วันอังคารที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

นายช่างศร

นำเอาไม้ไผ่ลำหนึ่งมาจากป่าแล้ว  ทำไม่ให้มีเปลือก (ปอกเปลือกออก)  แล้วทาด้วยน้ำข้าวและน้ำมัน ลนที่ถ่านเพลิง  ดัดที่ง่ามไม้ทำให้หายคดคือให้ตรง  ทำให้เป็นลูกศรควรที่จะยิงสัตว์ได้  ก็แลครั้นทำแล้ว   จึงแสดงศิลปะแด่พระราชาและราชมหาอำมาตย์  ย่อมได้สักการะและความนับถือเป็นอันมาก ชื่อฉันใด

บุรุษผู้มีปัญญา คือผู้ฉลาด ผู้รู้แจ้ง ก็ฉันนั้นเหมือนกัน  ทำจิตนี้อันมีสภาพดิ้นรนเป็นต้น  ให้หมดเปลือก คือ ให้ปราศจากกิเลสที่หยาบด้วยอำนาจธุดงค์และการอยู่ในป่า  แล้วชโลมด้วยยางคือศรัทธา  ลนด้วยความเพียรอันเป็นไปทางกายและเป็นไปทางจิต  ดัดที่ง่ามคือสมถะและวิปัสสนาทำให้ตรงคือมิให้คดได้แก่ให้สิ้นพยศ  ครั้นทำแล้ว  หมั่นพิจารณาสังขารทั้งหลาย  ทำลายกองอวิชชาใหญ่ได้แล้ว  ทำคุณวิเศษนี้ คือ

วิชชา ๓  อภิญญา ๖  โลกุตรธรรม ๙  ให้อยู่ในเงื้อมมือทีเดียว  ย่อมได้ความเป็นทักขิไณยบุคคลผู้เลิศ ดังนี้ ฯ

ดังพระพุทธพจน์ว่า

ผนฺทนํ จปลํ จิตฺตํ     ทุรกฺขํ ทุนฺนิวารยํ
อุชุํ กโรติ เมธาวี       อุสุกาโรว เตชนํ
วาริโชว ถเล ขิตฺโต    โอกโมกตอุพฺภโต
ปริผนฺทติทํ จิตฺตํ       มารเธยฺยํ ปหาตเวติ ฯ

แปลว่า

“ชนผู้มีปัญญาย่อมทำจิตที่ดิ้นรน กลับกลอก อันบุคคลรักษาได้ยาก ห้ามได้ยาก ให้ตรง ดุจช่างศรดัดลูกศรให้ตรงฉะนั้น

จิตนี้ (อันพระโยคาจรยกขึ้นจากอาลัย คือกามคุณ ๕ แล้วซัดไปในวิปัสสนากัมมัฏฐาน) เพื่อละบ่วงมาร ย่อมดิ้นรน ดุจปลาอันพรานเบ็ด ยกขึ้นจาก (ที่อยู่) คือน้ำ แล้วโยนไปบนบก ดิ้นรนอยู่ฉะนั้น” ดังนี้ ฯ

สาระธรรมจากอรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท จิตตวรรค (เรื่องพระเมฆิยเถระ)

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ) วัดสามพระยา กรุงเทพ ฯ



Previous Post
Next Post

0 comments: