บุคคลหาได้ยาก (๔)
บุพการีกับกตัญญูกตเวทีคู่ที่ ๔ คือ พระพุทธเจ้ากับพุทธศาสนิกชน
คู่นี้จะว่าเรื่องใหญ่ก็ได้ เพราะเป็นเรื่องสำคัญระดับโลก จะว่าเป็นเรื่องเล็กก็ได้ เพราะเราแทบจะไม่ได้ระลึกถึงความสำคัญ เพื่อให้เข้าใจชัดขึ้น ผมขอปรับวิธีคิดใหม่ คือขอเปลี่ยนคำว่า “พระพุทธเจ้า” มาเป็น “พระพุทธศาสนา”
เรื่องที่จะว่าต่อไปนี้คือเรื่อง พระพุทธศาสนากับพุทธศาสนิกชน
ขอให้เริ่มด้วยการมอง “พระพุทธศาสนา” เป็น ๒ ส่วน คือ พระพุทธศาสนาส่วนที่เป็นหลักการ และพระพุทธศาสนาส่วนที่ปรากฏตัวอยู่ในสังคมปัจจุบัน
พระพุทธศาสนาส่วนที่เป็นหลักการ หมายถึงองค์ประกอบของพระพุทธศาสนา ๓ ส่วน คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมเรียกว่า “พระรัตนตรัย”
พระรัตนตรัยมี ๒ ส่วน คือส่วนที่เป็นรูปกับส่วนที่เป็นนาม ส่วนที่เป็นรูปเช่น พระพุทธเจ้าที่เป็นตัวบุคคล ส่วนที่เป็นนามคือคุณลักษณะหรือคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า คือที่ท่านเรียกว่าพระพุทธคุณ
พระรัตนตรัย ๒ ส่วน เรียกง่ายๆ ว่า ตัวตนของพระรัตนตรัยและคุณของพระรัตนตรัย หน้าที่ของพุทธศาสนิกชนคือศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจพระรัตนตรัยทั้ง ๒ ส่วนนี้อย่างถูกต้อง
ข้อบกพร่องอย่างยิ่งของพุทธศาสนิกชนทุกวันนี้ก็คือ ไม่ศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจถูกต้องว่าพระรัตนตรัยคืออะไร ผลก็คือเข้าใจพระรัตนตรัยผิดๆ กันทั่วไปหมด
เหตุผลที่อ้างในการไม่ศึกษาก็คือ เห็นว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน เห็นว่าเป็นเรื่องของคนที่มีเวลา ข้าพเจ้าไม่มีเวลาเพราะต้องทำมาหากิน และเห็นว่าเป็นเรื่องศรัทธาส่วนบุคคล ใครมีศรัทธาก็ศึกษาเรียนรู้ไปตามอัธยาศัย ใครยังไม่มีศรัทธาก็ไม่ต้องศึกษา ไม่ควรบังคับกะเกณฑ์
การที่ตัดวิชาพระพุทธศาสนาออกจากหลักสูตรการศึกษาของชาติก็อ้างเหตุผลแบบนี้
ความจริง พระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันหรือในชีวิตจริง เมื่อไม่ศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจถูกต้อง เวลาไปสัมผัสพบเห็นอะไรที่มาในนาม “พระพุทธศาสนา” ก็จะไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ตนพบเห็นนั้นคือพระพุทธศาสนาหรือคืออะไรกันแน่ เป็นเหตุให้เกิดการเข้าใจผิด ยึดถือผิด หรือเชื่อผิด นำไปสู่การตกเป็นเครื่องมือหรือเป็นเหยื่อได้โดยง่าย
และที่เป็นอันตรายที่สุดก็คือ การยึดยืนยันว่า สิ่งที่ตนเชื่อและเข้าใจนี่แหละคือพระพุทธศาสนา หรือไม่ก็สร้างทฤษฎีขึ้นใหม่ว่า พระพุทธศาสนาควรเป็นและเป็นไปแบบที่ตนกำลังทำให้เป็นไปนี่แหละจึงจะถูกต้องหรือเหมาะสมกับยุคสมัย
ต่อไปนี้จะได้กล่าวถึงพระพุทธศาสนาส่วนที่เป็นคุณของพระรัตนตรัยก่อน เพราะเป็นส่วนที่เข้าใจง่ายเนื่องจากท่านแสดงไว้ชัดเจน ส่วนพระพุทธศาสนาส่วนที่เป็นตัวตนของพระรัตนตรัยมีเงื่อนแง่บางอย่างที่ค่อนข้างซับซ้อน จะได้พูดถึงในตอนหลัง
คุณของพระรัตนตรัยตามบทสวดที่มีมาในพระไตรปิฎก (เช่นมหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๘๙ หน้า ๑๑๑ เป็นต้น) และคำแปลที่นิยมท่องบ่นกันแพร่หลายซึ่งเป็นคำแปลจากหนังสือของสำนักสวนโมกข์ มีดังนี้
พระพุทธคุณ
อิติปิ โส ภะคะวา เพราะเหตุอย่างนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
อะระหัง เป็นผู้ไกลจากกิเลส
สัมมาสัมพุทโธ เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
วิชชาจะระณะสัมปันโน เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
สุคะโต เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี
โลกะวิทู เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง
อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า
สัตถา เทวะมะนุสสานัง เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
พุทโธ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม
ภะคะวาติ. เป็นผู้มีความจำเริญจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ดังนี้.
พระธรรมคุณ
ส๎วากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม พระธรรมเป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว
สันทิฏฐิโก เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง
อะกาลิโก เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล
เอหิปัสสิโก เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่าท่านจงมาดูเถิด
โอปะนะยิโก เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ. เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน ดังนี้.
พระสังฆคุณ
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าปฏิบัติดีแล้ว
อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าปฏิบัติตรงแล้ว
ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว
สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าปฏิบัติสมควรแล้ว
ยะทิทัง ได้แก่บุคคลเหล่านี้ คือ
จัตตาริ ปุริสะยุคานิ คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่
อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ
เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ นั่นแหละสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
อาหุเนยโย เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา
ปาหุเนยโย เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ
ทักขิเณยโย เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน
อัญชะลีกะระณีโย เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี
อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ. เป็นเนื้อนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้.
(ยังมีต่อ)
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๗ มิถุนายน ๒๕๖๕ , ๑๗:๐๗
บุคคลหาได้ยาก (๑) , บุคคลหาได้ยาก (๒) , บุคคลหาได้ยาก (๓) , บุคคลหาได้ยาก (๔) , บุคคลหาได้ยาก (๕) , บุคคลหาได้ยาก (๖) , บุคคลหาได้ยาก (๗) , บุคคลหาได้ยาก (๘) , บุคคลหาได้ยาก (๙) , บุคคลหาได้ยาก (๑๐)
ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ โดย กฤษณะ สุริยกานต์ , รวมภาพพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ ทั้งหมด 81 ภาพ วัดพระบาทน้ำพุ , ภาพวาดพุทธประวัติ โดย อ.คำนวน ชานันโท สุดยอด พุทธจิตรกร , พุทธประวัติโดยย่อ , Buddhist Paintings - The Life of the Buddha
0 comments: