วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2565

การฝึกวาจา

การพูดเป็นการแสดงถึงหลายอย่างในตัวคน เช่น แสดงถึงนิสัย อุปนิสัย อัธยาศัย และการศึกษาอบรม

นิสัย คือ การกระทำจนเคยชิน  คนที่พูดคำอย่างใด  มาจนเคยชินเสียแล้ว ย่อมพูดคำอย่างนั้นได้ง่าย

อุปนิสัย คือ ความโน้มเอียง คนมีความโน้มเอียงไปอย่างใด ย่อมชอบพูดถึงเรื่องนั้นอยู่เสมอ รู้สึกมีความสุขที่ได้พูดเรื่องอย่างนั้น

อัธยาศัย คือ ความหยาบ หรือ ความประณีตของจิตใจ  พื้นเพของจิตใจ คนมีอัธยาศัยหยาบ  ชอบทำอะไรหยาบ พูดหยาบ  คนมีอัธยาศัยประณีต ทำอะไรประณีต  ไม่พูดหยาบ การศึกษาอบรม คือการได้เรียนรู้และได้เห็นผลของการปฏิบัติตามความรู้นั้น

การเรียนรู้อย่างเดียว ยังไม่เคยได้ปฏิบัติตามให้เห็นผล เรียกว่าการศึกษา ได้ทั้งการเรียนรู้และการปฏิบัติตาม จนเห็นผลเรียกว่า การศึกษาอบรม  มีแต่การอบรมอย่างเดียว  ดีกว่าการศึกษาที่ขาดการอบรม  เพราะการอบรมเป็นทั้งการศึกษา และการอบรมอยู่ในตัว

ด้วยเหตุที่ วาจาเป็นเครื่องส่อหลายอย่าง  ในตัวคนดังกล่าวมานี้  จึงควรฝึกวาจาให้ดี ให้งาม  พระพุทธองค์ทรงสอนให้ละเว้นวจีทุจริต  คือ พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ  พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล แล้วประกอบตนอยู่ในวจีสุจริต  คือ พูดจริง พูดอ่อนหวาน  พูดสมานสามัคคี และพูดมีประโยชน์

นอกจากนี้ ควรรู้จักกาลที่ควรพูด หรือไม่ควรพูด บุคคลเช่นใด ควรใช้วาจาเช่นใด  ในสมาคมใด ควรพูดอย่างไร ไม่พูดอวดตนจนเกินงาม ไม่พูดข่มผู้อื่นโดยไม่มีเหตุเพียงพอ ไม่พูดชวนทะเลาะวิวาท  ไม่พูดเสียงดังเกินควรในขณะรับประทานอาหาร  หรือพูดเสียงดังจนเป็นที่รบกวนผู้อื่น  ที่ต้องการความสงบ ไม่พูดวาจาเยาะเย้ยถากถาง หรือเสียดสีผู้อื่นให้เจ็บอายในที่สาธารณชน  ไม่พูดขณะมีคำข้าวอยู่ในปาก  

ถ้าจำเป็นต้องพูดก็เอามือปิดปากไว้ไม่ให้คนอื่นเห็นคำข้าวในปาก  ไม่พูดดูหมิ่นใครว่าสู้ตนไม่ได้  ไม่พูดยกย่องคนที่ควรตำหนิ และ  ไม่พูดตำหนิคนที่ควรยกย่อง  ไม่พูดเหลวไหลจนไม่มีใครเชื่อถือถ้อยคำ   ไม่พูดตำหนิมิตรแท้ หรือเพื่อรักของตน ให้ใครฟัง ไม่ด่าว่ามารดาบิดา  ในเชิงประจานความชั่วให้คนอื่นเห็น ไม่พูดเรื่องโสโครกสกปรกในวงอาหาร  ไม่นำเรื่องการได้-เสียหลับนอนกับหญิงคนรักของตน  มาเปิดเผยให้ใครทราบ ไม่พูดคำหยาบโลน  ถ้าจำเป็นต้องพูดก็เลี่ยงหาคำอื่นแทน ฯลฯ

ในทางตรงข้าม ควรพูดถ่อมตน  ถ้าจำเป็นต้องอ้างถึงคุณของตนบ้างก็พูดแต่พองาม  และควรตั้งจิตมุ่งประโยชน์แก่ผู้ฟังว่า  ด้วยการพูดอย่างนี้ เขาจะได้สติ  ได้ตัวอย่างที่ดี เช่นที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำ  ควรพูดยกย่องให้เกียรติผู้อื่น  ตามควรแก่คุณธรรมความดี  หรือความสามารถของเขาทั้งต่อหน้าและลับหลังควรพูดคำอันก่อให้เกิดความสนิทสนม  รักใคร่สามัคคีมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต  

พูดเสียงพอประมาณในขณะรับประทานอาหาร (ถ้าจำเป็นต้องพูด)  ไม่ทำเสียงรบกวนคนใกล้เคียง  พูดให้ผู้อื่นมีความภาคภูมิใจในตัวเอง  ให้มีกำลังใจในการละเว้นความชั่ว ประพฤติความดี  พูดยกย่องคนที่ควรยกย่อง ตำหนิคนที่ควรตำหนิ  พูดจามีเหตุมีผลมีหลักฐานเป็นที่เชื่อถือได้  พูดยกย่องคุณของมิตรหรือเพื่อนรักให้ปรากฏแก่ผู้อื่น  ยกย่องสรรเสริญพระคุณของมารดาบิดา  และผู้มีพระคุณอื่นๆเท่าที่พอจะหาได้  มีปกติประกาศเกียรติคุณแห่งผู้มีอุปการะต่อตน  พูดด้วยดวงจิตมีเมตตากรุณา  พูดด้วยความจริงใจด้วยการไม่ดูหมิ่นผู้อื่นว่ารู้ไม่เท่าตน  (การพูดด้วยไม่จริงใจนั้นเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นว่า รู้ไม่เท่าตน)  เมื่อเขาจับได้ภายหลังก็หมดความเชื่อถือ ฯลฯ

บางคนบุคลิกดี แต่พูดจาไม่มีเสน่ห์เลย  บางคนบุคลิกไม่สู้ดีนัก แต่ใครได้ฟังพูดก็อดรักไม่ได้  น้ำเสียงของเขานุ่มนวลประโยคคำพูดสลวย  ออกมาจากน้ำใจที่งามด้วยเมตตาปรานี  ถ้าเป็นเด็กก็น่ารัก เป็นผู้ใหญ่ก็น่าเคารพนับถือ

คำพูดของสุนทรภู่ ที่ว่า

"อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก  แต่ลมปากหวานหูมิรู้หาย" นั้น ยังเป็นความจริงอยู่เสมอ แต่ต้องออกมาจากใจจริง

ดังกล่าวมานี้ เป็นการฝึกวาจาให้งาม

ธรรมบทแห่งความดี เล่มที่ ๒, เพจอาจารย์วศิน อินทสระ,  ท่านอาจารย์วศิน อินทสร

บทความเพิ่มเติม👉 ความถ่อมตนความจำเป็นตามกาล , ธรรมเป็นเหตุให้ยศเจริญ , ความแปรปรวนของชีวิตเป็นธรรมดา










Previous Post
Next Post

0 comments: