วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2565

บุคคลหาได้ยาก (๗)

บุคคลหาได้ยาก (๗)

บทความตอนนี้ก็ยังอยู่ในเรื่องบุคคลหาได้ยากคู่ที่ ๔ คือ พระพุทธศาสนากับพุทธศาสนิกชน

พระพุทธศาสนาคือพระรัตนตรัย ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ได้พูดถึงรัตนะที่หนึ่ง คือพระพุทธเจ้าในฐานะตัวบุคคลไปแล้ว ต่อไปจะพูดถึงพระธรรมในฐานะเป็นตัวคัมภีร์

พระธรรมในฐานะเป็นคุณธรรมคือเป็นหลักคำสอน ท่านแสดงคุณไว้แล้วในบทสรรเสริญพระธรรมคุณที่ขึ้นต้นว่า ส๎วากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ส่วนพระธรรมในฐานะเป็นตัวคัมภีร์ที่จะพูดต่อไปนี้ หมายถึงต้นฉบับ หรือ book หรือ text ที่บันทึกพระธรรม ชี้เฉพาะก็คือ ต้นฉบับพระไตรปิฎก ตั้งเป็นคำถามว่า ต้นฉบับพระไตรปิฎกที่เรามีอยู่นี้มีกำเนิดมาอย่างไร และมามีอยู่ในบ้านเมืองของเราได้อย่างไร

พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนพระธรรมด้วยการตรัสออกมาเป็นคำพูด ไม่ใช่เขียนออกมาเป็นตัวหนังสือ

สมัยนั้น มนุษย์มีตัวหนังสือที่ใช้บันทึกคำพูดกันแล้ว แต่การถ่ายทอดวิชาความรู้รวมทั้งหลักคำสอนในศาสนานิยมใช้วิธีพูดให้ฟังมากกว่าวิธีอื่น เพราะทำได้สะดวก รวดเร็ว กว้างขวาง แม้คนอ่านหนังสือไม่ออกก็สามารถฟังธรรมเข้าใจได้

เมื่อตรัสสอนเรื่องใด ก็มีผู้ฟังเรื่องนั้นและจำถ้อยคำที่ตรัสสอนได้ นี่คือต้นกำเนิดพระบาลีพระไตรปิฎก   คำสอนเรื่องใด หากมีคำที่ทรงอธิบายไขความไว้ ก็มีผู้จำคำอธิบายควบคู่กันไปเช่นเดียวกัน นี่คือต้นกำเนิดอรรถกถา  

คนหลายคนที่ได้ฟังธรรมเรื่องเดียวกัน เมื่อยกพระธรรมเรื่องนั้นๆ ขึ้นมาสนทนากัน ก็จะกล่าวถึงพระธรรมเรื่องนั้นด้วยถ้อยคำที่ตรงกัน นี่คือต้นกำเนิดของสังคีติหรือการสวดมนต์ ซึ่งมีผลเท่ากับเป็นการทบทวนตรวจสอบพระธรรมเรื่องนั้นๆ ให้ถูกต้องตรงกันอยู่เสมอ

ด้วยวิธีการดังกล่าวมานี้ พระธรรมที่ตรัสสอน แม้ไม่ได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็ดำรงอยู่ได้มั่นคงด้วยวิธีจำทรงของพุทธบริษัท  เมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว พระสงฆ์สาวกได้ประชุมกันรวบรวมคำสอนทั้งหมดที่มีผู้ทรงจำไว้ได้ จัดระบบเป็นหมวดหมู่ แล้วแบ่งหน้าที่รับผิดชอบในการทรงจำ สั่งสอน ถ่ายทอดสืบต่อกันมา

การแบ่งหน้าที่รับผิดชอบในการทรงจำนั้นมีการแบ่งกันเป็นกลุ่ม เช่นกลุ่มนี้รับหน้าที่ทรงจำทีฆนิกาย กลุ่มนี้รับหน้าที่ทรงจำมัชฌิมนิกาย กลุ่มนี้รับหน้าที่ทรงจำสังยุตนิกาย ดังนี้เป็นต้น จึงเกิดเป็นกลุ่มที่ชำนาญเฉพาะนิกาย แต่ก็คงมีที่เป็นกลุ่มเดียวแต่ชำนาญ ๒ นิกาย หรือหลายนิกาย และตัวบุคคลที่ทรงจำพระไตรปิฎกไว้ได้ครบถ้วนก็คงมีอยู่ทั่วไป

ถ้าสงสัยหรือไม่เชื่อว่าสมองมนุษย์จะสามารถจำพระไตรปิฎกที่มีปริมาณข้อความยืดยาวมหาศาลได้อย่างไร ก็ขอให้ลองเทียบดูกับความจริงเรื่องสวดมนต์ที่เกิดขึ้นในวันนี้

คนไทยวันนี้จะสวดมนต์ ต้องกางหนังสืออ่านจึงจะสวดได้ แต่คนไทยเมื่อครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาสวดมนต์จากบทที่ท่องจำได้จบทั้งเล่ม ไม่ต้องกางหนังสือ นี่ห่างกันเพียง ๕๐ ปี

ถ้าถอยขึ้นไป ๒๖๐๐ ปีถึงสมัยพุทธกาล ก็คงพออนุมานได้ว่า สมัยโน้นซึ่ง “ความจำ” เป็นเรื่องจำเป็นมากที่สุดในการถ่ายทอดเรียนรู้หลักคำสอน ความอุตสาหะในการท่องจำก็จะยิ่งมีมากขึ้นเป็นทวีคูณ 

คำว่า “ติปิฎกธร” (แปลว่า “ผู้ทรงพระไตรปิฎก”) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในสร้อยนามสมณศักดิ์พระราชาคณะของไทย แม้จะเข้าใจกันว่าเป็นเพียงสำนวนภาษาที่แสดงการยกย่อง แต่คำนี้ก็ส่องความว่าบุคคลที่จำทรงพระไตรปิฎกไว้ได้ครบถ้วนมีตัวตนอยู่จริง จึงมีคำเช่นนี้เกิดขึ้นได้

เวลาล่วงไปจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๕ คือ พ.ศ.๔๐๐+ จึงได้มีการประชุมสงฆ์จารึกพระไตรปิฎกที่ทรงจำกันมานั้นเป็นลายลักษณ์อักษร เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ลังกาทวีปหรือประเทศศรีลังกา เป็นอันว่าต้นฉบับพระไตรปิฎกเกิดมีขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศศรีลังกา

ภาษาต้นฉบับพระไตรปิฎก คือภาษาบาลี

อักษรที่ใช้จารึก คืออักษรสิงหล เนื่องจากภาษาบาลีไม่มีอักษรเฉพาะตัว ชาติใดเรียนรู้ภาษาบาลีก็ใช้อักษรของชาตินั้น   วัสดุที่ใช้รองรับการจารึก คือใบลาน ซึ่งน่าจะได้มีการพิสูจน์กันแล้วว่าทนทานและง่ายต่อการใช้งานกว่าวัสดุอย่างอื่น   เมื่อพระพุทธศาสนาเผยแผ่แพร่หลายไปยังนานาประเทศ ก็มีการคัดลอกต้นฉบับพระไตรปิฎกจากแหล่งกำเนิดไปยังประเทศนั้นๆ โดยใช้อักษรของชาตินั้นๆ แต่ภาษาคงเป็นภาษาบาลี

ไทยเราก็คัดลอกพระไตรปิฎกมาไว้ในเมืองไทยในยุคสมัยที่นิยมใช้อักษรขอมพราะฉะนั้น ต้นฉบับพระไตรปิฎกในเมืองไทยจึงเป็นใบลานอักษรขอมแทบทั้งหมด มีที่เป็นอักษรธรรมของอีสานและอักษรล้านนาของเมืองเหนือบ้าง แต่ไม่มากเท่าอักษรขอม

ต่อจากนั้นก็เกิดค่านิยมบุญ คือสร้างพระไตรปิฎกไว้ในพระศาสนา โดยผู้มีศรัทธาออกทุนทรัพย์ให้คัดลอกพระไตรปิฎกจากใบลานต้นฉบับลงบนใบลานชุดใหม่ทำเป็นคัมภีร์ถวายไว้ตามวัดวาอารามต่างๆ ให้พระสงฆ์ใช้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรม นับถือกันว่าเป็นการสืบอายุพระศาสนา ได้กุศลแรง 

เทคนิคการทำใบลาน เทคนิคการจารใบลาน ศิลปะการตกแต่งใบลานที่จารสำเร็จแล้ว ศิลปะการทำไม้ประกับคัมภีร์ใบลาน ทั้งที่เป็นไม้ธรรมดาและที่เป็นงาช้างแกะสลักลวดลายอย่างวิจิตรสวยงาม ศิลปะการทอผ้าสำหรับห่อคัมภีร์ใบลานที่มีลายหลากหลายอลังการ เทคนิคและศิลปะเหล่านี้ก็เกิดมีขึ้นตามมา

หอสมุดแห่งชาติของเราเป็นแหล่งรวบรวมเก็บรักษาคัมภีร์ใบลานไว้ได้มากมายและครบถ้วนที่สุด ผมโชคดีอย่างยิ่งที่เคยปฏิบัติงานที่หอสมุดแห่งชาติ แผนกงานบริการหนังสือภาษาโบราณ (ชื่อแผนกงานในสมัยนั้น) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาคัมภีร์ใบลานเหล่านี้โดยตรง เป็นเวลานานพอสมควร จึงมีโอกาสรู้เห็นเรื่องที่เล่ามานี้ด้วยตัวเอง 

ถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จึงเริ่มมีการปริวรรตพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรขอมเป็นอักษรไทยและพิมพ์เป็นเล่มกระดาษ การ “สร้าง” พระไตรปิฎกที่เป็นใบลานอักษรขอมจึงเปลี่ยนทิศทางมาเป็นพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทยที่เป็นเล่มกระดาษแพร่หลายมาจนถึงทุกวันนี้

เรื่องพระธรรมในฐานะเป็นตัวคัมภีร์ที่เล่ามานี้ มีแง่คิดตรงที่ว่า ปัจจุบันมีค่านิยมศึกษาเรียนรู้ตัวคัมภีร์ในฐานะศิลปวัตถุหรือวัตถุโบราณ เช่น ศึกษาลักษณะอักษรที่ใช้จารึก อายุของใบลาน ศิลปะและคุณค่าของผ้าห่อคัมภีร์เป็นต้น โดยที่ไม่ได้สนใจถึงเนื้อหาข้อความที่เป็นตัวพระธรรมแท้ๆ

เทียบได้กับนักโบราณคดีที่ศึกษาลักษณะของพระพุทธรูปสมัยต่างๆ ที่เรียกว่าพุทธศิลป์ หรือเศรษฐีนักสะสมของเก่าที่ชอบสะสมพระพุทธรูป (ที่พระพุทธรูปสมัยโบราณหายจากแหล่งประดิษฐานเดิมไปอยู่ตามคฤหาสน์ของท่านเหล่านั้น) ท่านเหล่านี้ล้วนมีความรู้เชี่ยวชาญในด้านพุทธศิลป์ แต่ไม่รู้หรือไม่ได้สนใจพระพุทธคุณอันเป็นตัวสาระที่ผู้สร้างพระพุทธรูปประสงค์จะให้สื่อถึงแต่ประการใดทั้งสิ้น

ความรู้เรื่องตัวอักษรที่ใช้จารึกคัมภีร์และวัสดุที่ประกอบกันขึ้นเป็นตัวคัมภีร์พระธรรม ก็เป็นเรื่องดีและมีประโยชน์ ไม่ใช่ไม่มี ความรู้เหล่านั้นควรรู้และควรแก่การอนุโมทนา แต่ประโยชน์อันเป็นสาระแท้ๆ ของคัมภีร์พระธรรมอยู่ที่ข้อความในตัวคัมภีร์ 

ข้อความอันเป็นตัวพระธรรมนั้น ไม่ว่าจะจารึกบนวัสดุที่เลิศค่าหรือพิมพ์บนกระดาษราคาถูก ย่อมมีค่าเท่ากัน 

“ค่าเท่ากัน” ที่ว่านี้เกิดจากการนำเอาหลักธรรมนั้นๆ ไปประพฤติปฏิบัติจนเกิดมรรคผลขึ้นได้จริงในชีวิตของแต่ละคน 

พระธรรมที่จารึกบนวัสดุเลิศค่าแต่ไม่มีใครนำไปปฏิบัติ ก็ไม่มีค่าเมื่อเทียบกับพระธรรมที่พิมพ์บนกระดาษราคาถูกแต่มีผู้นำไปปฏิบัติจนเกิดผล    ตัวพระธรรมที่เป็นพระไตรปิฎกทั้งที่เป็นต้นฉบับภาษาบาลีอักษรชาติต่างๆ และที่แปลเป็นภาษาของชาติต่างๆ ณ บัดนี้มีแพร่หลายพร้อมบริบูรณ์และเข้าถึงได้แสนง่ายทุกหนทุกแห่ง   ยังขาดอยู่แต่คนที่จะเข้าไปศึกษาเรียนรู้และนำไปปฏิบัติเท่านั้น

(ยังมีต่อ)

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๕ ,  ๒๐:๒๖

บุคคลหาได้ยาก (๑) , บุคคลหาได้ยาก (๒) , บุคคลหาได้ยาก (๓) , บุคคลหาได้ยาก (๔) , บุคคลหาได้ยาก (๕) บุคคลหาได้ยาก (๖) , บุคคลหาได้ยาก (๗) , บุคคลหาได้ยาก (๘) , บุคคลหาได้ยาก (๙) , บุคคลหาได้ยาก (๑๐)





Previous Post
Next Post

0 comments: