วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2565

พระนิพพาน คือความเข้าไปสงบระงับแห่งสังขารทั้งหลายได้เท่านั้นที่ให้ความสุขแท้จริง...

พระนิพพาน คือความเข้าไปสงบระงับแห่งสังขารทั้งหลายได้เท่านั้นที่ให้ความสุขแท้จริง หาใช่มนุษย์สมบัติหรือสวรรค์สมบัติไม่.

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว เทวดาชั้นดาวดึงส์องค์หนึ่งมีเหล่านางอัปสรแวดล้อม เอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ อันเป็นทิพย์ ได้รับการบำรุงบำเรออยู่ในสวนนันทนวัน ในเวลานั้น ได้กล่าวคาถานี้ว่า

“เทวดาเหล่าใดยังไม่เคยเห็นสวนนันทนวันอันเป็นที่อยู่ของพวกนรเทพผู้มียศชั้นไตรทศ เทวดาเหล่านั้นยังไม่รู้จักความสุข”

ในอรรถกถาท่านอธิบายไว้ว่า

“ครั้นเมื่อมรณนิมิต ๕ อย่างเกิดขึ้นแล้ว พวกเทวดาทั้งหลายย่อมคร่ำครวญอยู่ว่า “พวกเราจักต้องละทิ้งสมบัติจุติไป” ดังนี้. 

ท้าวสักกะจอมเทพก็จะให้โอวาทว่า “ท่านทั้งหลายอย่าร่ำไห้เลย ขึ้นชื่อว่าสังขารทั้งหลายมีอันไม่แตกดับไปหามีไม่” ดังนี้ แล้วจึงให้เทวดานั้นเข้าไปสู่สวนนันทนวันนั้น ความเศร้าโศกเพราะมรณะของเทวดานั้นแม้จะถูกเทวดาอื่นประคองแขนไปก็ย่อมสงบระงับได้ เพราะเห็นสมบัติแห่งสวนนันทนวันนั้น ความปรีดาปราโมทย์เท่านั้นย่อมเกิดขึ้น

ทีนั้น เมื่อเทวดาทั้งหลายกำลังเล่นอยู่ในสวนนันทนวันนั้นนั่นแหละ (ร่างกาย) ย่อมละลายไปดุจก้อนหิมะที่ถูกเผาด้วยความร้อน และย่อมถูกขจัดไป ดุจเปลวประทีปถูกลมพัดดับไป ฉะนั้น

จริงอยู่ เมื่อเทวดานั้นจุติแล้วก็กลับอุบัติขึ้นใหม่อีก อัตภาพของเทวดาที่อุบัติขึ้นนั้นมีประมาณ ๓ คาวุต รุ่งโรจน์อยู่ราวกะแท่งทองสีแดง เทวบุตรนั้นนุ่งห่มผ้าทิพย์ประดับตกแต่งด้วยเครื่องประดับอันเป็นทิพย์ ทัดทรงด้วยดอกไม้ทิพย์ อันนางอัปสรลูบไล้อยู่ด้วยจันทน์และจุณทั้งหลายอันเป็นทิพย์ ถูกปกคลุมแล้ว บดขยี้แล้ว หุ้มห่อแล้วด้วยกามคุณ ๕ อันเป็นทิพย์ ถูกความโลภครอบงำ ไม่เห็นอยู่ซึ่งพระนิพพานอันเป็นที่สลัดออกจากโลก จึงพากันสำคัญว่า “สวนนันทวันเท่านั้น เป็นสถานที่ให้ความสุขและเป็นสถานที่ควรเพลิดเพลินยินดี”

 พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสต่อไปอีกว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเทวดาองค์หนึ่งกล่าวอย่างนี้แล้ว อีกองค์หนึ่งได้กล่าวคาถาตอบเทวดานั้นว่า

“เทวดาผู้เขลา ท่านไม่รู้จักถ้อยคำของพระอรหันต์ทั้งหลายว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความสงบระงับสังขารเหล่านั้นเป็นความสุข” ดังนี้.

เพราะฉะนั้น สังขารที่เป็นไปในภูมิ ๓ ทั้งหมด คือ กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ และอรูปาวจรภูมิ ชื่อว่าไม่เที่ยง เพราะอรรถว่ามีแล้วหามีไม่ (เกิดแล้วก็ดับไป) เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นและเสื่อมไป (มีความเกิดขึ้นและมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา) เพราะเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า “มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา” ส่วนพระนิพพาน กล่าวคือความเข้าไปสงบระงับแห่งสังขารทั้งหลายเหล่านั้นเป็นสุข นี้เป็นคำของพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้แล.

ดังนั้น บุคคลผู้โง่เขลาย่อมสำคัญสมบัติของตนว่า “เป็นของมั่นคง เป็นของไม่หวั่นไหว”  แต่บัณฑิตชนทั้งหลายย่อมทราบถึงความที่สมบัติเหล่านั้นว่า “มีการแตกสลายไปเป็นธรรมดา” ดังนี้.

สาระธรรมจากนันทสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ) วัดสามพระยา กรุงเทพฯ 26/4/65

พระพุทธรูป อุชิคุไดบุทสึ

พระพุทธรูป อุชิคุไดบุทสึ / พระใหญ่ อุชิคุ ไดบุสสึ (Ushiku Daibutsu, 牛久大仏) เป็นพระพุทธรูปปางยืนที่สูงที่สุดของประเทศญี่ปุ่น และเคยเป็นรูปปั้นที่สุงที่สุดในโลกที่ถูกบันทึกไว้โดยหนังสือบันทึกสถิติโลกกินเนสบุ๊ค(Guinness Book of word records)เมื่อปี ค.ศ. 1995 ด้วย จากความสูงถึง 120 เมตร ทำให้สามารถมองเห็นได้ตั้งแต่ใจกลางเมืองโตเกียวเลยทีเดียว แต่ไฮไลท์ของที่นี่มิได้เป็นเพียงที่สักการะพระพุทธรูปองค์ใหญ่อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถเข้าไปยังบริเวณภายในรูปปั้นและขึ้นไปยังจุดที่เป็นหอสังเกตุการ์ณในระดับความสูงที่ 85 เมตร ซึ่งจะอยู่ตรงส่วนของหน้าอกพระพุทธรูป เป็นจุดที่สามารถมองเห็น วิวในมุมด้านกว้างได้ ทั้งหมด บนชั้นนี้จะมีกระจกที่เป็นช่องหน้าต่างอยู่ด้วยกัน 4 ด้าน และมองเห็นภูเขาไฟฟูจิได้จากตรงนี้อีกด้วย






Previous Post
Next Post

0 comments: