วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2565

บุคคลหาได้ยาก (๕)

บุคคลหาได้ยาก (๕)

คุณของพระรัตนตรัยที่นำมาแสดงไว้ในตอนที่แล้ว เรียกตามภาษาปากที่คุ้นกันก็คือ “อิติปิโส” ซึ่งชาวพุทธในเมืองไทยเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้วย่อม “สวด” ได้กันทุกคน หลายคนสวดได้ตั้งแต่เป็นเด็ก แม้แต่คนไม่รู้หนังสือเลยก็สวดได้ 

ที่ต้องมีคำว่า “เมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว” ต่อท้ายคำว่า “ชาวพุทธในเมืองไทย” ก็เพราะว่าทุกวันนี้ชาวพุทธในเมืองไทยที่สวดอิติปิโสไม่ได้มีมากขึ้น และนับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ  ภาพที่เห็นจนคุ้นตาทั่วไปก็คือ คนกางหนังสืออ่านแล้วเรียกกิริยาเช่นนั้นว่า “สวดมนต์”   กิจที่เรียกกันว่า “สวดมนต์” นั้น เมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้วทุกคนสวดจากความทรงจำ คือจำบทสวดได้ ไม่ต้องกางหนังสือ 

ไม่น่าเชื่อว่า เวลาผ่านไปแค่ครึ่งศตวรรษ ความอุตสาหะของชาวพุทธที่จะท่องจำลดลงไปเกือบหมด  ศักยภาพที่จะจำได้ยังมีอยู่ครบถ้วน ไม่ได้เสื่อมลงไปเลย ที่เสื่อมลงไปคือฉันทะอุตสาหะที่จะท่องจำ

ขั้นตอนการศึกษาคุณของพระรัตนตรัยเริ่มด้วยการฟัง เนื่องจากการถ่ายทอดเรื่องราวในสมัยโบราณใช้วิธีพูดให้ฟังเป็นหลัก คำว่า “พหูสูต” ที่ใช้เรียกคนมีความรู้มากหรือผู้คงแก่เรียน ก็แปลตามตัวว่า “ฟังมาก” สมัยนี้อาจเริ่มด้วยการอ่านก็ได้ จุดประสงค์ก็เหมือนกัน คือถ่ายทอดข้อมูลเข้ามาสู่การรับรู้ของเรา

ผู้ที่ยังไม่เคยรู้จักคุณของพระรัตนตรัยมาก่อนเลย ก็เริ่มด้วยการฟังหรืออ่าน  ฟังหรืออ่านแล้ว ทำอย่างไรต่อ?

ขั้นตอนที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการของการศึกษาเรียนรู้ ท่านแสดงไว้เป็นดังนี้ -

๑ พหุสสุตะ  ฟังมาก+อ่านมาก

๒ ธตะ จำได้   ไม่ใช่พอเสียงผ่านหูหนังสือผ่าตาก็ลืมหมด หากแต่ยังจำไว้ได้ด้วย

๓ วจสาปริจิตะ พูดออกมาคล่องปาก  ไม่ใช่จำได้อย่างเดียว พูดออกบอกเป็นสวดได้ท่องได้ด้วย

๔ มนสานุเปกขิตะ ขบคิดพิจารณาความหมาย  ไม่ใช่จำได้พูดคล่องท่องเก่งอย่างเดียว แต่รู้ความหมายด้วย

๕ ทิฏฐิยาสุปฏิวิทธะ  เข้าใจเรื่องที่ฟังนั้นทะลุปรุโปร่ง

ขั้น ๑ เป็นจุดเริ่มต้น  ขั้น ๕ เป็นผลสำเร็จ  ขั้น ๒-๓-๔ เป็นกระบวนการที่ต้องปฏิบัติ

จะเห็นได้ว่าการศึกษาคุณของพระรัตนตรัยไม่ได้จบแต่ฟังหรืออ่านหรือสวด แต่มีกระบวนการต่อไปอีก จนว่าจะเกิดผลเป็นความรู้ความเข้าใจทะลุปรุโปร่ง

คนสมัยนี้ที่เรียกร้องให้พระสวดเป็นภาษาไทยหรือสวดมนต์แปล โดยอ้างว่าสวดภาษาบาลีฟังไม่รู้เรื่องนั้น น่าจะต้องคิดใหม่ ถ้าต้องการจะรู้เรื่องพร้อมไปกับที่ฟัง ก็ต้องศึกษาหาความรู้มาก่อน หรือไม่ก็-เมื่อฟังแล้วก็เอาไปดำเนินการตามกระบวนการ ๒-๓-๔ จนเกิดผลเป็นความเข้าใจทะลุปรุโปร่ง ซึ่งการดำเนินการตามกระบวนดังกล่าวนี้ไม่จำเป็นจะต้องทำทันทีพร้อมไปกับที่หูได้ยิน

พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ท่านแสดงไว้เป็นอเนกปริยาย ถ้าจะว่าพระไตรปิฎกแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์นั่นแหละคือที่รวมแห่งคุณพระรัตนตรัย ดังนี้ ก็นับว่าถูกต้องที่สุด

เราคงไม่สามารถอ่านพระไตรปิฎกให้จบและเข้าใจได้เจนจบหมดทุกเล่ม นั่นคือในชั่วชีวิตเราคงไม่สามารถศึกษาเรียนรู้คุณพระรัตนตรัยจากพระไตรปิฎกให้ครบถ้วนได้

แล้วจะทำอย่างไร?

ข้อนี้ควรน้อมคารวะภูมิปัญญาของบูรพาจารย์ที่ท่านยกบทสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยจากพระไตรปิฎกซึ่งประมวลคุณไว้อย่างย่อแต่ครอบคลุมครบถ้วนมาวางไว้เป็นแบบแผนให้เราจดจำสวดสาธยายกันในชีวิตประจำวันจนซึมซับแพร่หลายไปในหมู่คนไทย

ทำวัตรเช้า-เย็นของชาววัด แทรก “อิติปิโส” ไว้ตลอดทาง  ชาวบ้านสวดมนต์ก่อนนอน สวด “อิติปิโส” บทเดียวถือว่าคุ้มได้หมด  คับขันจวนเจียน นึกอะไรไม่ทัน ยังสอนให้ภาวนา พุทโธ ธัมโม สังโฆ  จนกระทั่งคำว่า พุทโธ กลายมาเป็นคำอุทาน “พุทโธ่” ในภาษาไทย  ง่วงจนลืมตาไม่ขึ้น จับเอามาแค่คำต้น ๓ คำ “อิสวาสุ” แล้วนอนก็เอา (“อิสวาสุ” นักเล่นคาถาเรียก “หัวใจพระรัตนตรัย”)

“พุ-ธะ-สัง-มิ” - นี่ก็เกิดจากไม่มีเวลา (หรือขี้เกียจ!) ที่จะสวดเต็ม พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ, ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ, สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ ก็เลยรวบหัวรวบหางเอามาแค่ “พุธะสังมิ” (“พุธะสังมิ” นักเล่นคาถาเรียก “หัวใจไตรสรณคมน์”)

“นะโม พุทธายะ” หรือ “นะโม พุทธัสสะ” (แปลว่า ขอนอบน้อมพระพุทธเจ้า) นี่ก็เป็นการระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ท่านว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ต่างกันแต่ถ้อยคำภาษา แต่เนื้อแท้เป็นอันเดียวกัน เอ่ยถึงอย่างเดียวเท่ากับครบทั้ง ๓ เป็นคำพูดติดปากจนถือว่าเป็นหัวใจของนักเล่นคาถา

“หัวใจ” หรือคาถาต่างๆ นั้นออกไปจากพระรัตนตรัยทั้งสิ้น คนไทยชอบเล่นคาถา ท่านก็ถอดหัวใจพระรัตนตรัยออกมาเป็นคาถาอาคมต่างๆ เป็นการฝากพระรัตนตรัยไว้กับคนไทยอย่างแนบเนียนที่สุด แม้ว่าวันนี้จะยังเป็นไสยศาสตร์ แต่วันหนึ่งเมื่ออินทรีย์แก่กล้าสติปัญญาเข้มแข็งขึ้นก็ย่อมสามารถถอดกลับคืนมาเป็น “พุทธศาสตร์” ได้ดังเดิม

ใกล้เข้ามาอีก ในยุคสมัยที่เมืองไทยตั้งโรงเรียนขึ้นสอนเด็กไทยแล้ว น่านับถือผู้บริหารการศึกษาของเราที่กำหนดกิจกรรมหน้าเสาธงทุกเช้าก่อนเข้าห้องเรียนให้นักเรียนไหว้พระ หรือ “สวดมนต์ย่อ” 

อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา,  พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ.

ส๎วากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม,  ธัมมัง นะมัสสามิ.

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ,  สังฆัง นะมามิ.

ขอบันทึกไว้เป็นบุญแห่งชีวิตว่า สมัยอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนวัดหนองกระทุ่ม (เกิดเปี่ยมประชานุกูล) ตำบลหนองกระทุ่ม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เด็กชายย้อย แสงสินชัย ได้รับมอบหมายให้เป็นคนนำสวดมนต์หน้าเสาธงทุกเช้า

ทุกวันนี้หลายโรงเรียนพอสวดมนต์เสร็จก็ฝึกเด็กให้นั่งสมาธิชั่วเวลาสั้นๆ ด้วย บางโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในวัดหรือใกล้วัดก็นิมนต์พระที่พอมีความสามารถในการพูดมากล่าวธรรมกถาสั้นๆ เหล่านี้เป็นกิจกรรมที่ควรแก่การอนุโมทนาอย่างยิ่ง

สวดมนต์หน้าเสาธง ก็คือการฝึกเด็กไทยให้รู้จักระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยนั่นเอง เป็นการปูพื้นปลูกฝังไปตั้งแต่เล็ก เป็นพื้นฐานที่จะใช้ศึกษาเรียนรู้คุณพระรัตนตรัยให้กว้างขวางขึ้นในโอกาสต่อไป และจะติดอยู่ในชีวิตจิตใจไปจนตาย นี่คือความฉลาดหรือ “กุศลจิต” ของผู้บริหารการศึกษาในสมัยก่อน

ปัญหาน่าคิดก็คือ ถ้าผู้บริหารการศึกษาสมัยนี้หรือสมัยหน้าขาด “กุศลจิต” แบบนี้ หรือถ้าผู้มีอำนาจในบ้านเมืองไม่ได้เป็นสัมมาทิฐิแบบนี้ กิจกรรมสวดมนต์+นั่งสมาธิ+ฟังธรรมหน้าเสาธงก่อนเข้าห้องเรียนจะยังมียั่งยืนอยู่ต่อไปได้นานแค่ไหน

ถ้าวันหนึ่ง ผู้มีอิทธิพลในหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารการศึกษาของชาติออกคำสั่ง หรือ “ขอความร่วมมือ” ให้งดการสวดมนต์ งดการนั่งสมาธิ งดการนิมนต์พระกล่าวธรรมกถา คืองดกิจกรรมทุกอย่างที่จะเป็นการปลูกฝังส่งเสริมให้เด็กไทยระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย --

เรา-ในฐานะพุทธศาสนิกชนซึ่งมีหน้าที่จะต้องกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธศาสนา ตามแนวคำสอนในหัวข้อ “บุคคลหาได้ยาก” จะทำประการใด?

ถามทำไม แค่เอาตัวให้รอดก็แย่อยู่แล้ว  ไม่ใช่หน้าที่ของข้าพเจ้า  บ้านเมืองไม่ใช่ของเราคนเดียว  ศาสนาไม่ใช่ของกูคนเดียว  ทุกอย่างเป็นอนิจจัง  พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ปล่อยวาง

ตัวเลือกมีเยอะนะครับ  มีตัวไหนบ้างที่จะทำให้พระพุทธศาสนาอยู่รอดและเจริญก้าวหน้ายั่งยืนต่อไปในแผ่นดินไทยของเรา

ถ้ายังไม่มี ช่วยเติมเข้าไปได้เลยนะครับ

(ยังมีต่อ)

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๘ มิถุนายน ๒๕๖๕ , ๑๗:๔๕

บุคคลหาได้ยาก (๑) , บุคคลหาได้ยาก (๒) , บุคคลหาได้ยาก (๓) , บุคคลหาได้ยาก (๔) , บุคคลหาได้ยาก (๕) บุคคลหาได้ยาก (๖) , บุคคลหาได้ยาก (๗) , บุคคลหาได้ยาก (๘) , บุคคลหาได้ยาก (๙) , บุคคลหาได้ยาก (๑๐)



Previous Post
Next Post

0 comments: