วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2565

สรุปกันทรกสูตร

สรุปกันทรกสูตร (มจร. เล่ม 13 หน้า 1)

“ปริพาชกชื่อกันทรกะ”

ผ่านไปแล้วสำหรับพระสูตร 4 เล่ม รวม 84 พระสูตร ขึ้นพระไตรปิฎก มจร. เล่ม 13 (สุตตันตะเล่ม 5) ต่อไปจะเรียงลำดับพระสูตรตามจำนวนที่ได้สรุปเพื่อจะได้ทราบว่าพวกเราสรุปมาถึงไหนกันแล้ว

ที่สระน้ำคัคครา เขตกรุงจัมปา กันทรกปริพาชกกับเปสสะบุตรควาญช้างเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ปริพาชกชื่นชมเหล่าภิกษุนี้ว่าสงบอย่างอัศจรรย์ แม้พระพุทธเจ้าในอดีตและอนาคตภายภาคหน้าต้องสอนสาวกได้ดีเช่นนี้เหมือนกัน พระพุทธองค์ทรงยืนยันคำของปริพาชกว่าจริงเช่นนั้น

1. ทรงแสดง สติปัฏฐาน 4 ของพระเสขะ  คือ พิจารณาเห็น กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม มีความเพียร สัมปชัญญะ สติ กำจัดอภิชฌาความยากได้ และโทมนัสความทุกใจในโลกได้

2. นายเปสสะชื่นชมพระภาษิตถึงความอัศจรรย์ของสติปัฏฐาน 4 ที่ตนก็น้อมรับไปปฏิบัติตอนนุ่งขาวที่ทรงสอนใช้ฝึกเหล่าสาวกจนทำให้แจ้งนิพพาน จากนั้นชมความพิเศษว่าทรงฝึกมนุษย์ที่ยากกว่าการฝึกช้างหรือสัตว์อื่นอย่างยิ่งเพราะปุถุชนส่วนใหญ่นั้น รกโลก เป็นเดนคน เจ้าเล่ห์ สอนยาก ปากกับใจคนนั้นไม่ตรงกัน สัตว์เลี้ยงยังฝึกง่ายกว่า พระพุทธเจ้าทรงตรัสยืนยันคำของเปสสะบุตรควาญช้างว่าคนบางจำพวกสอนยาก

3. ทรงแสดงเรื่องบุคคล 4 ประเภท

1) ทำตนเดือดร้อน

2) ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

3) ทำทั้งตนและผู้อื่นเดือดร้อน

4) ไม่ทำให้ตนและผู้อื่นเดือดร้อน

นายเปสสะไม่ขอบใจสามพวกแรก ชื่นชมพวกสุดท้าย จากนั้นทูลลากลับ

พระพุทธเจ้าทรงตรัสกับภิกษุว่าถ้านายเปสสะไม่รีบร้อนกลับจะได้รับประโยชน์ใหญ่หลวง(อรรถกถาว่าอาจบรรลุโสดาบัน) ภิกษุทูลขอให้ขยายความบุคคล 4 ประเภท ดังนี้

1) ทำตนเดือดร้อน คือ ผู้ปฏิบัติตนเป็นอเจลกะเปลือยกายประพฤติวัตรทรมานตน คนทำร้ายร่างกายตัวเอง เพราะมิจฉาทิฏฐิ(ครอบคลุมถึงคนฆ่าตัวตาย พวกเสพติดความเจ็บปวด)

2) ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน คือ คนฆ่าสัตว์ โจรผู้ร้าย เจ้าหน้าที่ทรมานนักโทษ ประหารชีวิต สายลับนักฆ่า มิจฉาชีพ

3) ทำทั้งตนและผู้อื่นเดือดร้อน คือ พระราชา หัวหน้า ผู้ปกครอง ที่ทำการบูชายัญพลีกรรมด้วยตนหรือทรัพย์สินของตนและเอาชีวิตผู้อื่นมาสังเวยด้วย(พิธีกรรมยุคโบราณ ตลอดถึงการทำสงคราม)

4) ไม่ทำให้ตนและผู้อื่นเดือดร้อน คือ พระพุทธเจ้าผู้สอนและสาวกผู้ฟังแล้วปฏิบัติตามจนบรรลุอริยมรรคอริยผล

4. ทรงประกาศพุทธคุณ

5. ทรงแสดงสิกขา สาชีพ ของภิกษุ (คือจูฬศีล 26 ข้อ) ให้ภิกษุอยู่สัณโดษในจีวรและบิณฑบาต จะไปไหนก็ไร้ภาระอื่นอีก

6. ให้ภิกษุสำรวมอายตนะ 6 มีสัมปชัญญะ 22

7. ให้ละนิวรณ์ 5 ที่ทอนกำลังปัญญา

8. ห้เจริญฌานทั้ง 4

9. ทำวิชชา 3 เมื่อได้ฌานทั้ง 4 จึงน้อมจิตไปบรรลุซึ่ง

1) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้

2) จุตูปปาตญาณ ตาทิพย์ รู้กรรมวิบากของหมู่สัตว์

3) อาสวักขยญาณ รู้อริยสัจ 4 ทำลายอาสวะให้สิ้น

นี้จึงชื่อว่าเป็นบุคคลไม่ทำตนเองให้เดือดร้อน และไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน มีตนอันเสวยสุขในปัจจุบัน

ที่มา : http://dhamma.serichon.us




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: