วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2565

บุคคลหาได้ยาก (๑)

บุคคลหาได้ยาก (๑)

หนังสือ “นวโกวาท” หลักสูตรนักธรรมชั้นตรี ส่วนที่ว่าด้วยธรรมวิภาค มีธรรมะหัวข้อหนึ่งที่นักเรียนนักธรรมชั้นตรีท่องจำกันได้ดี นั่นคือ 

บุคคลหาได้ยาก ๒ อย่าง

๑. บุพการี  บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน

๒. กตัญญูกตเวที  บุคคลผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้วและตอบแทน

พระธรรมปัญญาภรณ์ (ไพบูลย์ ชินวํโส ป.ธ.๗) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี กล่าวสัมโมทนียกถากับญาติโยมที่มาทำบุญในวันพระหนึ่ง ท่านว่า บุพการีกับกตัญญูกตเวทีมี ๔ คู่ คือ -

๑ บิดามารดากับบุตรธิดา

๒ ครูบาอาจารย์กับศิษยานุศิษย์

๓ พระมหากษัตริย์กับพสกนิกร

๔ พระพุทธเจ้ากับพุทธศาสนิกชน

ผมยังไม่ได้สืบค้นว่า ที่จัดเป็นคู่กัน ๔ คู่อย่างนี้ มีว่าไว้ในตำราเล่มไหน หรือว่าเป็นแนวคิดของใคร แต่พิจารณาจาก ๒ คู่หลังแล้ว น่าจะจัดตามแนวค่านิยมของสังคมไทย เพราะเมืองไทยมีสถาบันพระมหากษัตริย์ และคนไทยนับถือพระพุทธศาสนาเป็นพื้น 

ส่วน ๒ คู่แรกนั้นถือได้ว่าเป็นสากล เพราะในหลักธรรมเรื่องทิศ ๖ มีกล่าวถึงหน้าที่ระหว่างบิดามารดากับบุตรธิดา และระหว่างครูบาอาจารย์กับศิษยานุศิษย์ แต่ไม่ได้กล่าวถึงหน้าที่ระหว่างพระมหากษัตริย์กับพสกนิกร และระหว่างพระพุทธเจ้ากับพุทธศาสนิกชน

บิดามารดาและครูบาอาจารย์อยู่ในฐานะเป็นบุพการี

บุตรธิดาและศิษยานุศิษย์อยู่ในฐานะเป็นกตัญญูกตเวที

“บุพการี”  แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำก่อน” คือ บิดามารดาทำประโยชน์ให้แก่บุตรธิดาก่อน ครูบาอาจารย์ทำประโยชน์ให้แก่ศิษยานุศิษย์ก่อน

บิดามารดาทำประโยชน์อะไร ครูบาอาจารย์ทำประโยชน์อะไร หลักธรรมเรื่องทิศ ๖ แจกแจงไว้ละเอียด การทำประโยชน์เช่นนี้สังคมไทยยอมรับกันว่า บิดามารดามีบุญคุณ ครูบาอาจารย์มีบุญคุณ

ส่วน “กตัญญูกตเวที” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้คุณและประกาศคุณ” เรามักเข้าใจกันว่า “กตเวที” หมายถึง “ตอบแทนคุณ” แต่ตามศัพท์ท่านไม่ได้หมายถึง “ตอบแทนคุณ” ท่านบอกเพียงว่า “ประกาศคุณ” คือพูดหรือทำ หรือเรียกรวมๆ ว่า “แสดงออก” ให้คนอื่นๆ รู้ว่าใครหรือสิ่งไรมีคุณแก่ตน

ปัจจุบันนี้มีปัญหาเกิดขึ้น คือมีคนเสนอความคิดว่า พ่อแม่สนุกกันแล้วเกิดลูกขึ้นมา พ่อแม่จึงไม่มีบุญคุณอะไรกับลูก ครูบาอาจารย์รับค่าสอนไปแล้ว จึงไม่มีบุญคุณอะไรกับศิษย์

แนวคิดนี้อ้างอิงถึงคำว่า “ทวงบุญคุณ” และคำว่า “นับถือ” กล่าวคือ บอกว่า พ่อแม่ไม่มีสิทธิ์ที่จะมาทวงบุญคุณกับลูกเพราะอยากสนุกกันเอง ครูบาอาจารย์ไม่มีสิทธิ์ที่จะมาทวงบุญคุณกับศิษย์เพราะรับค่าสอนไปแล้ว

ส่วนคำว่า “นับถือ” แนวคิดนี้บอกว่า พ่อแม่ต้องทำตัวให้ดีก่อนจึงค่อยบอกให้ลูกนับถือ ถ้าพ่อแม่ทำตัวไม่ดี ลูกย่อมมีสิทธิ์ที่จะไม่นับถือได้ ครูบาอาจารย์ต้องทำตัวให้ดีก่อนจึงค่อยบอกให้ศิษย์นับถือ ถ้าครูบาอาจารย์ทำตัวไม่ดี ศิษย์ย่อมมีสิทธิ์ที่จะไม่นับถือได้

ค่านิยมเก่าบอกว่า แค่ทำให้ลูกเกิดมา พ่อแม่ก็มีบุญคุณแล้ว เพราะชีวิตเรามาจากพ่อแม่ พ่อแม่ไม่ทำให้เราเกิด ชีวิตเราก็ไม่มี แค่นี้เราก็ควรนับถือพ่อแม่ได้แล้ว ส่วนพ่อแม่จะสนุกกันหรือพ่อแม่ทำตัวไม่น่านับถือ ไม่ควรยกขึ้นมาเป็นเงื่อนไข

เราได้ความรู้จากครูบาอาจารย์ แค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่ครูบาอาจารย์จะมีบุญคุณต่อเรา เรื่องรับค่าสอนไม่ใช่เงื่อนไข ครูบาอาจารย์ทำตัวไม่ดีก็เป็นความบกพร่องของท่านเอง แต่ไม่เป็นเหตุให้เราเลิกนับถือ เราไม่นับถือเพราะท่านทำตัวไม่ดี แทนที่ครูบาอาจารย์จะบกพร่องคนเดียว กลายเป็นเราบกพร่องไปอีกคนหนึ่ง

แนวคิดเดิมแบบนี้ คนสมัยนี้รับไม่ได้ 

จะให้ยอมรับนับถือว่าพ่อแม่มีบุญคุณ แค่ทำให้เกิดอย่างเดียวไม่พอ ลูกสมัยนี้ต้องการมากกว่านั้น

จะให้ยอมรับนับถือว่าครูบาอาจารย์มีบุญคุณ แค่สั่งสอนวิชาอย่างเดียวไม่พอ ศิษย์สมัยนี้ต้องการมากกว่านั้น

แนวคิดหรือวิธีมองพ่อแม่มองครูบาอาจารย์แบบคนสมัยใหม่นี้ อธิบายอะไรไปตอนที่ใจยังไม่เปิดรับ คงเหนื่อยเปล่า ต้องปล่อยให้คิดอย่างนี้ไปก่อน

ผมเชื่อว่า เมื่อถึงคราวที่เขาเป็นพ่อแม่เอง หรือเมื่อถึงคราวที่เขาทำหน้าที่อบรมสั่งสอนถ่ายทอดความรู้ให้คนอื่น เมื่อนั้นธรรมชาติหรือความเป็นจริงของชีวิตจะให้คำตอบแก่เขาเอง แต่นั่นหมายถึงจิตใจของเขาจะต้องไม่ตกต่ำลงไปอยู่ระดับเดียวกับ animal ด้วย เพราะถ้าตกไปถึงระดับนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหนหรือสภาพแวดล้อมอย่างไร ก็รับรู้ไม่ได้แล้วว่าผิดชอบชั่วดีถี่ห่างเป็นอย่างไร

ผมเห็นว่า ตัวเทียบในการวัดระดับจิตใจของคนก็คือ animal หรือสัตว์เดรัจฉาน

ถอยไปจนถึงโคตรของคนยุคแรก พฤติกรรมของคนกับสัตว์ที่เหมือนกันมี ๔ อย่าง ดังคำบาลีว่า

อาหารนิทฺทา   ภยเมถุนญฺจ  สามญฺญเมตปฺปสุภี  นรานํ

กิน นอน กลัว สืบพันธุ์  มีเสมอกันทั้งคนและสัตว์

ระดับจิตใจของคนกับสัตว์ก็เท่ากัน คือคิดได้แต่เรื่องกิน นอน กลัว สืบพันธุ์ ไกลกว่านั้นคิดไม่เห็น แม้แต่ใครเป็นพ่อเป็นแม่ก็รู้จักเฉพาะตอนที่ยังเป็นเด็กเล็กอยู่เท่านั้น พอโตแล้ว หากินเองได้แล้ว ก็ไม่รู้จักอีกแล้ว ใครมีบุญคุณหรือไม่มีบุญคุณก็คิดไม่เป็น

ต่อมา คนพัฒนาจิตใจสูงขึ้น เกิดสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมหรืออารยธรรม เป็นที่มาของคำเรียกคนว่า “มนุษย์” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีใจสูง”   วัฒนธรรมหรืออารยธรรมนี้ คำบาลีใช้เรียกเป็นคำรวมว่า “ธมฺม” (ทำ-มะ) ถึงตอนนี้ก็เกิดเป็นคติ ดังคำบาลีว่า -

ธมฺโมว  เตสํ  อธิโก  วิเสโส  ธมฺเมน  หีนา  ปสุภี  สมานา.

ธรรมะทำให้คนประเสริฐเหนือสัตว์  เสื่อมจากธรรมะ คนก็เท่ากับสัตว์

ตลอดระยะกาลอันยาวนานนี้ จิตใจของสัตว์ก็ยังคงอยู่ในระดับเดิม ระดับเดียวกับที่เมื่อเกิดโคตรของมันขึ้นมาในโลก คือคิดได้แต่เรื่องกิน นอน กลัว สืบพันธุ์ ไกลกว่านั้นสัตว์คิดไม่เห็น แม้แต่ใครเป็นพ่อเป็นแม่มันก็รู้จักเฉพาะตอนที่ยังเล็กอยู่เท่านั้น พอโตแล้ว หากินเองได้แล้ว ก็ไม่รู้จักอีกแล้ว ใครมีบุญคุณหรือไม่มีบุญคุณก็คิดไม่เป็น   ผู้รู้ท่านบอกว่า นานไปในอนาคตจะเป็นยุคเสื่อม ระดับจิตใจของคนจะค่อยๆ ตกลงไปอยู่ในระดับเดิม-ระดับเดียวกับสัตว์

พฤติกรรมอย่างหนึ่งที่น่าจะเป็นตัวเทียบให้เห็นได้ชัดๆ คือการสมสู่สืบพันธุ์ สัตว์ที่อยู่กันเป็นฝูงตัวผู้จะเสพตัวเมียได้หลายตัว ตัวเมียก็รับการเสพจากตัวผู้ได้หลายตัว ลูกของสัตว์ที่อยู่รวมเป็นฝูงบอกได้ว่าตัวไหนเป็นแม่ แต่บอกไม่ได้หรือบอกได้ยากมากว่าตัวไหนเป็นพ่อ

แต่เมื่อคนมีวัฒนธรรมหรืออารยธรรมขึ้นมา แม้อยู่รวมกันเป็นสังคม (ดังคำว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม) การสืบพันธุ์ก็มีระเบียบขึ้นมา เช่นมีการจับคู่ที่เรียกว่า “แต่งงาน” และสมสู่เฉพาะกับคู่ของตน ลูกที่เกิดมาก็รู้ได้แน่ว่าใครเป็นพ่อใครเป็นแม่  แต่นานไปในอนาคต เมื่อถึงยุคเสื่อม ระดับจิตใจของคนจะค่อยๆ ตกลงไปอยู่ในระดับเดิม-ระดับเดียวกับสัตว์ จากการจับคู่ก็จะค่อยๆ กลับไปสู่การเสพแบบไม่เลือกคู่

ลองนึกดู -

สมัยก่อนโน้น แต่งแล้วหย่าเป็นเรื่องน่าอาย  สมัยนี้ แต่งแล้วหย่าเป็นเรื่องธรรมดา (งานแต่งบางคู่ถึงกับเย้ากันว่า-หย่าเมื่อไรบอกนะ จะคอย!)

สมัยนี้ชายหญิงที่มีคู่ ไปเสพสมสู่กับชายหญิงที่ไม่ใช่คู่ของตน ถือว่าเป็นเรื่องเสียหาย โดยเฉพาะฝ่ายหญิงถ้าทำเช่นนั้นถือว่าเสียหายมาก

แต่ในอนาคต การทำเช่นนั้นจะถือกันว่าเป็นเรื่องธรรมดา  สภาพเช่นนี้ไม่เกิดแบบปุบปับ แต่จะค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป แบบไม่รู้สึกตัว

เมื่อคิดเทียบระดับจิตใจด้วยพฤติกรรมการสมสู่ดังกล่าวนี้ ก็จะเข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า สมัยนี้การยอมรับว่าใครมีบุญคุณทำไมจึงเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยก่อน  แนวคิดในวันนี้ที่ว่า พ่อแม่ไม่มีบุญคุณ ครูบาอาจารย์ไม่มีบุญคุณ (เป็นต้น) ก็คือก้าวเล็กๆ อีกก้าวหนึ่งที่จะนำจิตใจแบบมนุษย์ให้ค่อยๆ ถอยกลับลงไปอยู่ในระดับเดียวกับสัตว์ในวันหน้านั่นเอง

(ยังมีต่อ)

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๔ มิถุนายน ๒๕๖๕ ,  ๑๑:๓๙

บุคคลหาได้ยาก (๑)บุคคลหาได้ยาก (๒)บุคคลหาได้ยาก (๓)บุคคลหาได้ยาก (๔)บุคคลหาได้ยาก (๕) บุคคลหาได้ยาก (๖)บุคคลหาได้ยาก (๗)บุคคลหาได้ยาก (๘)บุคคลหาได้ยาก (๙)บุคคลหาได้ยาก (๑๐)



Previous Post
Next Post

0 comments: