วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2565

บุคคลหาได้ยาก (๘)

บุคคลหาได้ยาก (๘)

ตัวตนของพระรัตนตรัยอันดับแรก คือพระพุทธเจ้าในฐานะบุคคลในประวัติศาสตร์ พูดไปแล้ว   ตัวตนของพระรัตนตรัยอันดับสอง คือพระธรรมในฐานะต้นฉบับคัมภีร์พระไตรปิฎก พูดไปแล้ว  ทีนี้ก็มาถึงตัวตนของพระรัตนตรัยอันดับสาม คือพระสงฆ์ในฐานะที่เป็นตัวบุคคล   

ตามที่เข้าใจกัน “พระสงฆ์” มี ๒ ประเภท คือ อริยสงฆ์ คือท่านผู้บรรลุมรรคผลแล้ว และสมมติสงฆ์ คือภิกษุสงฆ์ที่ยังเป็นปุถุชน

“พระสงฆ์” ในพระรัตนตรัย โดยปกติท่านหมายถึงอริยสงฆ์

ตรงนี้ แวะหาความรู้จากคำว่า “สงฆ์” เพื่อเป็นพื้นฐานเบื้องต้นกันเล็กน้อย   พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “สงฆ์” ไว้ดังนี้ -

สงฆ์ : หมู่, ชุมนุม 

1. หมู่สาวกของพระพุทธเจ้า เรียกว่า สาวกสงฆ์ ดังคำสวดในสังฆคุณ ประกอบด้วยคู่บุรุษ ๔ บุรุษบุทคล (รายตัวบุคคล) ๘ เริ่มแต่ท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค จนถึงพระอรหันต์ ต่างจากภิกขุสงฆ์ คือหมู่แห่งภิกษุหรือชุมนุมภิกษุ (ดูความหมาย 2), ต่อมา บางทีเรียกอย่างแรกว่า อริยสงฆ์ อย่างหลังว่า สมมติสงฆ์

2. ชุมนุมภิกษุหมู่หนึ่งตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย ต่างโดยเป็นสงฆ์จตุรวรรคบ้าง ปัญจวรรคบ้าง ทศวรรคบ้าง วีสติวรรคบ้าง, ถ้าเป็นชุมนุมภิกษุ ๒ หรือ ๓ รูป เรียกว่า คณะ ถ้ามีภิกษุรูปเดียว เป็น บุคคล

ความเป็นจริงหรือ “สัจธรรม” ของพระสงฆ์ในพระรัตนตรัยที่ควรทราบ พอจะประมวลตามประสงค์ได้ดังนี้

ข้อ ๑   “สงฺฆ” หรือพระสงฆ์ในพระรัตนตรัยคือผู้บรรลุธรรมถึงระดับที่เรียกว่าอริยบุคคล มี ๔ ระดับ คือ -

๑ โสดาบัน ยังละกิเลสได้ไม่หมด ตายแล้วเกิดอีกไม่เกิน ๗ ชาติ

๒ สกทาคามี ละกิเลสได้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่หมด ตายแล้วเกิดอีกชาติเดียวแล้วนิพพาน

๓ อนาคามี ละกิเลสได้เกือบหมด ตายแล้วไม่เกิดในภูมิมนุษย์ แต่เกิดในภพภูมิที่สูงขึ้นไป แล้วนิพพานในภูมินั้น 

๔ อรหันต์ ละกิเลสได้หมดจดสิ้นเชิง ตายแล้วนิพพาน คือไม่เกิดในภพภูมิใดๆ อีก (รวมทั้ง “นิพพานภูมิ” ตามที่มักวาดภาพกันผิดๆ)

ข้อ ๒   โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี ชาวบ้านธรรมดาก็เป็นได้ แต่ผู้บรรลุภูมิอรหันต์ต้องบวช   นางวิสาขามหาอุบาสิกา เป็นโสดาบันตั้งแต่อายุ ๗ ปี แต่งงาน มีลูก ๒๐ คน  อนาถบิณฑิกเศรษฐี นักธุรกิจพันล้านสมัยพุทธกาลก็เป็นโสดาบัน

ข้อ ๓   คุณของ “สงฆ์” ในพระรัตนตรัยบางประการ เช่น  สุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติดี  อุชุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติตรง อาจหมายรวมถึงอริยบุคคลที่เป็นชาวบ้านได้ด้วย แต่บางประการเช่น ทักขิเณยโย เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ เป็นเนื้อนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ย่อมหมายถึงท่านผู้ทรงเพศบรรพชิต ดังนั้น จึงควรกำหนดไว้ว่า “สงฆ์” ในพระรัตนตรัย โดยปกติย่อมหมายถึงท่านผู้ทรงเพศบรรพชิต

ข้อ ๔   ในสมัยพุทธกาล ใครบรรลุธรรมระดับไหน ผู้ที่สามารถรับรองได้ก็คือพระพุทธเจ้า แม้พระอรหันต์ที่พระพุทธเจ้าตรัสรับรองแล้ว โดยปกติท่านก็ไม่ไปรับรองใครต่อไปอีกว่าใครบรรลุธรรม (อาจมีกรณีพิเศษบ้างซึ่งถือว่าไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ) และที่สำคัญ ตัวผู้บรรลุธรรมเองถ้าได้บรรลุธรรมแล้วจริงก็จะรู้ได้ด้วยตัวเอง และรู้อยู่เฉพาะตัวเอง ไม่ไปเที่ยวบอกกล่าวแสดงตัวแก่ใครๆ ว่าข้าพเจ้าบรรลุธรรม 

ธรรมชาติของผู้บรรลุธรรมย่อมเป็นเช่นนั้นอยู่เอง

ข้อนี้ขอให้ลองเทียบดูกับคนทั่วไปที่มีอัธยาศัยฝักใฝ่ในการบุญ เช่นบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนาอยู่เป็นนิตย์ โดยปกติแล้วคนประเภทนี้จะไม่ไปเที่ยวคุยบอกใครๆ ว่าตนเป็นผู้ใฝ่ธรรม แต่ชอบที่ปฏิบัติเช่นนั้นไปเงียบๆ ลองสังเกตดูเถิด จะเป็นแบบนี้ทั้งนั้น เพราะธรรมชาติของผู้ปฏิบัติธรรมย่อมเป็นเช่นนั้นอยู่เอง

ข้อ ๕   การที่จะรู้ว่าใครบรรลุธรรมระดับไหนอย่างไร เช่นสามารถบอกได้ว่า หลวงปู่รูปโน้นเป็นพระอรหันต์ หลวงพ่อรูปนั้นเป็นอริยสงฆ์ ดังนี้เป็นต้น ท่านว่าผู้นั้นจะต้องเป็นอรหันต์หรือเป็นอริยสงฆ์ในระดับเดียวกันหรือสูงกว่าเท่านั้นจึงจะสามารถบอกเช่นนั้นได้

ขอเสนอข้อควรทราบของพระสงฆ์ในพระรัตนตรัยไว้เท่านี้ก่อน

ต่อไปนี้ขอแทรกการอภิปรายกรณีการรู้หรือบอกว่าใครเป็นอริยสงฆ์ ซึ่งในกาลบัดนี้มีผู้นิยมประกาศบอกกล่าวกันอยู่เสมอ   เมื่อถือตามหลักที่ว่า จะบอกว่าใครบรรลุธรรมระดับไหน ผู้บอกจะต้องบรรลุธรรมระดับเดียวกันหรือสูงกว่าเท่านั้นจึงจะบอกได้ ดังนี้ ผู้ที่ชอบบอกว่าใครเป็นพระอรหันต์หรือใครเป็นอริยสงฆ์ ก็เท่ากับบอกว่า ตัวผู้บอกก็เป็นพระอรหันต์หรือเป็นอริยสงฆ์ด้วยนั่นเอง

เพราะเป็นเรื่องเสี่ยงที่จะถูกมองว่าอวดอ้าง เป็นเรื่องเฉพาะตัว และเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ตรวจสอบเช่นนี้เอง จึงปรากฏมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลว่า แม้พระอรหันต์แท้ๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสรับรองแล้ว ท่านก็ไม่ไปเที่ยวรับรองหรือบอกใครต่อใครว่าใครบรรลุธรรม

แต่ทำไมปุถุชนคนธรรมดาในสมัยนี้จึงชอบชี้กันนักว่าท่านผู้นั้นท่านผู้โน้นเป็นอริยสงฆ์?

การรู้ว่าใครบรรลุธรรมก็ดี การบอกว่าใครบรรลุธรรมก็ดี ประโยชน์ก็มีเพียงแค่ได้รู้หรือได้รับรู้เท่านั้น การรู้เช่นนั้นไม่เป็นเหตุให้ตัวผู้รู้ได้เจริญก้าวหน้าไปในธรรมเพิ่มขึ้นอีกแต่ประการใด และการได้รับรู้จากการบอกเล่าเช่นนั้นก็ไม่เป็นเหตุให้ผู้ได้รับรู้พลอยได้บรรลุธรรมไปด้วยแต่ประการใด    

ขอให้ช่วยกันพิจารณาดูเถิดว่าเป็นจริงเช่นว่านี้หรือไม่   ถ้าถามกันตรงๆ ว่า รู้ว่าท่านผู้โน้นเป็นพระอรหันต์ท่านผู้นั้นเป็นอริยสงฆ์ แล้วไงต่อไป? ก็จะตอบยากที่สุด 

อาจจะตอบว่า ก็-ตื่นเต้นดี    ตื่นเต้นแล้วไงอีก   ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส   แล้วไง  อยากไปกราบเพื่อเป็นสิริมงคล   ต่อไปก็กลายเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ และบอกต่อ  ต่อจากนั้น ความเคารพนับถือชื่อเสียงลาภสักการะก็ตามมา

จะเห็นได้ว่า ปลายทางของการบอกว่าใครเป็นอริยสงฆ์มักจะไปลงที่อะไร นั่นไม่ใช่ประโยชน์ที่แท้จริงที่พระพุทธศาสนาพึงประสงค์เลย

ถ้าอัญเชิญพระรัตนตรัยมาจัดประเภท --

พระพุทธก็คือที่มาของพระธรรม   พระธรรมคือหลักปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน   พระสงฆ์คือตัวอย่างของพุทธศาสนิกชนผู้ประสบความสำเร็จ  ใช้คำพูดตามสมัยนิยม พระสงฆ์ก็คือ idol ของชาวพุทธ

เราระลึกถึงพระสงฆ์ก็เพื่อเรียกกำลังใจให้ตัวเอง หรือเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจมุ่งมั่นปฏิบัติตามพระธรรมให้ประสบความสำเร็จให้จงได้-เหมือนพระสงฆ์ ซึ่งแต่เดิมก็เป็นคนธรรมดาเหมือนเรา 

พระสงฆ์จึงเป็นประจักษ์พยานเครื่องยืนยันว่า คนธรรมดาอย่างเราก็สามารถที่จะบรรลุความสำเร็จในพระศาสนาได้

“ความสำเร็จในพระศาสนา” ในความหมายนี้ไม่ใช่ลาภสักการะยศตำแหน่ง หากแต่คือการบรรลุมรรคผล หรือสภาพจิตที่ปลอดจากโลภะ โทสะ โมหะ ตามควรแก่การปฏิบัติ

เห็นพระอริยสงฆ์อยู่ตรงหน้า ก็นับว่าดี เป็นอุดมมงคลอย่างหนึ่ง

แต่เมื่อเห็นพระอริยสงฆ์อยู่ตรงหน้า แล้วกล้าที่จะลงมือประพฤติปฏิบัติธรรมทันที ถ้าปฏิบัติอยู่แล้วก็ปฏิบัติให้ยิ่งๆ ขึ้นไป-นั่นแหละจึงจะดีที่สุด  ประวัติของพระสงฆ์ในพระรัตนตรัยมีบันทึกไว้ในคัมภีร์เพียบพร้อมพอแก่ความต้องการ 

กาลบัดนี้ จะมีพระอริยสงฆ์ “ตัวเป็นๆ” หรือไม่มี เราก็ไม่ขาดแคลน idol แต่ประการใดเลย

(ยังมีต่อ)

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๕ , ๑๘:๐๐

บุคคลหาได้ยาก (๑) , บุคคลหาได้ยาก (๒) , บุคคลหาได้ยาก (๓) , บุคคลหาได้ยาก (๔) , บุคคลหาได้ยาก (๕) บุคคลหาได้ยาก (๖) , บุคคลหาได้ยาก (๗) , บุคคลหาได้ยาก (๘) , บุคคลหาได้ยาก (๙) , บุคคลหาได้ยาก (๑๐)





Previous Post
Next Post

0 comments: