บุคคลหาได้ยาก (๑๐)-จบ
ผมเขียนเรื่อง “บุคคลหาได้ยาก” ติดต่อกันมา ๙ ตอน โดยยึดเอาบุคคลหาได้ยาก ๔ คู่ ที่ผู้รู้ท่านแสดงไว้เป็นเค้าโครง คือ -
๑ บิดามารดากับบุตรธิดา
๒ ครูบาอาจารย์กับศิษยานุศิษย์
๓ พระมหากษัตริย์กับพสกนิกร
๔ พระพุทธเจ้ากับพุทธศาสนิกชน
เบื้องหลังของบทความชุดนี้ก็คือ เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๖๕ เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินี ผมแต่งกลอนถวายพระพรโพสต์ในเฟซบุ๊ก ตั้งอารมณ์ว่าขอแสดงความจงรักภักดีตามหน้าที่ของพสกนิกรเท่าที่พอจะมีสติปัญญา
เป็นที่รู้กันโดยเปิดเผยว่า เวลานี้มีคนที่แสดงตัวชัดเจนว่า “ไม่เอาสถาบัน” คนที่คิดเช่นนี้ไม่ได้คิดอยู่คนเดียวเงียบๆ แต่ได้เคลื่อนไหวแสดงแนวคิดและชักจูงคนอื่นๆ ให้คิดเหมือนตนด้วย
การคิดเช่นนั้น และแม้แต่การเคลื่อนไหวเช่นว่านั้นหากอยู่ในกรอบขอบเขต ก็ถือว่าเป็นสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่ากัน
แนวคิดและการแสดงความจงรักภักดีดังที่ผมได้กระทำไปด้วยการแต่งกลอนถวายพระพรโพสต์ในเฟซบุ๊ก ก็ถือว่าเป็นสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน และไม่ควรจะ “ว่า” กันด้วยเช่นกัน
แต่ผู้ที่คิดไม่เป็นเห็นไม่ได้ตามแนวเหตุผลดังว่านี้ เมื่อได้เห็นการแสดงความจงรักภักดีเช่นนั้น อาจรู้สึกว่า ผู้ที่แสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันเป็นพวกโง่เง่างมงาย ใช้คำตามที่เคยนิยมใช้กันก็ว่า-พวกไดโนเสาร์ เต่าล้านปี
เหตุผลของคนที่ “ไม่เอาสถาบัน” เท่าที่ฟังมาก็คือ สถาบันไม่มีอะไรที่น่าศรัทธาเลื่อมใส สถาบันไม่มีประโยชน์อะไรอีกแล้ว
ผมก็เลยตั้งคำถามขึ้นในใจว่า การทำหน้าที่ในฐานะกตัญญูกตเวทีจะต้องมีเงื่อนไขด้วยหรือไม่?
คนที่เราจะกตัญญูกตเวทีจะต้องเป็นคนที่น่าศรัทธาเลื่อมใส และเป็นคนที่มีประโยชน์ เราจึงควรจะกตัญญูกตเวที-เช่นนั้นหรือ?
พูดชัดๆ -
พ่อแม่ต้องทำตัวให้ดีก่อน ลูกจึงควรนับถือ ถ้าพ่อแม่ทำตัวไม่ดี ลูกก็ไม่จำเป็นจะต้องนับถือ ครูบาอาจารย์ต้องทำตัวให้ดีก่อน ศิษยานุศิษย์จึงควรนับถือ ถ้าครูบาอาจารย์ทำตัวไม่ดี ศิษยานุศิษย์ก็ไม่จำเป็นจะต้องนับถือ
คนในสถาบันต้องทำตัวให้ดีก่อน พสกนิกรจึงควรนับถือ ถ้าคนในสถาบันทำตัวไม่ดี พสกนิกรก็ไม่จำเป็นจะต้องนับถือ พระสงฆ์ต้องทำตัวให้ดีก่อน พุทธศาสนิกชนจึงควรนับถือ ถ้าพระสงฆ์ทำตัวไม่ดี พุทธศาสนิกชนก็ไม่จำเป็นจะต้องนับถือ เราจะเอากันแบบนี้หรือ?
ตามวิธีคิดของผม ผมไม่ได้คิดแบบนี้ ขอให้ลองคิดในทางกลับกันดู ลูก พอเกิดมาก็จะต้องเป็นคนดี พ่อแม่จึงจะเลี้ยงดูให้เติบใหญ่ ถ้าลูกไม่เป็นคนดี พ่อแม่จะไม่เลี้ยงดู นักเรียนพอฝากตัวเป็นศิษย์ ก็จะต้องเป็นเด็กดี ถ้าเป็นเด็กเกเร ครูบาอาจารย์จะไม่สั่งสอนวิชาความรู้ให้ ประชาชนต้องเป็นคนดีเท่านั้น พระมหากษัตริย์จึงจะบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้
ถ้าเป็นประชาชนที่ไม่ดี พระมหากษัตริย์จะไม่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ พุทธศาสนิกชนต้องเป็นคนดีเท่านั้น พระสงฆ์จึงจะแสดงธรรมบอกทางสวรรค์นิพพานให้
ถ้าพุทธศาสนิกชนเป็นคนไม่ดี พระสงฆ์ก็จะไม่แสดงธรรมโปรด ผู้ที่อยู่ในฐานะเป็นบุพการีเคยตั้งเงื่อนไขแบบนี้บ้างไหม?
ลูกจะเป็นคนเลวอย่างไร พ่อแม่ก็เลี้ยงดูทั้งสิ้น ลูกบางคนโตแล้วฆ่าพ่อฆ่าแม่ พ่อแม่ก็ยังเลี้ยงมาจนโต ศิษย์จะเป็นคนเลวอย่างไร ครูบาอาจารย์ก็สั่งสอนวิชาความรู้ให้ทั้งสิ้น ศิษย์หลายคนคิดล้างครูทำร้ายครู ครูก็ยังเต็มใจสอน
พสกนิกรจะดีจะชั่วอย่างไร พระมหากษัตริย์ก็บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ทั่วหน้า
มีคำกล่าวว่า พระเจ้าแผ่นดินไม่เคยตำหนิประชาชน มีแต่ประชาชนที่ตำหนิพระเจ้าแผ่นดิน
พุทธศาสนิกชนจะเป็นคนชนิดไหน พระสงฆ์ก็มีแต่เมตตาไมตรี แม้แต่คนต่างศาสนาไม่ได้ศรัทธาเลื่อมใสท่านก็ยังมีเมตตา
บุพการีบุคคลท่านไม่เคยตั้งเงื่อนไขเอากับกตัญญูกตเวทีบุคคล
แต่กตัญญูกตเวทีบุคคลกำลังจะตั้งเงื่อนไขเอากับบุพการีบุคคล
วิธีคิดของผมก็คือ ใครเป็นบุพการี (พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ พระมหากษัตริย์ พระพุทธเจ้า > พระสงฆ์) มีหน้าที่อะไร ก็ให้ท่านทำหน้าที่ของท่านไป เป็นเรื่องของท่าน ไม่ใช่ธุระของเราที่จะไปกำหนดกฎเกณฑ์ให้ท่านต้องทำอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนี้ เราจึงจะเคารพนับถือท่าน
ใครอยู่ในฐานะกตัญญูกตเวที (บุตรธิดา ศิษยานุศิษย์ พสกนิกร พุทธศาสนิกชน) มีหน้าที่อะไร ก็ทำหน้าที่ของเราไป เป็นเรื่องของเรา เป็นหน้าที่ของเรา
บุพการีท่านจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไร ท่านจะเป็นอย่างไรหรือไม่เป็นอย่างไร ไม่ต้องยกเอามาเป็นเงื่อนไข เงื่อนไขมีข้อเดียวคือเมื่อท่านอยู่ในฐานะเป็นบุพการีของเรา เราก็ทำหน้าที่ต่อท่าน อย่าให้บกพร่อง เท่านั้นพอ
หลักก็คือ ใครอยู่ในฐานะเป็นบุพการี ใครอยู่ในฐานะเป็นกตัญญูกตเวที ก็ศึกษาเรียนรู้หน้าที่ของตนให้เข้าใจ แล้วทำหน้าที่ของตนให้ดี อย่าให้บกพร่อง
หากเห็นว่าฝ่ายใดบกพร่องด้วยประการใดๆ ก็ทักท้วงเตือนติงกันเมตตาไมตรี หวังดีหวังเจริญต่อกัน ไม่ใช่เห็นกันเป็นศัตรูคู่อริที่จะต้องเหยียบกันให้แหลกไปข้างหนึ่ง
ผมเชื่อว่า ถ้าทุกฝ่ายดำรงอยู่ในหลักเช่นนี้อย่างมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างกันก็จะดำเนินไปอย่างราบรื่นสงบสุข
แง่คิดปิดท้ายในเรื่องนี้อยู่ที่คำว่า “หาได้ยาก” นั่นเอง
ในคัมภีร์อรรถกถาท่านขยายความว่า --
บุพการีบุคคลหาได้ยาก เพราะถูก “ตัณหา” ครอบงำ หมายความว่า คนไม่อยากบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นก็เพราะยังอยากที่จะทำอะไรเพื่อตัวเองมากกว่า เมื่ออยากทำเพื่อตัวเองก็ยากที่จะทำเพื่อผู้อื่น
ส่วนกตัญญูกตเวทีบุคคลหาได้ยาก เพราะถูก “อวิชชา” ครอบงำ หมายความว่า คนส่วนมากคิดไม่เป็นเห็นไม่ได้ว่าตนได้รับประโยชน์ในชีวิตมาจากใคร เมื่อคิดไม่ได้ก็ยากที่จะกตัญญูกตเวที
คำว่า “หาได้ยาก” จึงเป็นคำที่ท้าทายพอสมควรทีเดียว
ท่านบอกว่า หาได้ยาก ไม่ใช่หาไม่ได้ หาได้ แต่ยาก
ท้าทายตรงที่-เราจะเป็นคนแบบไหน เป็นคนที่หาได้ง่าย หรือเป็นคนที่หาได้ยาก เป็นคนที่หาได้ง่าย ก็ไม่ต้องทำอะไร ลอยตามน้ำไปวันๆ เหมือนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ไม่ใช่คน
เป็นคนที่หาได้ยาก ก็ลุกขึ้นมาทำหน้าที่ของคน-คือหน้าที่ของผู้ที่มีบุญที่ได้เกิดมาเป็น “คน” เมื่อถึงเวลาควรจะทำประโยชน์ให้แก่โลก ก็ตั้งใจทำ นั่นคือหน้าที่ของบุพการี
เมื่อถึงเวลาควรจะแทนคุณให้แก่โลก ก็ตั้งใจทำ นั่นคือหน้าที่ของกตัญญูกตเวที ทำได้ดังนี้ บุคคลหาได้ยากก็หาได้ไม่ยาก เพราะอยู่ในตัวของเรานี่เอง
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๕ , ๑๙:๑๑
บุคคลหาได้ยาก (๑) , บุคคลหาได้ยาก (๒) , บุคคลหาได้ยาก (๓) , บุคคลหาได้ยาก (๔) , บุคคลหาได้ยาก (๕) , บุคคลหาได้ยาก (๖) , บุคคลหาได้ยาก (๗) , บุคคลหาได้ยาก (๘) , บุคคลหาได้ยาก (๙) , บุคคลหาได้ยาก (๑๐)
0 comments: