื่องสังเกต)

บาลี “ธช” สันสกฤตเป็น “ธฺวช” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน) บอกไว้ดังนี้ -

(สะกดตามต้นฉบับ)

“ธฺวช : (คำนาม) ‘ธวัช,’ เกตุ, ปตาก, ธง; จิน์ห, ลักษณะ; คุหยางค์หรือคุหเยนทรีย์, องค์ที่ลับของชาย; เรือนอันปลูกหรือตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง; เสาธง; (คำใช้ในกวิตา) บาทสองพยางค์; ผู้ต้มกลั่นสุรา, คำว่า ‘สุราการ, สุราชีวิน, สุราโศณฑิ (แผลงจาก - เศาฑิ)’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน; อหังการ; กุหกวฤตติ (แผลงเปน - กุหกพฤติ) ความหน้าไหว้หลังหลอก, ความโกง; a flag or banner; a mark, a sign or symbol; the penis; a house situated to the east of any subject; a flag-staff; (in prosody) an iambic; a distiller; pride; hypocrisy, fraud.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

(1) ธชะ : (คำแบบ) (คำนาม) ธง. (ป.).

(2) ธวัช : (คำนาม) ธง. (ส. ธฺวช; ป. ธช).

ในภาษาไทย คนไทยดูจะคุ้นกับคำว่า “ธวัช” ตามรูปสันสกฤตมากกว่า “ธช” ตามรูปบาลี เช่นในคำว่า “ธวัชฉัตรธง” เป็นต้น ในขณะที่ “ธช” (ธชะ) ตามรูปบาลี พจนานุกรมฯ บอกว่าเป็น “คำแบบ” ซึ่งหมายถึง คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป 

(๒) “อาหฏา” 

อ่านว่า อา-หะ-ตา รูปคำเดิมเป็น “อาหฏ” (อา-หะ-ตะ) รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง, กลับความ) + หรฺ (ธาตุ = นำไป) + ต ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (หรฺ > ห), แปลง ต เป็น ฏ

: อา + หรฺ = อาหรฺ + ต = อาหรต > อาหต > อาหฏ แปลว่า “นำมาแล้ว” 

อธิบายเสริม : ในที่นี้ อา-อุปสรรค ใช้ในความหมาย “กลับความ” คือทำให้ธาตุที่มี “อา” นำหน้ามีความหมายตรงกันข้ามกับความหมายเดิม เช่น -

คม = ไป : อาคม = มา

ทา = ให้ : อาทา = รับ, เอา

หร = นำไป : อาหร = นำมา

“อาหฏ” แปลว่า “นำมาแล้ว” “อัน-นำมาแล้ว” ถ้าใช้เป็นคุณศัพท์ (บาลีไวยากรณ์เรียกว่า วิเสสนะ”) หมายถึง บุคคลหรือสิ่งที่ถูกนำมา

ธช + อาหฏ = ธชาหฏ (ทะ-ชา-หะ-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันธงนำมาแล้ว” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธชาหฏ” ว่า won under or by the colours, taken as booty, captured (แพ้แก่ธง [กองทัพ], ถูกยึดมา, ถูกจับ) 

“ธชาหฏ” เมื่อใช้เป็นคุณศัพท์ขยายคำนามที่เป็นอิตถีลิงค์ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ธชาหฏา” (ทะ-ชา-หะ-ตา) แปลตามศัพท์ว่า “สตรีผู้อันธงนำมาแล้ว” 

“ธชาหฏา” ใช้เป็นคำเรียกภรรยาประเภทหนึ่ง แปลว่า “ภรรยาเชลย”

ขยายความ :  ในพระไตรปิฎก สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ 5 ให้คำจำกัดความ “ธชาหฏา” ไว้ดังนี้ -

ธชาหฏา  นาม  กรมรานีตา  วุจฺจติ  ฯ   ภรรยาที่ชื่อว่า “ธชาหฏา” (ภรรยาเชลย) หมายถึง สตรีที่เรียกกันว่า “กรมรานีตา” (สตรีที่ถูกนำมาในฐานะเชลย) 

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 433

ขยายความแถม :  คำจำกัดความในพระไตรปิฎกตอนนี้มีศัพท์ที่ควรไขความ คือ “กรมรานีตา” แยกศัพท์เป็น กรมร + อานีต (อา-นี-ตะ แปลว่า “นำมาแล้ว” “สิ่งที่ถูกนำมา”)

“กรมร” อ่านว่า กะ-ระ-มะ-ระ ประกอบด้วยคำว่า กร (กะ-ระ) = มือ + มร = ผู้ที่สมควรตาย = กรมร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ต้องตายด้วยเงื้อมมือศัตรู”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความไว้ว่า "one who ought to die from the hand [of the enemy]," but who, when captured, was spared and employed as slave; a slave (“คนผู้ควรตายจากน้ำมือ [ของศัตรู]”, แต่เมื่อถูกจับก็ไม่ถูกฆ่า แต่ถูกใช้เอาตัวเป็นทาส; ทาส) 

“กรมรานีตา” จึงหมายถึง สตรีในบ้านเมืองที่แพ้สงคราม แล้วถูกฝ่ายที่ชนะนำตัวมาในฐานะเป็นเชลยหรือเป็นทาส

คัมภีรอรรถกถาพระวินัยปิฎกขยายความ “ธชาหฏา” ไว้ดังนี้ -

ธเชน  อาหฏา  ธชาหฏา  ฯ   สตรีผู้อันนำธงมาแล้ว ชื่อว่า ธชาหฏา

อุสฺสิตธชาย  เสนาย  คนฺตฺวา  ปรวิสยํ  วิลุมฺปิตฺวา  อานีตาติ  วุตฺตํ  โหติ  ฯ  มีคำอธิบายว่า “กองทัพยกธงขึ้นแล้วเคลื่อนพลไปโจมตีเขตแดนของปรปักษ์ (ได้ชัยชนะ) แล้วนำสตรีนั้นมา”

ตํ  โกจิ  ภริยํ  กโรติ  อยํ  ธชาหฏา  นาม  ฯ   บุรุษบางคนทำสตรีนั้นให้เป็นภรรยา, ภรรยาเช่นนี้ชื่อว่า ธชาหฏา (ภรรยาเชลย) 

ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค 2 หน้า 57 (อธิบายสังฆาทิเสสสิกขาบทที่ 5)

อภิปรายแถม :

คำอธิบายของอรรถกถา - “อุสฺสิตธชาย  เสนาย  คนฺตฺวา  ปรวิสยํ  วิลุมฺปิตฺวา  อานีตาติ  วุตฺตํ  โหติ  ฯ” ที่แปลไว้ (มีคำอธิบายว่า “กองทัพยกธงขึ้นแล้วเคลื่อนพลไปโจมตีเขตแดนของปรปักษ์ (ได้ชัยชนะ) แล้วนำสตรีนั้นมา”) นั้น เป็นการแปลตรงตามรูปศัพท์ในประโยค แต่อาจจะไม่เห็นภาพตามศัพท์ที่เป็นชื่อ “ธชาหฏา” ซึ่งแปลตามศัพท์ว่า “สตรีผู้อันนำธงมาแล้ว” 

ถ้าจะให้เห็นภาพ ควรจะบรรยายว่า เมืองหนึ่งยกทัพไปตีอีกเมืองหนึ่ง ได้ชัยชนะก็กวาดต้อนผู้คนเอามาที่บ้านเมืองของตน เวลาที่ยกทัพกลับจะมองเห็นทหารเชิญธงทิวปลิวไสวนำหน้ามาในกระบวนทัพ ติดตามมาด้วยกองเชลย มีกำลังทหารอีกส่วนหนึ่งคุมเป็นกระบวนหลัง

สตรีที่มาในกองทัพในฐานะเป็นเชลยเช่นนี้แหละที่ท่านเรียกว่า “ธชาหฏา” = “สตรีผู้อันนำธงมาแล้ว” 

เมื่อบุรุษบางคนเลือกสตรีเหล่านั้นคนใดคนหนึ่งเป็นภรรยา ภรรยาเช่นนี้ท่านจึงเรียกว่า “ธชาหฏา = ภรรยาเชลย”

ดูก่อนภราดา!  ถ้ารักเชลย  ก็ต้องยอมเป็นเชลยรัก

บาลีวันละคำ (3,595) ,  ทองย้อย แสงสินชัย

มุหุตติกา - ภรรยาประเภทที่ 10 , ธชาหฏา - ภรรยาประเภทที่ 9 , กัมมการี  จ  ภริยา  จ  -  ภรรยาประเภทที่ 8 , ทาสี  จ  ภริยา  จ - ภรรยาประเภทที่ 7 , โอภตจุมพฏา - ภรรยาประเภทที่ 6  โอทปัตตกินี - ภรรยาประเภทที่ 5 , ปฏวาสินี - ภรรยาประเภทที่ 4 , โภควาสินี - ภรรยาประเภทที่ 3 ,  ฉันทวาสินี  -  ภรรยาประเภทที่ 2 , ธนกีตา - ภรรยาประเภทที่ 1




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: