หิรินิเสโธ ปุริโส โกจิ โลกสฺมิ วิชฺชติ.
"คนผู้เกียดกันอกุศลวิตกเสียได้ด้วยความละอาย น้อยคนจะมีในโลก"
เกียดกันหรือกีดกั้น คือกีดกันมิให้อกุศลวิตกเกิดขึ้นโดยง่าย อกุศลวิตก คือความตรึกที่เป็นอกุศลหรือความนึกคิดที่ไม่ดี มี ๓ อย่าง คือ
๑. กามวิตก คือความตรึกในทางกามหรือความนึกคิดในทางแส่หาหรือพัวพันติดข้องในสิ่งสนองความอยาก
๒. พยาบาทวิตก คือความตรึกในทางพยาบาทหรือความนึกคิดที่ประกอบด้วยความขัดเคืองเพ่งมองในแง่ร้าย
๓. วิหิงสาวิตก คือความตรึกในทางเบียดเบียนหรือความนึกคิดในทางทำลาย ทำร้ายหรือก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น
หิริ คือ ความรู้สึกอายที่จะทำสิ่งไม่ถูกไม่ควร เช่น ละอายที่จะทำผิด ละอายใจ ละอายต่อบาป ละอายต่อความชั่ว คือความละอายต่อการทำบาปทำชั่ว ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
บาป คือ ธรรมชาติที่ทำให้จิตเศร้าหมอง บุญคือธรรมชาติที่ชำระจิตให้สะอาดผ่องแผ้ว ในขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้นก็อยากจะประพฤติผิดศีล ๕ แต่หิริเป็นเครื่องยับยั้งมิให้เกิดอกุศลจิตนั้น เกิดความละอายต่อบาปที่จะกระทำ จึงยับยั้งไว้ช่วยไม่ให้ทำบาปอกุศล
เพราะฉะนั้น หิริ จึงจัดเป็นธรรมที่เป็นโลกบาลคือเป็นธรรมชาติที่คุ้มครองโลก เมื่อหิริเกิดขึ้นทำให้ละอายต่อบาปจึงไม่กล้าทำบาปทั้งในที่ลับและที่แจ้ง หิริมีความเกลียดต่อบาปเป็นลักษณะ มีการไม่ทำบาปเป็นกิจ มีความละอายต่อบาปเป็นผล มีความเคารพในตนเป็นเหตุใกล้ให้เกิด บุคคลนั้นจึงละอายต่อการทำบาป
บุคคลผู้เกียดกันอกุศลวิตกเสียได้ด้วยความละอาย ท่านกล่าวว่า “น้อยคนจะมีในโลก” คือหาได้ยากนักแล.
สาระธรรมจากอรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ทัณฑวรรค
พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ) วัดสามพระยา กรุงเทพฯ
18/6/65
“บัณฑิตนั้น พึงเป็นผู้มีศีล มีปัญญา และตั้งอยู่ในธรรม” , ถ้าเจอคนแบบนี้ไม่ต้องกลัว ไม่เท่าไรหรอก ? , อาปายิกสูตร , ตาดีได้ ตาร้ายเสีย ? , เหตุเกิดแห่งอกุศลกรรม , การจะไปมาหาสู่เข้าเป็นพวกเดียวกัน หรือคบค้ากัน หรือคบค้าสมาคมกัน , อามิสกับธรรมพระพุทธองค์มักแสดงไว้คู่กันเสมอ , ไม่มีใครที่ไม่เคยทำอะไรผิดเลย , เหตุไฉนผิวพรรณจึงผ่องใส ? , ทุกข์ปรากฎที่ไหนต้องดับที่นั้น , รู้เพื่อละ , การดับทุกข์ได้จริงและถูกต้อง ต้องไม่ทำบาปดับทุกข์ , การใคร่ครวญก่อนแล้วจึงตัดสินใจเป็นการดี , ภิกษุผู้มีชื่อเสียง คือประชาชนรู้จักกันทั่วแล้ว เมื่อจะแนะนำพร่ำสอนผู้อื่นต้องระวังให้มากขึ้นไปอีก , ตราบใดที่ยังหมั่นทำความดีอยู่เสมอ ตราบนั้นชื่อว่ายังมีความหวัง , กรรมที่มีความเบียดเบียน คือกรรมที่ทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน , เกิดเป็นคนควรมีศักดิ์ศรี คือความภูมิใจในตัวเอง
วัดบึงลัฏฐิวัน อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
0 comments: