วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2565

บุคคลหาได้ยาก (๖)

บุคคลหาได้ยาก (๖) 

ทบทวนอีกที   บุคคลหาได้ยาก คือบุพการีกับกตัญญูกตเวที มี ๔ คู่ คือ -

๑ บิดามารดากับบุตรธิดา    ๒ ครูบาอาจารย์กับศิษยานุศิษย์  

๓ พระมหากษัตริย์กับพสกนิกร  ๔ พระพุทธเจ้ากับพุทธศาสนิกชน

คู่ที่ ๔ พระพุทธเจ้ากับพุทธศาสนิกชน ขอปรับแก้เป็น พระพุทธศาสนากับพุทธศาสนิกชน

พระพุทธศาสนามี ๒ ส่วน คือ พระพุทธศาสนาส่วนที่เป็นหลักการ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมเรียกว่า “พระรัตนตรัย” และพระพุทธศาสนาส่วนที่ปรากฏตัวอยู่ในสังคมปัจจุบัน

พระรัตนตรัยมี ๒ ส่วน คือ ส่วนที่เป็นตัวตนของพระรัตนตรัยและส่วนที่เป็นคุณของพระรัตนตรัย

ส่วนที่เป็นคุณของพระรัตนตรัยได้พูดไปแล้ว ขอสรุปเสริมว่า คุณของพระรัตนตรัยเป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกชนพึงระลึกถึงเนืองๆ แล้วพยายามน้อมนำคุณต่างๆ ให้มีให้เจริญขึ้นในตนตามวิสัยสามารถที่จะพึงปฏิบัติได้

ต่อไปนี้จะได้กล่าวถึงส่วนที่เป็นตัวตนของพระรัตนตรัย

“ตัวตนของพระรัตนตรัย” ในที่นี้หมายถึง พระพุทธเจ้าที่เป็นตัวบุคคล พระธรรมที่เป็นตัวคัมภีร์ พระสงฆ์ที่เป็นตัวบุคคล 

พระรัตนตรัยส่วนที่เป็นตัวตนนี้มีเงื่อนแง่บางอย่างที่ค่อนข้างซับซ้อน เพราะเป็นบุคคลและเป็นสิ่งที่มีมาก่อนเราเกิดเป็นเวลาช้านาน หลักฐานที่จะชี้บอกข้อเท็จจริงก็ล่วงกาลผ่านเวลามานาน จึงย่อมจะเลือนรางหรือพร่ามัว ทำให้เกิดข้อเยื้องแย้งถกเถียงกันได้มาก

เวลาจะให้ยืนยันเหตุการณ์บางอย่างในพุทธประวัติ เคยมีคำพูดตลกๆ ว่า-ฉันไม่รู้ ฉันเกิดไม่ทันพระพุทธเจ้า

ถ้าเอาคำนี้เป็นตัวตัดสิน เราทุกวันนี้ก็พูดได้ว่าไม่รู้อะไรเลย เพราะเราล้วนแต่เกิดไม่ทันพระพุทธเจ้ากันทั้งนั้น

แล้วจะทำอย่างไรกัน? 

วิธีทำก็คือ ยึดอะไรสักอย่างหนึ่งที่เรามีอยู่ในมือ ณ วันนี้เป็นหลักไว้ก่อน สำหรับชาวพุทธในเมืองไทย อะไรสักอย่างหนึ่งที่เรามีอยู่ในมือ ณ วันนี้-ที่บอกเล่าถึงเรื่องราวทั้งปวงในพระพุทธศาสนา-ก็คือพระไตรปิฎก และหมายรวมถึงคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง เช่น อรรถกถาฎีกาเป็นต้น

พระไตรปิฎกเป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้หรือไม่ เพียงไร อย่างไร ยกไว้ก่อน ขอให้มองพระไตรปิฎกในฐานะ “หลักฐานที่มีอยู่ในมือ” เพียงสถานะเดียวเท่านี้ก่อน และมองในฐานะเป็นหลักฐานต้นเดิมที่สุดที่เรามีอยู่ ยังไม่พบอะไรที่ดีไปกว่านี้ จึงยังไม่ต้องตีราคาหลักฐาน

เมื่อจับหลักตรงนี้ได้แล้ว ก็มาดูกันว่า ตัวตนตัวตนของพระรัตนตรัยเป็นอย่างไร ชี้เฉพาะที่พระพุทธเจ้าเป็นอันดับแรกก่อน

ลองถามว่า พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลในตำนาน หรือว่าเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์?

บุคคลในตำนาน หมายความว่า พระพุทธเจ้าไม่เคยมีตัวตนอยู่จริง เป็นแต่เพียงเรื่องราวที่มีผู้แต่งขึ้นเท่านั้น

บุคคลในประวัติศาสตร์ หมายความว่า พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลที่เคยเกิดมาและมีชีวิตอยู่ในโลกนี้จริงๆ มีพยานหลักฐานที่สามารถสืบค้นได้

ถ้าพระพุทธเจ้าเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ ก็เริ่มซับซ้อนแล้ว เป็นต้นว่าพระพุทธเจ้าเป็นคนชาติไหน มีถิ่นฐานอยู่ตรงไหนในโลก มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาไหนในประวัติศาสตร์

นักปราชญ์ไทยท่านเก็บความจากพระไตรปิฎกมาเรียบเรียงไว้ คือหนังสือที่เรียกกันว่า “พุทธประวัติ” คนไทยเรียนกันมาตั้งแต่นักธรรมชั้นตรี รู้กันว่า พระพุทธเจ้าเกิดในดินแดนที่มีชื่อว่า “ชมพูทวีป” ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศอินเดีย-เนปาล ชาติตระกูลเป็นกษัตริย์ ออกบวชและบรรลุธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกาศคำสอนของพระองค์ที่เรียกกันในปัจจุบันว่า “พระพุทธศาสนา” ในดินแดนชมพูทวีปนั้น พระพุทธศาสนาแพร่หลายออกไปในถิ่นต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยของเราด้วย ยุคสมัยที่ทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ก็คือประมาณ ๒๖๐๐ ปีที่ล่วงมา

พระพุทธเจ้าที่เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ สรุปสั้นๆ ก็ประมาณนี้

แต่ในคำสรุปสั้นๆ นี่แหละมีคำถามที่ซับซ้อนมากมาย เช่น พระพุทธเจ้าพูดภาษาอะไร พระพุทธเจ้าหน้าตาเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อสัตว์หรือไม่ - เท่าที่นึกได้เพียงแค่นี้ก็เถียงกันไม่รู้จบแล้ว

เวลานี้มีผู้เสนอทฤษฎี หรือจะว่าเป็นหลักฐานใหม่ก็ได้ คือมีผู้เสนอหลักฐานว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ในเมืองไทย สังเวชนียสถานไม่ได้อยู่ที่อินเดีย ฯลฯ 

เกิดเป็นประเด็นที่คงจะเถียงกันไม่รู้จบขึ้นมาอีก 

ดังที่กล่าวแล้วว่า เราทั้งหลายล้วนเกิดไม่ทันพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ปัญหาเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าดังที่เอ่ยมาเป็นตัวอย่างนั้น จึงไม่มีใครรู้ว่าจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร และเพราะไม่มีใครรู้จริงนั่นเองจึงสามารถตั้งทฤษฎีได้หลากหลาย และโยงเข้าหาหลักฐานหลายหลากที่เจ้าของทฤษฎีเชื่อว่าจะต้องเป็น-หรือควรจะเป็น-อย่างที่ตนคิด

แต่ที่เป็นความจริงที่สุดก็คือ ทฤษฎีที่มีมาแล้ว ที่กำลังมีผู้เสนอขึ้นมาใหม่ในบัดนี้ และที่จะมีผู้เสนอขึ้นมาอีกในอนาคต ทุกทฤษฎีไม่มีใครยืนยันได้ว่าผิด เพราะฉะนั้น เจ้าของทฤษฎีจึงสามารถชูทฤษฎีของตนได้ตลอดไปและปลอดภัยตลอดกาล และหมายความว่าสามารถถกเถียงกันได้เรื่อยไปไม่รู้จบ

แล้วผมคิดอย่างไร?

วิธีมองของผมก็คือ การศึกษาสืบค้นหาข้อยุติต่างๆ ในพุทธประวัติหรือประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาล้วนมีประโยชน์ เช่น - ชื่อเมืองชื่อสถานที่ที่กล่าวถึงในพระไตรปิฎก ปัจจุบันอยู่ตรงไหน ชื่อเมืองอะไร

ระยะทางจากเมืองนี้ถึงเมืองนั้น จากเมืองนั้นถึงเมืองโน้น ที่เป็นระยะทางจริงในปัจจุบันนี้ห่างกันกี่กิโลเมตร ทั้งที่เป็นเส้นตรงและที่เป็นเส้นทางเดินทาง ถ้าสำรวจให้ละเอียดได้ทุกพิกัดและบันทึกไว้เป็นหลักฐานจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในเวลาศึกษาเหตุการณ์ในพุทธประวัติ

ที่นึกได้ในขณะเขียนมี ๒ ประเด็นนี้

ประเด็นอื่นๆ เช่น พระพุทธเจ้าพูดภาษาอะไร พระพุทธเจ้าหน้าตาเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ประเทศไหน ฯลฯ ถ้าใครมีเวลา มีความสามารถ มีทุนทรัพย์ มีแรงบันดาลใจ หรือมีความพร้อมด้านใดๆ อีกก็ตามที่จะศึกษาสืบค้นจนได้หลักฐานที่น่าเชื่อ ก็ควรทำ เพราะจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจใคร่รู้ ไม่ว่าจะเพียงเพื่อสนองความอยากรู้ หรือนำความรู้ที่สืบค้นได้มาแปรเปลี่ยนเป็นประโยชน์ในรูปแบบอื่นใดอีกก็สุดแต่จะคิดเห็นและจัดทำกัน พูดรวมๆ ว่าล้วนแต่เป็นประโยชน์แก่โลกทั้งสิ้น

แต่เมื่อเล็งไปที่ประโยชน์เช่นว่านั้นแล้ว ก็ขอได้โปรดอย่าลืมประโยชน์ที่เป็นสาระแท้ๆ ที่มนุษย์ควรจะได้จากพระพุทธศาสนา คืออย่ามุ่งประโยชน์นั้นจนถึงกับทิ้งประโยชน์นี้

ประโยชน์นี้-หรือสาระแท้ๆ ที่มนุษย์ควรจะได้จากพระพุทธศาสนาก็คือ การได้ศึกษาเรียนรู้คุณของพระรัตนตรัย แล้วนำมาประพฤติปฏิบัติขัดเกลาตนเอง จนบรรลุถึงความหลุดพ้นจากสังสารทุกข์ หากไม่ใช่ในช่วงชีวิตนี้ก็ในช่วงชีวิตหน้า นี่คือสิ่งที่มนุษย์ควรจะได้จากการที่มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลก

ลองนึกดู-ตามพุทธประวัติในพระไตรปิฎก หรือโดยอนุมานตามที่ควรจะเป็น เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ย่อมจะมีผู้คนที่ร่วมสมัยได้พบเห็นพระองค์ ได้เห็นว่าพระองค์หน้าตาเป็นอย่างไร ได้ฟังภาษาที่พระองค์ตรัส และได้รู้ข้อเท็จจริงว่าเมืองหรือสถานที่ที่พระองค์ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานคือตรงนี้ๆ โดยไม่ต้องสันนิษฐานคาดเดาเหมือนคนรุ่นเรา บางคนลงทุนบวชในพระพุทธศาสนาเพียงเพื่อจะได้มองได้เห็นพระองค์ตลอดเวลา

แล้วบุคคลร่วมสมัยเหล่านั้น ซึ่งรู้จักตัวตนของพระพุทธเจ้าแจ่มแจ้งทุกแง่ทุกมุม-ดีประเสริฐกว่าคนรุ่นเราไม่รู้ว่ากี่ล้านเท่า คนเหล่านั้นได้ประโยชน์อะไรบ้างจากการรู้จักเช่นนั้น-เมื่อเทียบกับคนที่น้อมนำพระธรรมคำสอนมาปฏิบัติแล้วบรรลุมรรคผลได้ประโยชน์อันอุดมจากพระพุทธศาสนาไปเรียบร้อยแล้ว

แล้วคนรุ่นเราก็กำลังอุทิศเวลาและความพร้อมอื่นๆ เพื่อจะได้รู้จักตัวตนของพระพุทธเจ้าแบบเดียวกับคนร่วมสมัยกับพระองค์ที่รู้จักพระองค์-แค่นั้นเองละหรือ?

(ยังมีต่อ)

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๙ มิถุนายน ๒๕๖๕ , ๑๗:๒๓

บุคคลหาได้ยาก (๑) , บุคคลหาได้ยาก (๒) , บุคคลหาได้ยาก (๓) , บุคคลหาได้ยาก (๔) , บุคคลหาได้ยาก (๕) บุคคลหาได้ยาก (๖) , บุคคลหาได้ยาก (๗) , บุคคลหาได้ยาก (๘) , บุคคลหาได้ยาก (๙) , บุคคลหาได้ยาก (๑๐)




ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ โดย กฤษณะ สุริยกานต์ ,  รวมภาพพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ ทั้งหมด 81 ภาพ วัดพระบาทน้ำพุ , ภาพวาดพุทธประวัติ โดย อ.คำนวน ชานันโท สุดยอด พุทธจิตรกร , พุทธประวัติโดยย่อ , Buddhist Paintings - The Life of the Buddha

Previous Post
Next Post

0 comments: