วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2565

บุคคลหาได้ยาก (๙)

บุคคลหาได้ยาก (๙)

บุคคลหาได้ยากคู่ที่ ๔ พระพุทธศาสนากับพุทธศาสนิกชน

พระพุทธศาสนามี ๒ ส่วน คือ พระพุทธศาสนาส่วนที่เป็นหลักการ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมเรียกว่า “พระรัตนตรัย” ได้พูดไปครบแล้ว

ต่อไปนี้จะเป็นส่วนที่ ๒ คือพระพุทธศาสนาส่วนที่ปรากฏตัวอยู่ในสังคมปัจจุบัน

เมื่อรู้จักพระพุทธศาสนาส่วนที่เป็นหลักการพอสมควรแล้ว มาเห็นพระพุทธศาสนาส่วนที่ปรากฏตัวอยู่ในสังคมปัจจุบัน ก็จะบอกได้ว่าสิ่งที่เราเห็นนั้นอะไรอย่างไรคือตัวแท้ของพระพุทธศาสนา อะไรอย่างไรคือตัวที่กลายรูปไปหรืองอกเพิ่มเข้ามา

พระพุทธศาสนาส่วนที่ปรากฏตัวอยู่ในสังคมปัจจุบัน ถ้าแยกส่วนประกอบก็น่าจะมีดังนี้ -

๑ วัตถุ+สถานที่  

๒ บุคคล  

๓ พิธีกรรม+กิจกรรม   

๔ ธรรมะ

วัตถุ:  เป็นสวนที่ใกล้ตัวและเห็นได้ง่าย เช่น โต๊ะหมู่บูชา พระบูชา พระเครื่อง เครื่องสักการบูชาเช่นดอกไม้ ธูปเทียน มักมีอยู่ทุกบ้านเรือน

สถานที่:  คือวัดวาอารามต่างๆ รวมถึงพระพุทธปฏิมา พระสถูป เจดีย์ อันมีอยู่ในบริเวณวัด มีทั่วไป พบเห็นได้เสมอ

บุคคล:  ที่เห็นได้ง่ายคือพระภิกษุสามเณร ตลอดจนบุคคลที่ครองเพศต่างจากชาวบ้านธรรมดา เช่นแม่ชี และผู้ที่แต่งกายอย่างอื่นๆ ที่แสดงตัวว่าเป็นบรรพชิตในพระพุทธศาสนา

พิธีกรรม:  เช่น การสวดมนต์ ไหว้พระ งานบำเพ็ญกุศลแบบต่างๆ 

กิจกรรม:  เช่น การใส่บาตรตอนเช้า การไปทำบุญวันพระที่วัด รวมทั้งกิจกรรมทั่วไปของชาววัด

ธรรมะ:  คือ การศึกษาเล่าเรียนพระธรรม เช่นเรียนนักธรรม เรียนบาลี เรียนพระอภิธรรม และกิจกรรมที่เรียกว่า “ปฏิบัติธรรม”

แยกให้ดูคร่าวๆ เมื่อเห็นสิ่งเหล่านี้จะได้มองออกว่า นี่คือพระพุทธศาสนา

เมื่อเห็นพระพุทธศาสนาส่วนที่ปรากฏตัวอยู่ในสังคมปัจจุบัน ก็ควรศึกษาเทียบเคียงกับพระพุทธศาสนาส่วนที่เป็นหลักการ แล้วทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่า ส่วนที่ปรากฏกับส่วนที่เป็นหลักการตรงกันหรือต่างกันแค่ไหนอย่างไร   ลองพิจารณาเป็นตัวอย่าง

๑ พระพุทธเจ้า   

พระพุทธเจ้าส่วนที่เป็นพุทธคุณมีอยู่ในบทสวดมนต์ แต่คงยากที่จะบอกว่าชาวพุทธระลึกถึงพระพุทธคุณแล้วน้อมนำพระพุทธคุณเข้ามาพัฒนาขึ้นในชีวิตจิตใจของตนเองกันมากน้อยแค่ไหน หรือว่าทำกันเป็นเพียงพิธีการ คือพระพุทธคุณที่เป็นเพียงคำสวด สวดจบแล้วก็เชื่อว่าตัวเองได้ทำกิจของชาวพุทธเสร็จแล้ว และ “ได้บุญ” ไปเรียบร้อยแล้ว

เรื่องนี้แต่ละคนต้องตรวจสอบทบทวนด้วยตัวเอง

ส่วนพระพุทธเจ้าที่เป็นวัตถุแทนองค์พระพุทธเจ้า คือพระพุทธปฏิมาหรือพระพุทธรูป ที่เห็นได้ชัดและมากที่สุดก็คือมีอยู่ในฐานะ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” หรือ “ของขลัง” 

พระพุทธเจ้าที่เป็นวัตถุแทนองค์พระพุทธเจ้า ชาวพุทธในเมืองไทยรู้จักในฐานะ “หลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์” ที่ประดิษฐานอยู่ที่นั่นที่โน่น พยายามหามาไว้บูชาหรือดั้นด้นไปกราบไหว้บูชา “เพื่อความเป็นสิริมงคล” 

“สิริมงคล” ที่เข้าใจกันหรือที่ประสงค์ก็คืออะไรอย่างหนึ่งที่จะดลบันดาลประทานพรให้ผู้มีไว้หรือกราบไหว้มีความสุขความเจริญคิดอะไรสมปรารถนา โดยเจ้าตัวไม่ต้องทำอะไรด้วยตัวเอง ความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธปฏิมาพระบูชาพระเครื่องเหล่านั้นจะดลบันดาลให้เกิดขึ้น

๒ พระธรรม

ชาววัดมีหลักสูตรการศึกษาพระธรรมวินัย แล้วค่อยๆ ขยายตัวเป็นการศึกษาแบบที่ชาวบ้านจัดทำกัน คือเพื่อให้ได้วุฒิทางการศึกษา ได้ศักดิ์และสิทธิ์อันเกิดตามวุฒิ แล้วใช้ศักดิ์สิทธิ์นั้นเพื่อประโยชน์อื่นๆ ต่อไปแบบเดียวกับชาวบ้าน

จากเดิมที่พระธรรมวินัยเป็นเป้าหมายหรือเนื้อหาหลักของการศึกษาเพื่อนำไปประพฤติปฏิบัติ ก็ค่อยๆ มีเนื้อหาอื่นเพิ่มเข้ามาและทำท่าจะเป็นเนื้อหาหลักแทนพระธรรมวินัย จากเดิมศึกษากันในหมู่ชาววัดก็ขยายไปถึงชาวบ้านด้วย แต่ที่สำคัญ จากการศึกษาเพื่อนำไปประพฤติปฏิบัติก็เคลื่อนที่ไปเป็นศึกษาเพื่ออย่างอื่น จะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติเป็นสิทธิส่วนบุคคล

แต่พระธรรมในส่วนที่แสดงออกด้วยการกระทำก็ยังคงมีปรากฏทั่วไป เช่น -

ทาน:  การใส่บาตรทุกเช้ายังทำกันทั่วไป แต่เหตุผลในการใส่บาตรก็แตกต่างกันออกไปแล้วแต่ความเข้าใจและแนวความคิดของแต่ละคน

ศีล:  การรักษาศีลในวันพระ ก็ยังทำกันทั่วไป

ภาวนา:  ที่รู้จักกันในนาม “ปฏิบัติธรรม” หรือ “นั่งสมาธิ” ก็ยังมีปฏิบัติกันทั่วไป มีทั้งที่เข้าใจความมุ่งหมายที่ถูกต้อง มีทั้งที่ตั้งความมุ่งหมายขึ้นใหม่ตามเหตุผลของแต่ละคนหรือแต่ละสำนัก

ขอตั้งสังเกตสั้นๆ ว่า “ปฏิบัติธรรม” ในหมู่ชาวพุทธเมืองไทย (หรืออาจจะชาวพุทธทั่วโลก?) มักเป็นกิจที่แยกออกจากชีวิตประจำวัน คือต้องแบ่งเวลาเพื่อ “ปฏิบัติธรรม” โดยเฉพาะ ในขณะที่การปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวอยู่ในชีวิตประจำวัน

๓ พระสงฆ์

เป็นที่ยอมรับกันว่า พระสงฆ์ที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ล้วนเป็นปุถุชนหรือสมมติสงฆ์ แม้กระนั้นก็ยังมีการยกย่องกันอยู่ไม่ขาดว่า หลวงปู่รูปโน้นเป็นพระอรหันต์ หลวงพ่อรูปนั้นเป็นอริยสงฆ์   ถ้ารู้เข้าใจชัดถึงหลักของพระรัตนตรัย ผู้ยกย่องก็ควรจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง ผู้ที่ได้ฟังการยกย่องก็ควรจะมีท่าทีที่ถูกต้อง

จริงอยู่ ความศรัทธาเลื่อมใสเป็นสิทธิส่วนบุคคล  แต่การประกาศบอกกล่าวให้คนอื่นรับรู้ เป็นการก้าวออกนอกขอบเขตสิทธิส่วนบุคคล

ข้อสังเกตเรื่องพระสงฆ์ก็คือ คนส่วนใหญ่นับถือศรัทธาคำสอนของพระสงฆ์ในฐานะ “คำสอนของอาจารย์” โดยไม่สนใจใฝ่รู้ว่า เรื่องนั้นๆ คำสอนของพระพุทธเจ้าว่าอย่างไร ตัวอาจารย์เองก็พอใจที่มีผู้นับถือคำสอนของตน จึงแทนที่จะนำผู้นับถือเลื่อมใส “ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า” คือชี้ไปที่คำสอนของพระพุทธเจ้า ก็กลับดึงผู้นับถือเลื่อมใสให้ติดอยู่กับคำสอนของตนหรือสำนักของตน 

ผลที่กำลังเป็นอยู่ก็คือ ชาวพุทธในเมืองไทยถูกแบ่งแยกเป็นก๊กเป็นเหล่าโดยอาจารย์หรือสำนักต่างๆ แทนที่จะมีพระพุทธเจ้าเป็นศูนย์รวมจิตใจหนึ่งเดียว   ที่กล่าวมานี้คือสภาพเป็นจริงของพระพุทธศาสนาที่ปรากฏอยู่ในสังคมปัจจุบัน ยกมาพอเป็นตัวอย่าง

สภาพเช่นนี้ ผู้รู้ท่านสอนให้พิจารณาด้วยปัญญา

คือท่านให้มองเห็นความจริงที่ว่า ในด้านพระศาสนา สังคมย่อมมีสมาชิก ๒ ระดับใหญ่ๆ คือ ระดับที่นับถือศาสนาโดยมีศรัทธานำหน้า แต่อ่อนด้อยทางสติปัญญาการใช้เหตุผล ระดับนี้มักจะมีจำนวนมาก และระดับที่นับถือศาสนาโดยมีปัญญานำหน้า รู้และเข้าใจหลักการที่ถูกต้อง ระดับนี้มีจำนวนน้อยกว่า

ท่านสอนให้ทุกระดับทุกฝ่ายมีเมตตาต่อกัน เข้าใจถึงศรัทธาและปัญญาของแต่ละฝ่ายที่มีไม่เท่ากัน จึงควรอยู่ร่วมกันด้วยไมตรี ฝ่ายที่มีปัญญาดีกว่าก็พยายามแนะนำ ฝึกฝน ให้กำลังใจฝ่ายที่มีปัญญาน้อยกว่าให้ค่อยๆ พัฒนาจนสามารถก้าวขึ้นมาอยู่ในระดับที่มีปัญญา 

ประคับประคองกันไปด้วยอาการเช่นนี้ สังคมก็จะสามารถดำรงอยู่และดำเนินไปสู่ความเจริญทางสติปัญญาได้โดยสันติสุข

(ยังมีต่อ)

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๕ ,  ๑๙:๑๐

บุคคลหาได้ยาก (๑) , บุคคลหาได้ยาก (๒) , บุคคลหาได้ยาก (๓) , บุคคลหาได้ยาก (๔) , บุคคลหาได้ยาก (๕) บุคคลหาได้ยาก (๖) , บุคคลหาได้ยาก (๗) , บุคคลหาได้ยาก (๘) , บุคคลหาได้ยาก (๙) , บุคคลหาได้ยาก (๑๐)








Previous Post
Next Post

0 comments: