สัจจธรรมความจริง
เอ้า...วันนี้เป็นวันพระ ซึ่งนับเนื่องมาจากองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าวันนี้เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพุทธศาสนา ซึ่งเป็นวันที่พวกชาวพุทธเราจะมาทำความเข้าใจกันในธรรมะ ซึ่งทำให้เกิดประโยชน์แก่พุทธบริษัททั้งหลาย ธรรมะซึ่งเป็น สัจธรรมนำจิตใจของประชาชนชาวพุทธทั้งหลายนั้นให้ลุถึง ซึ่งความสงบ ให้รู้จักดีชั่ว บาปบุญคุณโทษ พอที่จะรักษาตัว ได้ในชีวิตที่เป็นอยู่
ความเป็นจริงนั้น วันพระทุกวันนี้ เกือบจะไม่มีเป็น วันพระ เพราะว่าคนเราไม่สนใจ ไม่ยอมรับธรรมะคำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ได้ยินอยู่...แต่ ไม่รู้ รู้อยู่...แต่ว่าไม่เห็น เห็น...แต่ว่ามันไม่รู้ ก็หมายความว่า มันทั้งไม่รู้ ทั้งไม่เห็น ...ที่ว่าเห็น... เห็นอะไร?...เห็น ความจริง เห็นสัจธรรม ความเป็นจริง
อันความจริงนั้น จะทำอยู่คนเดียว...มันก็จริง ทำ หลายคน...มันก็จริง เราทำไอ้ที่มันจริง แล้วคนอื่นว่ามันไม่จริง มันก็เป็นของจริง อันนั้นเรียกว่า “ของจริง” ไปทำอยู่บนอากาศ มันก็เป็นความจริง มันจะไปทำอยู่ในน้ำ มันก็เป็นความจริง ทำอยู่บนบก มันก็เป็นความจริง
มิฉะนั้น พระพุทธเจ้าของเรา ท่านจึงว่า ธรรมะนั้นมันเป็นความจริง จริงทุกกาล ทุกเวลา ที่ผ่านมาแล้วตั้งแต่วานนี้ มันก็เป็นความจริง ในปัจจุบันนี้มันก็เป็นความจริง อนาคต มันก็ยังเป็นความจริง หมายความว่า เราทำความผิด แม้ ไม่มีใครเห็น มันก็ยังเป็นความจริง เราทำความถูกอยู่ ไม่มี ใครเห็น มันก็เป็นความจริง ฉะนั้นคนเราเมื่อจะทำความดี นั้นล่ะ ไม่ต้องให้คนอื่นเห็น บางคนทำคุณงามความดี ก็ อยากให้คนอื่นเห็น ให้คนอื่นเป็นพยาน เราจึงจะดีอกดีใจ อันนั้นก็ดีอยู่ แต่ว่ามันยังไม่จริง ไม่บรรลุถึงความจริง
ไอ้ความจริงนั้น เราจะไปลอบทำความชั่วอยู่คนเดียว มันก็ชั่วอยู่นั่นแหละ ทำความดีอยู่คนเดียว ไม่มีใครเห็น มัน ก็ยังดีอยู่นั่นเองแหละ มันเป็นอย่างนี้ ไม่ต้องว่า...เราทำความชั่ว คนอื่นเห็นแล้วมันเพิ่มชั่วขึ้นอีก ไม่ใช่อย่างนั้น เมื่อเราทำ ความดีจริง ถ้าคนอื่นเห็น มันดีขึ้นอีก...มันไม่เป็นอย่างนั้น
อันนี้ถ้าหากว่า ความดีที่เราทั้งหลายประพฤติปฏิบัติแล้ว ฉะนั้น มันจึงปราศจากซึ่งลาภหรือยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ ไม่มีที่ลับ ทำดีมันได้ดี ทำชั่วมันได้ชั่ว อันนี้มัน เป็นความจริง แม้พระพุทธองค์ท่านตรัสอยู่อย่างนั้น ท่านทำความดี ท่านละความชั่ว ท่านออกไปบำเพ็ญ ท่านนั่งหลับหูหลับตา ที่ไหนไกลรูป เสียง กลิ่น รส ท่านก็ยังมีความดี สาวกทั้งหลายก็เป็นอย่างนั้น
แต่ว่าคนเราทุกวันนี้จิตใจไม่แน่นอน ไม่มีศรัทธาอย่าง เป็นจริง ทำอะไรที่เป็นความดี อยากจะให้คนเห็น ถ้าคนไม่เห็นแล้วก็ไม่ค่อยสบายใจ...อย่างนี้ ทำความชั่วก็เหมือนกัน ไม่ให้ คนเห็น ถ้าคนเห็นแล้ว ดูเหมือนมันเป็นยังไงก็ไม่รู้ ทำความชั่ว ที่คนไม่เห็นน่ะ มันดี อย่างนี้
ไอ้ความเป็นขโมยในตัวของเราอย่างนี้ ตลอดกาล ตลอดเวลานั้น คนเราจึงไม่พบความจริง คือธรรมะ ความ เป็นจริงธรรมะนั้นมันมาตกลงอยู่ที่จิตของเรา อย่างการกระทำ บุญน่ะ กระทำบุญอยู่ทุกขั้นทุกส่วนนั้นน่ะ เพื่อให้จิตเราเป็น บุญ ถึงคนอื่นไม่เห็นมันก็เป็นบุญ คือความเห็นชอบอยู่ตรงที่จิตใจของเรา การทำบุญทั้งหมดนั้นต้องการให้จิตเรามัน เป็นบุญ ถ้าจิตเรามันเป็นบุญแล้ว อยู่ที่ไหน ทำบุญที่ไหน บุญ มันจะเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ไม่ต้องฉลอง ไม่ต้องให้คนรู้ ไม่ต้องให้คนเห็น ไม่ต้องมีอะไรไปเพิ่มเติมมันเถอะ ก็กำลังจิตใจเรา เชื่อมั่นในความดีแล้ว เราก็ทำไปเท่านั้นแหละ
ฉะนั้น พระอริยะทั้งหลาย ท่านถึงทำความงาม คุณงามความดีของท่านน่ะอยู่ที่ไหน ท่านก็ทำของท่าน ใครจะว่าไม่ดีสักแค่ไหน มันก็ดีอยู่นั่นแหละ บางสิ่งที่มันไม่ดี เราว่าดีอยู่แค่ไหนมันก็ไม่ดีอยู่แค่นั้น อันนี้ก็เป็นเหตุอันหนึ่ง ที่จะ ให้เราทั้งหลายทำความเข้าใจในธรรมะ ถ้าเราเข้าใจธรรมะ มันเป็นอย่างนี้ เราก็ไม่ต้องส่งจิตใจเราออกไปข้างนอก เรา อยู่ข้างในของเรา ทำจิตให้มันเป็นบุญ เช่น แสวงหาบุญ นอกใจของเจ้าของ มันก็ลำบาก นั่งรถ นั่งเรือ วิ่งไปวิ่งมา ตลอดกาล ตลอดเวลา
อย่างญาติโยมของเรา มาทำบุญกันนั่นน่ะ ไป ทอดกฐินตรงนั้น ไปทอดผ้าป่าอยู่ตรงนั้น ไม่ค่อยได้ฟังธรรมหรอก พอไปนั่งกราบพระ รีบจะไปแล้ว...มารถเขา เช่ารถเขามา ก็เลยรีบนั่งแล้วก็รีบลุก ลุกแล้วก็รีบเดิน เดินแล้วก็รีบวิ่ง รีบไปรีบมา ก็ได้แต่รีบเท่านั้นแหละ ไม่ได้อะไรเป็นสาระ ประโยชน์ในด้านจิตใจของเรา อันนี้คือคนเราวิ่งหาบุญ บุญ กุศลแท้ๆน่ะไม่อื่นไกลหรอก ในหลักพุทธศาสนา...พระพุทธหนึ่ง พระธรรมหนึ่ง พระสงฆ์หนึ่ง เมื่อทุกคนมาทำจิตใจให้เชื่อมั่นในพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างแน่นแฟ้นแล้วเท่านั้นน่ะ มันก็ไม่ตกนรกแล้วไม่ต้องอื่นไกลหรอก เชื่อมั่น...ไม่งมงาย อันนี้เป็นหลักที่สำคัญ
สมัยนี้เราชาวพุทธทั้งหลายนั้น มันเป็นของยาก เป็น ของลำบาก ถึงแม้จะทำบุญ ถึงแม้จะฟังธรรม ถึงแม้จะสร้าง คุณงามความดี...จะต้องให้คนอื่นบังคับ คือถ้าคนอื่นไม่บังคับ ไม่จับมือ ก็ไม่ทำ ไม่ยอมทำ ไม่กล้าทำ คิดเช่นนั้นธรรมะที่ แท้จริงจึงไม่เห็น เราจึงไม่เห็นธรรมในจิตใจของเราเอง ดังนั้น จิตใจของเรานี้ เราพินิจพิจารณาดูแล้ว มันไม่อยู่ที่อื่นหรอก บุญบาปมันอยู่ที่จิตใจของเราเอง
ฉะนั้น พระพุทธองค์ท่านจึงเน้นให้ค้นจิตของเรานั้นกับธรรมะ จิตเราไม่ได้ฝึก เราจะไปเชื่อจิตของเราอย่างเดียว ว่าเราชอบอย่างนี้ ว่ามันดี บางทีมันก็ชอบอันผิดๆ นั่นว่าดี แต่ว่ามันดีเฉพาะใจของเรา แต่ว่าความจริงแล้วมันขาดจากธรรมะ มันเป็นของไม่จริงโดยสัจธรรม
ฉะนั้น ต้องเอาจิตของตนน้อมเข้าไปสู่ธรรมะ อย่า ดึงธรรมะเข้ามาสู่จิตของเรา เราต้องดึงจิตของเราเข้าไปสู่ธรรมะ ผู้น้อยต้องน้อมเข้าไปหาผู้ใหญ่ ไม่ต้องให้ผู้ใหญ่น้อมมาหาผู้น้อย เราเป็นสาวกของพระพุทธองค์ จะต้องน้อมเข้าสู่พระพุทธเจ้าของเรา ไม่ใช่ให้พระพุทธเจ้าน้อมมาสู่สาวก
อย่างนี้มันเป็นธรรมเนียมมาแต่ดึกดำบรรพ์มาแล้ว ธรรมะก็ดีเป็นสิ่งที่สูงสุด พวกเรานี้มันเป็นคนที่ไกลจากธรรมะ เราอยากจะเห็นธรรมะ เราไม่ควรดึงธรรมะมาใส่ใจเรา ไม่ให้ ธรรมะน้อมใส่ใจเรา ให้ใจเราน้อมเข้าไปหาธรรมะ เพราะ ธรรมะมันเป็นสัจธรรม จิตใจเรามันไม่เป็น เมื่อจิตใจเรามัน ยังไม่ได้ฝึกฝนให้มันเป็นธรรมะ มิฉะนั้นเป็นต้นว่า เราชอบ อันนี้ อันที่ชอบว่าดีเลยรึ...มันก็ยังไม่ใช่ ดีเฉพาะจิตใจที่เราว่า มันดีที่เราชอบมัน บางทีเราชอบของไม่ดี ก็เข้าใจว่าของดี ชอบของผิดๆก็นึกว่ามันดี แต่ว่าความเห็นว่ามันดี คือจิตใจของเราไม่รู้จัก จิตของเรายังไม่ได้ฝึกฝน
จิตที่ฝึกฝนดีแล้วนั้นละ มันจึงเข้าสู่ธรรมะ น้อมจิตเราเข้าไปหาธรรมะเสียก่อน เพื่อให้จิตเรากลมเกลียวกับ ธรรมะ ให้จิตมันเป็นธรรม ให้ธรรมมันเป็นจิตเมื่อจิตมันเป็นธรรม ความคิดมันก็เป็นธรรม สภาวะที่เราคิดมันก็เป็นความจริง เป็นสัจธรรมอย่างนั้น อันนี้ก็เช่นกัน เนื้อจิตของ เจ้าของนั้น บางทีมันก็ไม่เป็นธรรมนะ เราก็ไปคิดว่าสิ่งที่มันผิดนั้นมันถูก เราก็ชอบเอาสิ่งนั้น
มิฉะนั้นท่านจึงให้ฟังธรรมะ ฟังเพื่อให้มันรู้จักธรรมะ ให้เห็น ให้รู้ ธรรมะอยู่ที่ใจ...โง่มันอยู่ที่จิตใจของเรา ความฉลาดอยู่ที่จิตใจของเรา ความมืด ความหลง มันอยู่ที่จิตใจของเรา ไอ้ความรู้ความสว่างมันก็อยู่ที่ จิตใจของเรา เหมือนกับที่ว่า จานใบหนึ่งที่มันสกปรก หรือพื้นฐานที่บ้าน หรือศาลามันสกปรก...มันถูกน้ำมัน หรือมันถูกเครื่องสกปรก อย่างใดอย่างหนึ่ง มันก็สกปรกอยู่ที่มันสกปรกนั่นแหละ เมื่อเราอยากจะให้มันสะอาด เราก็เอาน้ำมาสาดมันซะ มาล้างมันซะ ไอ้ของสกปรกนั้นมันก็หายไป เมื่อของ สกปรกหายไป ไอ้ความสะอาดของพื้นบ้าน พื้นศาลาของเรา มันก็สะอาดขึ้นมา
เราก็เห็นได้ว่า ไอ้สิ่งที่มันสกปรกนั้น ก็คือจิตของเรา ถ้าหากว่าเราทำความถูกต้องดีแล้ว ไอ้ของสะอาดมันก็ยังมีอยู่ พื้นศาลามันสกปรกก็เพราะอะไรต่างๆที่มันสกปรกนั้น เมื่อ มาเช็ดมาล้างสิ่งที่มันสกปรกออกไป ก็พบความสะอาด...มัน พ้นอยู่ที่นั้น มีของสกปรกมาปกปิดอยู่นั่นเอง ความชั่วและ ความดีของเราทั้งหลายก็เหมือนกันฉันนั้น ความชั่วอยู่ ตรงไหน ความดีอยู่ตรงนั้น ความผิดอยู่ตรงไหน ความถูกอยู่ตรงนั้น ความสกปรกอยู่ตรงไหน ความสะอาดก็อยู่ที่นั่นเหมือนกันฉันนั้น
จิตใจของเรานี่ก็เหมือนกันฉันนั้น เมื่อชาติจิตของเราจริงๆนั้น เป็นจิตที่สม่ำเสมอ มันเป็นจิตที่ไม่เศร้าหมอง เป็นจิตที่ผ่องใส ขาวสะอาดอยู่อย่างนั้น ที่จิตของเรามันเศร้าหมอง ก็เพราะมันไปพบกับอารมณ์ พบกับอารมณ์ ที่ไม่ชอบใจเรานั่นแหละ ก็ทำใจของเราให้ขุ่นมัว ทำใจของเราให้เศร้าหมอง ทำใจของเราให้ไม่สะอาด ทำใจของเราให้ สกปรก เพราะอะไร? ไม่ใช่จิตของเรามันสกปรก จิตของเรามันยังไม่แน่นอน ไม่เชื่อมั่นในธรรมทั้งหลายนั่นเอง กับอารมณ์... อารมณ์ที่ไม่ชอบใจ ใจเราก็เศร้าหมอง อารมณ์ที่เราชอบใจ ใจเราก็ผ่องใส มันก็เป็นอย่างนั้น
ฉะนั้น องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ท่านให้ ปฏิบัติ ไม่ใช่ให้พูดเฉยๆ ให้ปฏิบัติ คือให้ทำความ เป็นจริง เช่นว่าเราสมาทานซึ่งศีลเป็นต้น ท่านว่า ปานา อทินนา กาเม มุสา สุรา อันนี้เรียกว่าศีล คำพูดถึงศีลไม่ใช่ตัวของศีล สภาวะของศีลนั้นมันเป็นอีกอย่างหนึ่ง สภาวะของศีลนั้นไม่ใช่ว่า การพูด มันเป็นการกระทำจริงๆ เช่นว่า ไม่ฆ่าสัตว์...อย่างนี้เรา ก็ไม่ฆ่าจริงๆ อย่างนี้ ไม่กินสุรา...เราก็ไม่กินจริงๆ ไม่พูดโกหก ...เราก็ไม่โกหกจริงๆ อย่างนี้ เราไม่ขโมยของคนอื่น...เราก็ไม่ขโมยจริงๆ ไม่ใช่ดีแต่พูดเฉยๆ
ศีลมันอยู่ที่ตรงนั้น อยู่ตรงที่กระทำ ไม่อยู่ตรงที่พูด พูดนั้นเพื่อจะให้เห็นว่าอันนั้นมันเป็นอย่างนั้น เมื่อเราตกลงใจว่ามันเป็นเช่นนี้ เราก็ลงมือกระทำเลย ลงมือประพฤติเลย ลงมือปฏิบัติเลย อันนั้นให้เกิดเป็นผลขึ้นมา คือ การ กระทำเช่นนั้น อันนั้นท่านว่าข้อศีล พูดตามภาษาของเรานี่มันก็ลำบากอยู่ ถึงวันพระให้รักษาศีล...ไปรักษาศีล ในความเป็นจริงนั้น มันเป็นคำพูดที่ตอบๆเรื่อยกันมา มันเป็นประเพณี วันนั้นไปรักษาศีล เมื่อเราเพ่งความหมายแล้วเห็นว่า ศีลท่า จะโง่กว่าเราล่ะมั้ง เราถึงต้องไปรักษา ถ้าเราเพ่งแล้วนะ ศีล มันคงไม่ดีขนาดเรา เราถึงต้องไปรักษาศีล มันจะไปอย่างนั้น
ถ้าพูดตามความเป็นจริงแล้วนี่ ศีลน่ะเราไม่ต้องไป รักษาท่านหรอก...ท่านดีแล้ว มารักษาตัวเรานี่เอง รักษาตัว รักษากาย วาจา ใจ ของเรานี่ แล้วศีลมันก็เกิดขึ้นมา เราไม่ต้องไปรักษาศีล รักษาตัวของเรานี่แหละ คำพูดนี้มันสูงเกินตัวไป ซะล่ะมั้ง เราก็ไปรักษาศีล บางคนไม่รู้จักศีลเลย เข้าไปวัด ถามไปไหน บอกไปรักษาศีล ไปรักษาศีล ก็คิดว่าศีลเป็นของยาก เป็นของลำบาก เป็นของสอนยาก ไอ้ความเป็นจริง มันย้อนกลับมารักษาตัวเรานั่นเอง เมื่อรักษาตัวเราดี ไม่มีขาด ศีลมันก็เกิดขึ้นมาตรงนั้น ฉะนั้นศีลมันไม่อยู่กับการพูด มันอยู่กับการกระทำ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านสอนให้ฟังอย่างนี้ ให้ความดีเข้าไปฝังในใจ ถ้าความดีมันเข้าไปฝังในใจแล้ว ไอ้ความทุกข์มันก็ถอนออกไป ห่างออกไป มันเป็นอย่างนั้น ทีนี้เรามองไม่เห็น ไอ้สิ่งที่มันเบาที่สุด เราก็เห็นเป็นหนัก สิ่งอะไรมันหนัก...ก็เห็นมันเป็นเบา สิ่งที่มันผิด...เราก็เห็นเป็นถูก สิ่งอะไรที่มันถูก...เราก็เห็นว่ามันผิด
อาตมายกตัวอย่างให้ฟังว่า วันหนึ่ง นั่งอยู่ในวัดเรา นี่แหละ คนหนึ่งมาจากอำนาจเจริญ เขาเคยเป็นปราชญ์ เขา เคยบวชเป็นพระมาแล้ว ตอนเป็นฆราวาสก็เป็นคนทำบุญ สุนทานตลอดเวลา...ตาแก่คนนั้น วันหนึ่งแกก็มาจากอำนาจ เจริญ บอกว่าโยมมีทุกข์หลาย มีทุกข์มาหลายวันแล้ว แก้ไม่ตก นึกถึงหลวงพ่ออยู่องค์เดียวนั่น จะให้ผมมีความสว่างที่ไหน ผมไม่นึกเห็น แล้วก็มากราบ กระสับกระส่าย มาด้วย ใจไม่ค่อยสบาย โอดโอยครวญคราง มาอย่างนั้นเลย อาตมาก็เลยว่า ไม่เป็น ผมทุกข์มาก ทำไมมันทุกข์มาก เรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องเล็ก เรื่องใหญ่เหลือเกิน พูดกันน้ำตามันก็ไหลออกมา พอพูดว่าเรื่องใหญ่ น้ำตามันก็ไหลออก
หยุดก่อนที โยมพูดให้ฟังก่อนสิว่าเรื่องอะไรมันใหญ่ นักหนา เขาก็เลยคลานเข้ามากราบใกล้ๆกระซิบว่า เมียผม ตาย ฮ้า เมียตาย นึกว่าเรื่องใหญ่ อันนี้เป็นเรื่องเล็กนี่นา มัน เกิดๆตายๆ เขาเกิดกันมาตลอดกาลตลอดเวลาแล้ว ทั้งเกิด ทั้งตายนั้นแหละ เห็นไหม?...คนเกิดไม่ตายเห็นไหม? เกิดมาต้องตาย เรื่องเกิดเรื่องตายไม่ใช่เรื่องใหญ่ มันเรื่องธรรมดาของเรา จนขณะนี้ก็ยังไม่เห็นว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ จนกว่าที่ว่าไม่เคย เห็นคนเกิด ไม่เคยเห็นคนแก่ ไม่เคยเห็นคนตาย ไอ้ความ เป็นจริงมันเกิดมันตายมาไม่รู้กี่ศพแล้ว ทำไมไม่รู้จักอ่าน ทำไม ไม่รู้จักพิจารณา ทำไมให้เป็นเรื่องใหญ่ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ
อาตมาบอก คิดใหม่สิ อันนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่หรอก พ่อ ของโยมอยู่ไหม ไม่อยู่ อยู่ไหน ตาย นั่นแหละตายแล้ว แม่ก็ ตายแล้ว มันจะเรื่องใหญ่อะไรน่ะ มันจะอยู่อย่างเรา เป็นลูก จะไม่ตายนี่ อันนี้มันเป็นเรื่องธรรมดา โยมไปคิดใหม่ดูสิ ไป คิดเรื่องใหญ่มันก็ใหญ่ทั้งนั้นแหละ มันเรื่องเล็กๆ เรื่องธรรมดา เรื่องคนเกิดมาในโลกมันเป็นอยู่อย่างนั้น
ฉะนั้น เกิดมาพระพุทธเจ้าท่านให้รีบทำความดี เพราะมันเป็นอย่างนั้น ก็พูดไปพูดมาก็เห็นโยมผู้หญิงคนหนึ่งนั่งอยู่ข้างๆเขาด้วย นั่นน่ะโยมมากับใคร ถ้าโยมแม่บ้านตายแล้ว นี่แม่บ้านอีกคนหนึ่ง อ้าว หลายคนเหลือเกินแล้ว มันก็คนหนึ่งตาย คนหนึ่งยังน่ะ บางคนมีแม่บ้านคนเดียวก็ตายหมด มันยังร้ายกว่าโยมอีก เอาล่ะโยม พอแล้ว คนหนึ่งยังอยู่ คนหนึ่งตาย มันไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรแล้ว ให้ไปคิดใหม่ ตาคนนั้นก็นั่งฟัง
นี่คือความคิด คนเราไม่รู้จักนะ...ไม่รู้จักพอ คนไม่รู้จัก พอคือคนไม่รู้จักแก่ คนไม่รู้จักแก่ ไม่รู้จักเจ็บ ไม่รู้จักตาย ไม่ รู้จักความเกิด แก่ เจ็บ ตาย บางคนจะไปเทศน์เรื่องเกิดๆ แก่ๆ ตายๆ ให้ฟัง ไม่สบายใจเลยนะ ยิ่งคนฝรั่งเมืองนอก ไปพูดเรื่องตายให้ฟัง ลุกหนีเลย...ไม่อยากแก่ เขาอยากเป็นของเขาอยู่อย่างนั้น ว่าคนเฒ่าคนแก่ชราอย่างนี้ไม่เอา ไม่อยากได้ ฉะนั้นคนแก่ๆเมืองนอกเขาทิ้ง คนแก่ ๕๐-๖๐ เข้าทิ้งแล้ว ไม่เหมือนเมืองไทยหรอก เขาทิ้ง...หนุ่มๆสาวๆ ลูกเขาเกิดมา เขาก็ไปเที่ยวไป เขาทิ้งไปตะพึด แก่แล้วทิ้งทั้งนั้นแหละ ไม่ต้องไปเก็บหรอก เอาเข้าใส่ในโกดังนั่น
ดังนั้น คนเรามีธรรมะ ให้พิจารณาให้เห็น อย่างอยู่ ชลบุรีก็เหมือนเอาคนแก่ไปเก็บ ไปเลี้ยง อาตมาเคยเข้าไปดู แก่ ๗๐ ปี ๘๐ ปี อยู่นั่นแหละ ให้พยาบาลมารักษา อาตมา เข้าไปเทศน์ตรงนั้น นึกๆไปก็น่าสลดสังเวช นึกๆไปก็เหมือน เปลือกแตงโม เขาเอาไปทิ้งนะ เราจิ้มเอาเนื้อมันทาน พอมีแต่ เปลือกมัน เขาก็ทิ้งลงคลองนั่นแหละ ไปอยู่ชลบุรีที่เลี้ยงคนแก่ ก็เหมือนกัน เข้าไปที่นั่นเหมือนเปลือกแตงโม มีแต่คนแก่ทั้งนั้น คนหนุ่มๆดีๆเขาก็ไม่ไปหรอก...หนีไป ไปหาโรงหนัง ไปหาลิเก ละคร หารำวง เล่นตามสบาย ไอ้คนแก่ก็รับบาปไปเถิด แก่ ไปเถอะ ไม่มองถึงเรา มิฉะนั้นเมืองนอกก็จะเป็นคนแก่เอา ไปทิ้ง คนหนุ่มก็เจริญไปทุกคน คนหนุ่มๆแก่มาก็เอาไปทิ้ง ...กรรม
อาตมาพูดให้ชาวฝรั่งฟังว่า นี่คือกรรม แต่ก่อนเราก็ ทิ้งคนแก่ ตอนนี้เราแก่ คนหนุ่มก็ทิ้งเรา มันเป็นอย่างนี้ ถ่ายทอดตลอดเวลา มันแก้ไม่ได้ เป็นอย่างนี้ อันนี้ความอบอุ่นของเมืองนั้นล่ะ ไม่เหมือนเมืองไทยเรา เมืองไทยเรานั้นน่ะ เทศน์ให้ฟังเรื่องความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มันเป็นธรรมะอันเป็นที่น่าสลดสังเวช เมื่อเราจะทำอะไร ก็ต้องได้ พิจารณา เมื่อเราหนุ่ม เราก็หวนถึงคนแก่ เมื่อเราเห็นคนแก่ แล้ว เราก็หวนถึงคนหนุ่ม มันเลยเป็นเกราะ มันเกาะกันเหมือน ลูกโซ่อย่างนี้
เช่นนั้น พระพุทธองค์ท่านสอนให้มีความเมตตา รู้จักอุปการะคุณของบุคคลผู้ที่มีคุณ เมืองนอกเขาไม่สอน อย่างนี้ คนแก่ก็แก่ไป คนหนุ่มก็หนุ่มไป มันเรื่องของใครของมันทั้งนั้นแหละ มันเป็นไปซะอย่างนี้ พอพูดตามความเป็นจริงแล้ว หลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น เลี้ยงลูกมาก็รัก เมื่อรักก็อยากจะให้รู้จักบุญคุณของพ่อแม่ เท่านั้น ถ้าเลี้ยงมาไม่มีบุญไม่มีคุณ ก็ไม่รู้จะเลี้ยงเรามาทำไม อันนี้ เมื่อพูดถึงธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แก่ขนาดไหนก็ไม่ทิ้งกัน อันนี้เป็นความอบอุ่นในเมืองไทย
ฉะนั้น พวกเรานี้ก็เหมือนกันฉันนั้น เราต้องพิจารณา ธรรมะ พิจารณาธรรมะให้เป็นสังขาร สังขารมันต้อง เปลี่ยนไปๆๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไอ้ความเปลี่ยนไปนั้นน่ะ มันเกิดมาแล้ว มันเด็กแล้วก็มันหนุ่ม แล้วก็เฒ่าชะแรแก่ชรา แต่ว่าจิตใจของคนเรานั้นน่ะ ไม่อยากให้เปลี่ยนไปอย่างนั้น หนุ่มแล้วไม่อยากให้แก่ แก่แล้วไม่อยากให้ตาย อยู่อย่างนี้ อย่างนี้ นี่คือความเห็นผิดซะแล้ว อันนี้มันอยู่ไม่ได้หรอก อันนี้ มันเรื่องอนิจจัง มันเรื่องการเปลี่ยนแปลง เป็นธรรมดาของมันแล้ว ถ้าไม่เปลี่ยนแปลง คนเราอยู่ในโลกนี้ไม่ได้
เช่น มะม่วงต้นหนึ่ง มันก็เปลี่ยนขึ้นมา มันถึงโต ขนาดนี้ จนเป็นดอกออกผลให้เราทานผลของมัน นี่ความ เปลี่ยนแปลงจากเมล็ดมัน จากเบี้ยเล็กๆมันมาเป็นต้นใหญ่ๆ มันเปลี่ยนจนมาถึงมันเป็นดอก มาถึงเป็นผลเล็กๆ มันเกิดมาเป็น ผลเล็กๆ มันก็เปรี้ยว ก็เปลี่ยนไป มันห่าม ความเปรี้ยวมันก็ หายไป เมื่อสุกมันก็เปลี่ยนไปเป็นหวาน รสของมัน ถ้าเรา ไม่ให้มันเปลี่ยน มันจะเกิดประโยชน์อะไร เปรี้ยวก็ปล่อยให้ มันเปรี้ยวอย่างนั้น อันนี้จะไม่ได้กินมะม่วงสุกนะ เพราะ ไม่อยากให้มันเปลี่ยน ต้องเปลี่ยนแปลง นี่มันดีแล้ว
ลมหายใจเราเข้าไปแล้วมันก็ออก ออกแล้วไม่เข้ามา มันก็ตายนะ เข้าแล้วไม่ออก มันก็ตาย อาศัยการเปลี่ยนแปลง มันเข้าไปแล้วมันก็ออกมา ออกแล้วเข้า นี่เราอยู่ได้เพราะความเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ มิฉะนั้น เราควรนึกถึงธรรมะ เมื่อเรามีชีวิตอยู่ เราควรมองดูข้างๆว่า อันนี้พ่อแม่ของเรา อันนี้ พี่น้องของเรา อันนี้ลูกหลานของเรา อันนี้ตัวของเรา มันก็พร้อมไป เป็นอย่างนี้ตลอดเวลา ก็เพราะมันเป็นอย่างนี้
ฉะนั้น เราจึงทำความเข้าใจ มาฟังธรรมะ คือมาทำ ความเข้าใจกัน เมื่อทำความเข้าใจกันให้รู้ความเป็นจริง แล้ว ก็ยอมรับว่ามันเป็นอย่างนั้น เกิดมาวันนี้ก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นอย่างนั้น วันต่อไปมันก็ต้องเป็นอย่างนั้น แล้วต่อไปมันก็เป็นอย่างนั้น ของมันเป็นอย่างนั้น มันก็ต้องเป็นอย่างนั้น มันปลี่ยนแปลงอยู่อย่างนั้นทุกเวลา พอเข้าใจธรรมะเช่นนี้ ความเป็นอยู่ก็ดี ความพลัดพรากจากกันก็ดี มันเป็นธรรมดา เห็นไหมที่เราสวดมนต์กันอยู่นี่ ให้พิจารณาอย่างนี้ ทุกวันๆเถิด พิจารณากันหรือเปล่าก็ไม่รู้ ว่าสวดให้พิจารณา ทุกวันๆเถิด ทุกวัน...ทุกวัน
ทำวัตรทุกวันอย่างนี้ ถ้ามันเปลี่ยนแปลง เราก็ไม่ควร เสียใจ ไม่ควรทำใจให้มันเป็นทุกข์ เพราะมันเป็นอย่างนั้น สัจธรรมมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว ให้ความเห็นเราเป็นอย่างนี้ เมื่อเราได้ฟังธรรมบ่อยๆ ความบรรเทานี้มันก็จะพ้นขึ้นมา มัน ก็จะไม่ทุกข์ มันบรรเทาไปๆ ให้มันน้อยไปๆกว่าจะหมดทุกข์ ความเป็นจริงอย่างนั้นของธรรมะ ได้แค่นี้ก็เรียกว่า เรามีหลัก ที่สำคัญอยู่แล้ว การภาวนาของเรา ความเป็นอยู่ของเรา ก็จะมีที่พึ่ง ที่พำนัก พุทโธ เม สะระณัง วะรัง, ธัมโม เม สะระณัง วะรัง, สังโฆ เม สะระณัง วะรัง...พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของเรา พระธรรมเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของเรา พระสงฆ์เป็นที่พึ่งอันประเสริฐของเราที่พึ่งอื่นไม่เหมือนพระพุทธเจ้า ที่พึ่งอื่นไม่เหมือน พระธรรม ที่พึ่งอื่นไม่เหมือนพระสงฆ์เพราะความเป็นจริงมัน เป็นเช่นนั้น
เมื่อเราคิดเช่นนี้ความทุกข์เรามันก็หายไปๆ น้อยไปๆ ตกลงไปอยู่ที่ว่าเป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดา คนเกิดมาก็ เห็นว่าเป็นธรรมดาที่เกิดมาแล้ว เกิดมาแล้วก็มีความเป็นอยู่ก็เป็นธรรมดา ไอ้ธรรมดามันเป็นเช่นนี้ เมื่อเราเข้าใจแล้ว ไอ้ความทุกข์มันก็น้อยไปๆ ความอยู่เย็นเป็นสุข ความระงับ มันก็ตั้งมาอยู่ที่ใจของเราเอง อันนี้เป็นโอวาทคำสอนของ พระพุทธองค์ของเรา
ฉะนั้น จงพากันตั้งอกตั้งใจให้เข้าใจ ฟังแล้วให้เข้าใจ ธรรมะ ให้พิจารณาอย่างนั้น ฯ
Credit: http://www.ajahnchah.org/thai/The_Essence_of_True_Dhamma.php
0 comments: