วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2565

สงกรานต์ 2565 : ประเพณีสำคัญของสามัญชนที่หลายชาติเอเชียเฉลิมฉลอง

สงกรานต์ 2565 : ประเพณีสำคัญของสามัญชนที่หลายชาติเอเชียเฉลิมฉลอง

ประเพณีสงกรานต์ หรือการฉลองการขึ้นปีใหม่ในช่วงกลางเดือนเมษายนเป็นวัฒนธรรมร่วมกันของหลายประเทศในเอเชีย ซึ่งสะท้อนถึงการเลื่อนไหลทางวัฒนธรรมความเชื่อผ่านทั้งการเคลื่อนย้ายของคนหรือการแพร่ไปของศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาพุทธ นอกจากดินแดนอุษาคเนย์หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตอนใต้ของจีน ส่วนอินเดียใต้ก็มีการเฉลิมฉลองที่คล้ายคลึงกันด้วย

ต้นกำเนิดสงกรานต์ไทยจากอินเดียจริงหรือ

หลายเว็บในประเทศไทยอธิบายต้นกำเนิดของประเพณีสงกรานต์ว่าไทยรับมาจากเทศกาลโฮลี (Holi) อันเป็นเทศกาลสาดกันด้วยสีของอินเดีย สีดังกล่าวทำด้วยรากไม้และสมุนไพรต่าง ๆ เชื่อกันว่าจะไล่ความโชคร้ายและเสริมสร้างสุขภาพที่ดี เมื่ออุษาคเนย์รับเข้ามาก็เปลี่ยนมาเป็นการสาดน้ำแทน เนื่องด้วยประเพณีสงกรานต์นั้นอยู่ในห้วงเวลาที่ร้อนที่สุดของภูมิภาคนี้

อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์หลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้

สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ศึกษาวัฒนธรรมไทยอย่างลึกซึ้งระบุว่า ประเพณีสงกรานต์ของไทยแต่เดิมไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการสาดน้ำแม้แต่น้อย ความคิดเรื่องการสาดน้ำใส่กันในเพิ่งมีมาในยุคหลัง และการท่องเที่ยวก็ทำให้การเล่นน้ำสงกรานต์กลายเป็นที่นิยมขึ้นมาอย่างกว้างขวาง 

สุจิตต์ระบุในบทความชื่อ "สาดน้ำสงกรานต์ ไม่มีและไม่มาจากอินเดีย" ที่ติพิมพ์ลงมติชนรายวัน เมื่อ 14 เมษายน 2563 อ้างถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์เก่าที่สุดที่กล่าวถึงประเพณีสงกรานต์ซึ่งก็คือ โคลงทวาทศมาสว่า ในสมัยต้นอยุธยานั้นไม่ได้กล่าวถึงการสาดน้ำเอาไว้ ถ้าจะย้อนไปสมัยสุโขทัย ไม่พบหลักฐานการเขียนอันใดที่ระบุถึงประเพณีสงกรานต์เอาไว้ ส่วนในกาพย์ห่อโคลงของเจ้าฟ้ากุ้งซึ่งอยู่ปลายสมัยอยุธยากล่าวถึงสงกรานต์แต่ไม่มีเรื่องการสาดน้ำ

"สมัยกรุงธนบุรี-รัตนโกสินทร์ เสมียนมี กวี ร.3 แต่งนิราศเดือนโดยเริ่มต้นพรรณนาถึงสงกรานต์ ไม่มีสาดน้ำ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์เรื่องนางนพมาศ (แต่งในแผ่นดิน ร.3) พรรณนาพระราชพิธีเดือนห้า มี "ขึ้นปีใหม่" แต่ไม่มีสาดน้ำ" สุจิตต์ชี้ และสรุปว่าดังนั้นการกล่าวว่าสงกรานต์คือประเพณีที่เอามาจากเทศกาลโฮลีที่มีจุดเด่นเรื่องการสาดสีและมาแปลงเป็นสาดน้ำจึงไม่น่าจะเป็นจริง

อย่างไรก็ตาม คำว่า "สงกรานต์" นั้นเป็นการยืมมาจากอินเดียแน่ เพราะเป็นคำมาจากภาษาสันสกฤต (สํกฺรานฺติ) แปลว่า ผ่านหรือเคลื่อนย้าย หมายถึงการที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีหนึ่งเข้าสู่อีกราศีหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นทุกเดือน แต่ว่าจะมีอยู่สองเดือนที่สำคัญมากสำหรับชาวอินเดีย หนึ่งในนั้นก็คือเมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ที่เรียกว่า มหาสงกรานต์ ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามความเชื่อของทางเหนือของอินเดีย เป็นวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4 ซึ่งตรงกับช่วงเดือนมีนาคม มีการเฉลิมฉลองเทศกาลนี้กันอย่างแพร่หลายในอินเดียผู้คนจะสาดสีใส่กัน เพื่อปัดเป่าเชื้อโรคให้ออกจากร่างกาย

ในขณะที่บ้านใกล้เรือนเคียงของอินเดีย คือ เนปาล ศรีลังกา และ บังกลาเทศ ก็มีวันปีใหม่ตรงกับวันที่ 14 เมษายน แต่ไม่ได้มีการเล่นน้ำหรือสาดสีกัน ปีใหม่ของบังกลาเทศเรียกว่า Pohela Boishakh ผู้คนจะแต่งตัวออกมาเดินพาเหรด และจัดการแสดงตามที่สาธารณะ เมนูพิเศษสำหรับเทศกาล เรียกว่า ปันตาภัต เป็นข้าวสวยแช่น้ำที่เสิร์ฟพร้อมปลาทอด กินพร้อมหอมแดงและพริกเขียว ดูคล้ายข้าวแช่ของไทย

ในศรีลังกา ชาวพุทธสิงหลและชาวฮินดูทมิฬ ฉลองปีใหม่ร่วมกัน มีชื่อเรียกว่า Aluth Avurudda ผู้คนจะทำความสะอาดบ้าน จุดตะเกียงน้ำมัน และกินอาหารที่เรียกว่า Kiribath ซึ่งก็คือข้าวกะทินั่นเอง

สงกรานต์ในอุษาคเนย์

ในอุษาคเนย์ หรือเอเชียยตะวันออกเฉียงใต้ปัจจุบัน การรดหรือสาดน้ำกันและสงกรานต์มีคู่กันในประเทศเพื่อนบ้านของไทย ได้แก่  ​ลาว  ​เมียนมา  ​กัมพูชา  ​ที่ลาว เรียก สงกาน ที่เมียนมา ใช้ชื่อ Thingyan  ส่วน ที่กัมพูชา เรียก ซ็องกรานต์  ประเพณีปฏิบัติก็คล้าย ๆ กัน คือการรดน้ำประแป้งให้กันเพื่อชำระล้างสิ่งไม่ดีให้หมดไปกับปีเก่า มีการละเล่นพื้นบ้าน รดน้ำดำหัวขอพรจากผู้ใหญ่ ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูป

ในแต่ละที่ก็จะมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง อย่างเช่นในชาวเมียนมาก็จะทำอาหารเฉพาะสำหรับเทศกาลเรียกว่า ม่งโล่งเหย่ป่อ ซึ่งเป็นข้าวเหนียวปั้นไส้น้ำตาล ส่วนที่กัมพูชามีข้อห้ามทำงานใด ๆ ในช่วงปีใหม่ 

คนไทหรือคนไตในมณฑลยูนนานหรือสิบสองปันนาก็ฉลองปีใหม่ในชื่อ พัวสุ่ยเจี๋ย นอกจากจะมีกิจกรรมเหมือนเราแล้ว เช่นการเล่นน้ำสงกรานต์ ทำบุญแล้วก็ยังมีการแข่งเรือมังกรด้วย

ส่วนในไทยนั้น เดิมทีการกำหนดวันสงกรานต์ใช้วิธีนับทางจันทรคติ ซึ่งวันที่ในแต่ละปีไม่ตรงกัน ในปี 2432 ซึ่งอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการกำหนดให้วันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งเป็นการนับทางสุริยคติ ต่อมาในปี 2483 รัฐบาลไทยในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ประกาศให้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามแบบสากลนิยม โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2484 เป็นต้นมา และกำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน มีชื่อเรียกว่า วันมหาสงกรานต์ วันเนา และวันเถลิงศก ตามลำดับ

สงกรานต์คือประเพณีของสามัญชน

สมฤทธิ์ ลือชา ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อุษาคเนย์กล่าวกับบีบีซีไทยว่าสิ่งที่น่าสนใจมากของสงกรานต์ก็คือ สงกรานต์ในทุกประเทศเป็นการประเพณีของราษฎรที่สำคัญที่สุด

"เทศกาลประเพณีของประเทศนั้นมีสองชุด คือ ประเพณีหลวง ซึ่งทางการกำหนดและผู้จัดขึ้น และประเพณีของราษฎร สงกรานต์ในทุกประเทศเป็นประเพณีของชาวบ้าน ทุกคนมีหน้าที่ที่จะร่วมฉลองด้วยกันทั้งสิ้น ไม่มีใครเป็นผู้ชม ตอนผมเป็นเด็ก หน้าที่ของผมคือทำความสะอาดบ้าน พอถึงวันเน่า (วันเนาของภาคเหนือ) ห้ามพูดหยาบคาย เด็กต้องมาดำหัวผู้ใหญ่ ผุ้ใหญ่ต้องมาให้พร" สมฤทธิ์กล่าว

เขายังเสริมอีกว่าในประเพณีสงกรานต์ของหลาย ๆ ยังได้เห็นการสืบทอดความเชื่อที่คู่ขนานกันมาระหว่างการถือผีกับพุทธอย่างชัดเจน ยกตัวอย่าง ที่หลวงพระบาง มีการเฉลิมฉลองอยู่ถึง 5-6 วัน ที่นั่นเขาจะมีพิธีแห่ปู่เยอย่าเยอ ที่แทนผีบรรพชนมาทำพิธีสรงน้ำพระบาง "หมายถึงเอาผีมาไหว้พุทธนั่นเอง"

สมฤทธิ์เชื่อว่าการสาดน้ำกันในช่วงสงกรานต์นั้นเป็นวัฒนธรรมร่วมกันของอุษาคเนย์ด้วยเช่นกัน เขาสันนิษฐานว่าอาจจะเกิดมาทีหลังก็ได้ โดยมีความหมายถึงการชำระล้างก่อนเปลี่ยนผ่านจากปีเก่าไปสู่ปีใหม่ "ที่ผมไปเห็นมา ที่พม่าโดยเฉพาะย่างกุ้งกับมัณฑเลย์ที่มีการสาดน้ำกันจริงจัง เขาขายตั๋วเลยนะ เราจะได้ไปใช้สายที่ต่อจากท่อน้ำมาไว้ฉีดคนอื่นที่ผ่านไปมา แถมมีเพลงมีอาหารขายด้วย เป็นความสนุกสนานมาก เพราะผมว่าสงกรานต์คือเทศกาลแห่งความร่าเริงสนุกสนานของสามัญชน และความรู้สึกนี้ส่งผ่านไปทั่วทั้งภูมิภาค" 

การรำลึกถึงบรรพบุรุษ

แม้ยังไม่เคยพบว่าในจารึกของสุโขทัยกล่าวถึงงานสงกรานต์ไว้ในที่ใดเลย แต่สมชายเดือนเพ็ญ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์สุโขทัยและสยามก็เชื่อว่าประเพณีสงกรานต์นี้สืบทอดกันต่อมาเนิ่นนานแล้ว เพราะสุโขทัยคือ "​ซากเขมรเดนมอญ"ตามคำกล่าวของสมชาย ซึ่งหมายความว่าสืบทอดวัฒนธรรมความเชื่อมาจากเขมรและมอญที่เป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองก่อนสุโขทัย และทั้งสองชนชาติก็มีประเพณีสงกรานต์ที่สืบทอดกันมาอย่างเหนียวแน่น นอกจากนี้เมื่ออยุธยาปกครองสุโขทัย สุโขทัยก็รับเอาวัฒนธรรมอยุธยามาใช้ด้วย

งานสงกรานต์ในความเห็นสมชายนั้นผูกพันกับการรำลึกถึงบรรพบุรุษอย่างเหนียวแน่นในทุกภูมิภาคของไทย รวมทั้งคนไทที่อยู่ในประเทศอื่น ๆ ด้วย

เขายกตัวอย่างว่าคนที่พูดสำเนียงสุโขทัยจะทำขนมที่ไว้เฉลิมฉลองสงกรานต์ คือกาละแม ข้าวเหนียวแดงใส่ถั่วลิสงคั่ว ข้าวเหนียวแก้ว ข้าวแตน นางเล็ด "ทุกครัวเรือนต้องทำแล้วเอาใส่ชะลอมไปพร้อมเกลือเม็ดพริกแห้งกระเทียมหอมพริกไทยและข้าวสารไปถวายวัด เพื่อไปเป็นเสบียงส่งไปให้ผีบรรพบุรุษ" เขากล่าว "ถ้าเราไม่ทำ ก็หมายความว่าบุพการีชองเราจะอดอยากในปรโลก"

นอกจากนี้ก็จะมีประเพณี "อาบน้ำคนแก่" ที่คล้ายกับ การรดน้ำดำหัวของคนปัจจุบัน ต่างแต่ว่าคือการเอาน้ำเทราดตัวเลย จากนั้นญาติผู้ใหญ่จะไปอาบน้ำเปลี่ยนมาใส่ชุดผ้าไหมที่ลูกหลานเตรียมไปให้และมาให้พร "แม่ผมเคยไปหาบน้ำมาจากแม่น้ำยมเอามาให้คุณตาอาบให้กับญาติผู้ใหญ่ที่มีอายุมากที่สุดในบ้านด้วย

ในบางที่จะมีการนำเอากระดูกของบุพการีมาเผาใหม่พร้อมกับทำบุญไปด้วย หรือบางที่ก็มีแค่การสวดบังสุกุล ซึ่งบ้านของสมชายก็ยังทำพิธีเช่นนี้อยู่ "วันที่ 14 นี่ผมบอกลูก ๆ ไว้เลยนะว่าห้ามหายห้ามป่วยต้องมางานบังสุกุลบรรพบุรุษที่จัดทุกปี" สมชายกล่าวกับบีบีซีไทย

ภายหลังกระทรวงวัฒนธรรมก็ได้ประกาศให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติและวันที่ 14 เมษายนเป็นวันครอบครัว อันเป็นแนวคิดอยู่บนพื้นฐานของประเพณีที่สืบมาหลายร้อยปีแล้ว

สมชายเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงทางสังคมก็คงจะทำให้ประเพณีสงกรานต์เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและความต้องการของผู้คน แต่ตัวแนวคิดหลักเรื่องการเฉลิมฉลองการเปลี่ยนผ่านของปี ความรื่นเริงและการระลึกถึงบรรพบุรุษและครอบครัวน่าจะสืบทอดต่อไปอีกเนิ่นนาน 

Credit: https://www.bbc.com/thai/thailand-61048859

ช่วง 35 วันแรกหลังการตรัสรู้






Previous Post
Next Post

0 comments: