วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2565

บุคคลหาได้ยาก (๒)

บุคคลหาได้ยาก (๒)

ทบทวนกันก่อน  บุคคลหาได้ยาก ๒ อย่าง

๑. บุพการี บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน

๒. กตัญญูกตเวที บุคคลผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้วและตอบแทน

“บุพการี” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำก่อน” 

“กตัญญูกตเวที” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้คุณและประกาศคุณ” 

“กตัญญู” คือรู้คุณ   “กตเวที” คือประกาศคุณ คือแสดงออกให้คนอื่นๆ รู้ว่าใครหรือสิ่งไรมีคุณแก่ตน บุพการีกับกตัญญูกตเวที ท่านว่ามี ๔ คู่ คือ -

๑ บิดามารดากับบุตรธิดา

๒ ครูบาอาจารย์กับศิษยานุศิษย์

๓ พระมหากษัตริย์กับพสกนิกร

๔ พระพุทธเจ้ากับพุทธศาสนิกชน

๒ คู่ข้างต้น บิดามารดากับบุตรธิดา ครูบาอาจารย์กับศิษยานุศิษย์ ได้พูดถึงมาแล้ว

ที่เป็นปัญหามากสำหรับคนรุ่นใหม่น่าจะเป็นคู่ที่ ๓ - พระมหากษัตริย์กับพสกนิกร

ไทยเรามีสถาบันพระมากษัตริย์คู่มากับชาติ แต่คนรุ่นใหม่มีแนวคิดว่าสถาบันพระมากษัตริย์หมดความจำเป็นแล้ว สถาบันพระมากษัตริย์ไม่มีประโยชน์อะไรอีกแล้ว

เรื่องนี้ก็ต้องถอยไปตั้งหลักกันที่โคตรเหง้าของคน ซึ่งก็จะเหมือนกับสัตว์โลกทั่วไปที่อยู่กันเป็นฝูง นั่นคือต้องมีจ่าฝูง   สมด้วยบทพระราชนิพนธ์ดังนี้ -

โขลงช้างย่อมมีพญาสาร 

ครอบครองบริวารทั้งหลาย

ฝูงโคขุนโคก็เป็นนาย 

มุ่งหมายนำพวกไปหากิน

ฝูงหงส์มีเหมราชา 

สกุณามีขุนปักษิณ

เทวายังมีสักรินทร์ 

เป็นปิ่นเทวัญชั้นฟ้า

เผ่าชนจะตั้งเป็นคณะ 

จะต่างคิดเกะกะตามประสา

จะอยู่ได้ดีกี่เวลา 

ดูน่าจะยับอับจน

จำเป็นต้องมีหัวหน้า 

กะการบัญชาให้เป็นผล

กองทัพบริบูรณ์ผู้คน 

ไม่มีจุมพลจะสู้ใคร

ที่มา:  บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหนังสือ “ร้อยกรองร้อยเรื่อง” แต่ยังไม่ได้ตรวจสอบว่าหนังสือนั้นคัดมาจากพระราชนิพนธ์เรื่องอะไร กลอนบทนี้มีผู้นำไปอ้างกันมาก บอกแต่ว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ไม่บอกว่าอยู่ในพระราชนิพนธ์เรื่องอะไร ถ้อยคำที่นำไปอ้างก็วิปลาสคลาดเคลื่อนต่างๆ กัน ไม่มีตรงกันเลยสักแห่งเดียว ผู้อ้างก็ไม่ได้ใส่ใจที่จะตรวจสอบ ไม่น่าเชื่อว่าเวลานี้ผู้คนจะ “มักง่าย” กันถึงเพียงนี้ ที่ผมนำมาอ้างนี้ก็พยายามพิจารณาแล้วว่าหากคลาดเคลื่อนก็คงน้อยที่สุด ญาติมิตรท่านใดทราบชื่อบทพระราชนิพนธ์ และมีต้นฉบับที่มีถ้อยคำถูกต้อง ขอความกรุณาแจ้งให้ทราบด้วย จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

และส่วนมากจ่าฝูงจะเป็นตัวผู้ มีร่างกายที่เหมาะแก่การต่อสู้ เช่น ตัวใหญ่ เรี่ยวแรงมาก เขี้ยวเล็บเขางาแหลมคม   ปัญหาใหญ่ของสัตว์ที่อยู่กันเป็นฝูงก็คือ การรบกวนรังแกจากสัตว์ต่างฝูง จ่าฝูงจึงต้องมีร่างกายที่เหมาะแก่การต่อสู้ป้องกันลูกฝูงหรือเพื่อการระรานฝูงอื่นแล้วแต่กรณี  คนที่เป็นจ่าฝูง คือหัวหน้าเผ่า ก็มีลักษณะแบบเดียวกับสัตว์ คือต้องกล้าสู้กับคนต่างเผ่า เพื่อปกป้องลูกเผ่า หรือเพื่อรุกรานเผ่าอื่นแล้วแต่กรณี

รากเหง้าเค้าเดิมของคำว่า “กษัตริย์” ก็มาจากเหตุผลนี้ คือแปลว่า “ผู้ทำหน้าที่ปกป้องเขต 

เขตฺต > ขตฺติย > กษัตริย์

ถ้าย้อนกลับไปเกิดสมัยต้นโคตร ก็จะมองเห็นภาพคนที่วิ่งออกหน้าฝูง เอาตัวเอาอกรับก้อนหินก้อนดินท่อนไม้จากฝูงอื่น คนที่ยอมตายเพื่อให้ลูกฝูงปลอดภัย

คนรุ่นเรา เกิดมาในยุคสมัยที่บ้านเมืองสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เกิดมาก็มีแผ่นดินให้อยู่เป็นปกติสุขทุกอย่าง จึงคิดไม่เป็น เห็นไม่ได้ ว่าสมัยที่กำลังสร้างบ้านแปลงเมืองอยู่นั้น คนที่เป็นหัวหน้าฝูงต้องเหน็ดเหนื่อยแค่ไหน เสี่ยงตาย (และตายจริง) แค่ไหน และจึงเห็นไปว่า สถาบันพระมากษัตริย์ซึ่งทำหน้าที่หัวหน้าฝูงในอดีตนั้นไม่มีประโยชน์และหมดความจำเป็นแล้วในยุคสมัยปัจจุบัน

แบบเดียวกับไม้คานปิดทองในบ้านของมหาเศรษฐีปลายน้ำ คือเศรษฐีที่เกิดปลาย generation ไม่เคยรู้จักโคตรเหง้าของตนเองที่อพยพหนีความอดอยากมาจากเมืองจีน

โคตรเหง้าของมหาเศรษฐีมาจากเมืองจีนแบบ “เสื่อผืนหมอนใบ” อาศัยไม้คานหาบหลัวซื้อขวดและของเก่าตามบ้านคนเอาไปขาย ค่อยๆ สะสมทุน ขยายกิจการไปทีละเล็กละน้อยจนมั่งคั่งเป็นมหาเศรษฐี ระลึกถึงคุณของไม้คานที่ได้อาศัยจนตั้งตัวได้ เอาไม้คานที่เคยใช้หาบหลัวมาปิดทอง ใส่ตู้ไว้เป็นอย่างดีในที่บูชา

รุ่นลูกก็ยังคงนับถือบูชาไม้คาน เพราะเคยเห็นเตี่ยใช้หาบหลัวเลี้ยงพวกตนมา บางครั้งตนเองก็เคยช่วยเตี่ยหาบด้วย ทั้งเคยมีส่วนร่วมในความทุกข์ยากมาด้วยกัน

แต่พอมาถึงรุ่นหลาน และรุ่นต่อๆ มาอีกหลาย generation ชั้นปลายแถวไม่เคยเห็นภาพหาบหลัว ไม่รู้จักไม้คาน ไม่เคยเรียนรู้ว่าไม้คานคืออะไร มีไว้ทำไม ไม่เคยรู้ว่าสมบัติที่ตนเกิดมาก็มีให้เสพเสวยนั้นเกิดมาจากไม้คานของก๋งของก๋งของก๋ง ไม้คานปิดทองของบรรพบุรุษจึงไม่มีความหมายอะไรแม้แต่น้อย 

เวลานี้ มหาเศรษฐีปลาย generation กำลังมองไม้คานว่าเป็นของเกะกะรกรุงรังไปแล้ว

สังคมไทย สถาบันพระมากษัตริย์ถูกคนในปัจจุบันนี้มองเหมือนไม้คาน  คือเห็นว่ามีไว้ก็ไม่เห็นจะเป็นประโยชน์อะไร  ไม่ใช่เพราะไม่รู้ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของชาติ  หากแต่เพราะในหัวใจขาดความตระหนักสำนึกถึงคุณค่า ที่เรียกว่ากตัญญูกตเวที

ลิงฝูงหนึ่งครอบครองมะม่วงต้นหนึ่ง อาศัยเก็บกินผลมะม่วงด้วยความสุข จ่าฝูงตัวที่คอยปกป้องลูกฝูงทำหน้าที่ป้องกันรักษาต้นมะม่วงไว้ได้สืบมา ตัวเก่าตายไป ตัวใหม่ขึ้นมาแทน หลายชั่วอายุลิง

ลิงตัวที่อายุน้อยที่สุดในวันนี้ มันไม่จำเป็นต้องรู้จักลิงตัวที่เป็นจ่าฝูงตัวแรกหรือตัวต่อๆ มาที่เคยปกป้องดูแลต้นมะม่วงไว้ให้มัน มันรู้อยู่อย่างเดียวว่ามะม่วงต้นนี้มีลูกให้มันเก็บกินได้ทุกวัน เท่านี้ก็พอแล้ว ไม่ต้องเอ่ยไปถึงขนาดว่ามันจะรู้สำนึกถึงบุญคุณของบรรพบุรุษลิงของมัน หรือแม้กระทั่งบุญคุณของต้นมะม่วงที่มันอาศัยกินอาศัยนอนอยู่แท้ๆ นั่นก็เถอะ

เพราะอะไร? เพราะลิงมันเป็น animal  แต่คน ไม่ใช่ 

(ยังมีต่อ)

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๕ มิถุนายน ๒๕๖๕ , ๑๑:๒๕

บุคคลหาได้ยาก (๑) , บุคคลหาได้ยาก (๒) , บุคคลหาได้ยาก (๓) , บุคคลหาได้ยาก (๔) , บุคคลหาได้ยาก (๕) บุคคลหาได้ยาก (๖) , บุคคลหาได้ยาก (๗) , บุคคลหาได้ยาก (๘) , บุคคลหาได้ยาก (๙) , บุคคลหาได้ยาก (๑๐)




Previous Post
Next Post

0 comments: