ขันธ์ ๕ เป็นตัวทุกข์
ไม่มีความทุกข์ใดเช่นกับทุกข์เพราะการบริหารขันธ์ ๕ เพราะขันธ์ ๕ นั้นเราต้องรักษา ต้องดูแล ต้องปกครอง ต้องดำเนินการ ?
๑. ต้องรักษา ด้วยการเลี้ยงดูให้กิน ให้ดื่ม ถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ หรือด้วยการออกกำลังกายบ้าง
๒. ต้องดูแล ด้วยการเอาใจใส่ ปกปักรักษา ให้อาบน้ำ ทาผิว บำรุงกำลังด้วยอาหารและยาต่างๆ และเมื่อเสื่อมก็ต้องดูแลเยียวยารักษาให้ดี
๓. ต้องปกครอง ด้วยการมีวินัยในการใช้ชีวิต ทำอย่างไรจึงจะหาทรัพย์มีเลี้ยงชีวิตนี้ได้ ได้ทรัพย์มาแล้วจะใช้จ่ายแต่ละครั้งก็ต้องมีวินัยในการใช้จ่ายรู้จักเผื่อเหลือเผื่อขาด มีวินัยในการใช้ชีวิตที่ต้องเกี่ยวข้องเกี่ยวพันธ์กับคนรอบข้างและคนอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากต้องรู้จักเลือกคบคน และจะทำอย่างไรเมื่อชีวิตจนตรอก เพราะเวลามีสุขอาจจะเพลิดเพลินกับลาภยศ แต่เมื่อหมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างบางคนอาจต้องจบชีวิต แต่ทำอย่างไรเราจึงจะยืนอยู่ได้ไปจนตลอดชีวิต นั่นคือรู้จักความพอเพียงตั้งแต่เริ่มต้นชีวิต อย่าได้ประมาทในการใช้ชีวิต
๔. ต้องดำเนินการ ด้วยการทำให้เป็นไป คือทำตามที่รู้ว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวทุกข์ จึงต้องคิดทำประโยชน์คุณที่จะเป็นเหตุให้มีความสุขในภพหน้าชาติหน้าต่อไป หรือเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด คือความมีใจเป็นอิสระ ความมีจิตหลุดพ้นจากการถูกบังคับบงการชีวิตด้วยอำนาจของความอยากได้ อยากมี อยากเป็น จนมีจิตใจปลอดโปร่งผ่องใสเบิกบานอยู่เป็นพื้นฐานเพราะปราศจากกิเลส คือนิพพาน
ดังพระพุทธพจน์ว่า
นตฺถิ ราคสโม อคฺคิ นตฺถิ โทสสโม กลิ
นตฺถิ ขนฺธาทิสา ทุกฺขา นตฺถิ สนฺติปรํ สุขนฺติ ฯ
แปลว่า
“ไฟเสมอด้วยราคะ ย่อมไม่มี, โทษเสมอด้วยโทสะ ย่อมไม่มี, ทุกข์ทั้งหลายเสมอด้วยขันธ์ ย่อมไม่มี, สุขอื่นจากความสงบ ย่อมไม่มี” ดังนี้ ฯ
ท่านอรรถาธิบายไว้ว่า
“ไฟอื่นที่เสมอด้วยราคะ ย่อมไม่มี เพราะไฟราคะสามารถที่จะไม่แสดงควัน เปลว หรือถ่านออกมาให้ปรากฏ แต่ไหม้ในจิตใจภายในเท่านั้นแล้วจึงกระทำกองเถ้าให้ปรากฏ
แม้โทษที่เสมอด้วยโทสะก็ย่อมไม่มี เพราะโทสะประทุษร้ายทั้งตนเองและผู้อื่น
ส่วนทุกข์ที่เสมอด้วยขันธ์ทั้งหลาย ย่อมไม่มี เพราะขันธ์ทั้งหลายแม้ที่บุคคลบริหารอยู่ด้วยการดูแลรักษาปกครองดำเนินการอย่างดีแต่ก็เป็นทุกข์ได้ในกาลทุกเมื่อ ด้วยทุกข์ประจำสังขารคือความเกิดแก่เจ็บตายอันไม่มีผู้ใดหนี้พ้น
ดังนั้น สุขอื่นยิ่งกว่าพระนิพพาน ย่อมไม่มี, แม้ความจริงแล้ว สุขอย่างอื่นก็เป็นสุขเหมือนกัน แต่พระนิพพานเป็นบรมสุข” ดังนี้ ฯ
สาระธรรมจากอรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท สุขวรรค (เรื่องเด็กหญิงแห่งตระกูลคนใดคนหนึ่ง)
พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ) วัดสามพระยา กรุงเทพ ฯ
0 comments: