ทำอย่างไรเมื่อสอบบาลีตก
- เราคือคนที่โชคดี เราเกิดมาเป็นมนุษย์ที่มีร่างกายสมบูรณ์พร้อม ได้พบพระพุทธศาสนา เรียนและปฏิบัติธรรมได้ เราเกิดมาตัวเปล่า แต่ตอนนี้เรามีสิ่งดีๆ อยู่มาก แม้จะสอบไม่ผ่าน ยังไม่ได้สิ่งใดเพิ่มมา แต่ก็ไม่ได้สูญเสียประโยคเดิม (ที่สอบได้) ไป ความรู้สึกในครั้งนี้อาจหนักหนา แต่เมื่อเทียบกับภาพรวมของสิ่งดีๆ ที่เราได้รับในชีวิตนี้แล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่นัก
- สำหรับนักเรียนชั้นเปรียญเอก หากมองหนทางที่เหลืออยู่แล้วรู้สึกเหนื่อยล้า อย่าลืมย้อนกลับไปมองว่าเราเดินมาได้ไกลขนาดไหนแล้ว ปลายทางข้างหน้าอยู่แค่มือเอื้อม ขอแค่มีกำลังใจจะก้าวต่อไป ก็จะสำเร็จได้ในวันหนึ่ง
- การสอบทุกครั้งมีเหตุปัจจัยที่ควบคุมได้และเหตุปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ หลายสิ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา อาจเรียกว่า บุญกรรม จังหวะชีวิต ฯลฯ เมื่อเรามีความตั้งใจที่ดี พยายามเรียนและสอบจนเต็มความสามารถ อย่างน้อยที่สุดก็เป็นบุญกุศลและทำให้เราได้ประสบการณ์ชีวิตที่มีประโยชน์ (เช่น เติบโตขึ้น มีวุฒิภาวะสูงขึ้น มีทักษะสำหรับสอบในปีต่อไปและเรียนสายอื่นต่อ)
- คนเราทุกข์เพราะ “ความหวัง” (ว่าจะสอบได้) และ “ความกลัว” (ว่าจะสอบตก) แต่เมื่อสิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปดังที่หวังไว้ ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่ดีเสมอไป เรื่องวันนี้ต้องส่งผลดีในวันข้างหน้าสักประการหนึ่ง เช่น ทำให้มีพื้นฐานแน่นหนาจนสามารถเรียนได้ถึงชั้น ป.ธ.๙ / บ.ศ.๙ ทำให้เรารู้จักรับมือกับสถานการณ์อันไม่พึงปรารถนา มีภูมิคุ้มกันทางใจในการใช้ชีวิต
- การสอบตกไม่ได้แปลว่าล้มเหลวหรือจบสิ้น และความพยายามของเราในปีนี้ไม่สูญเปล่าเสียทีเดียว เรายังคงมีโอกาสสอบผ่าน เพียงแต่ใช้เวลานานขึ้นอีกเล็กน้อยเท่านั้น จะสอบ ป.ธ.๙ / บ.ศ.๙ ผ่านปีใดไม่สำคัญ สุดท้ายก็จบเหมือนกัน
- “การสอบตกเป็นบันไดสู่การสอบผ่าน”
- ไม่ควรรู้สึกแย่เมื่อเห็นเพื่อนหรือผู้อื่นสอบผ่าน (ทุกความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นความน้อยใจชีวิตตนเอง ความรู้สึกว่าโลกนี้ไม่ยุติธรรม ฯลฯ)
o ทำไมคนนี้ขยันน้อยกว่าเราแต่สอบผ่าน? เราไม่สามารถตัดสินใครได้จากเพียงภาพที่มองเห็น คนที่สอบผ่านอาจจะพยายามเรียนหนังสือมามากจนแลกด้วยสุขภาพหรือความเสียโอกาสในทางอื่นที่เราไม่รู้ เราอาจจะมองเห็นแต่ด้านความสำเร็จของเขาจนกระทั่งลืมไปว่าทุกคนล้วนแต่มีความทุกข์ ทุกข์คนละแบบ
o ทำไมคนนี้บอกว่าทำข้อสอบไม่ได้ แต่สอบผ่าน? สิ่งตัดสินคือวินิจฉัยของกรรมการตรวจ ไม่ใช่ความรู้สึกขณะสอบ เขาอาจทำได้ถูกต้องและไม่เสียมากนัก เพียงแต่รู้สึกยากและท้อแท้ใจจึงบอกว่าทำไม่ได้
o ทำไมคนนี้ไม่เรียนแต่สอบผ่าน ดูชอบมาพากล? เราก็ไม่รู้เรื่องคนอื่นดีพอจะไปตัดสินเขาอีกเช่นกัน และหากจะมีผู้ใดประพฤติมิชอบจริง เราก็ไม่จำเป็นต้องใส่ใจเดือดร้อนแทน เพราะการควบคุมการสอบเป็นหน้าที่กรรมการ ไม่ใช่หน้าที่ของเราผู้เป็นนักเรียน อนึ่ง ไม่ว่าใครจะสร้างกุศลหรืออกุศล ก็เขาทั้งนั้นรับผลเอง เราไม่ใช่ผู้รับผลกรรมของใครทั้งสิ้น เราเป็นผู้รับผิดชอบการกระทำและความถูกต้องชอบธรรมของตนเองเท่านั้น
- ไม่ควรใส่ใจโลกธรรม ชีวิตคนแต่ละคนต้องพบกับเหตุการณ์ที่น่าปรารถนาและเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาอยู่เสมอ ไม่มีใครโชคดีตลอดกาลและโชคร้ายตลอดกาล แม้แต่คนที่สอบผ่านก็ยังมีความทุกข์ด้านอื่นๆ เราต้องรักษาความหนักแน่นมั่นคงในตนเองไว้ อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อสุขภาพจิตในการใช้ชีวิตต่อไป
o วิธีปล่อยวางโลกธรรมอย่างง่าย = คิดถึงความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิต ได้อะไรมาก็นำอะไรไปไม่ได้นอกจากบาปบุญ, คิดถึงกฎแห่งกรรม และโทษของสังสารวัฏ
o ความหนักแน่นมั่นคงในตนเอง = ความหนักแน่นมั่นคงภายใน ไม่ว่าจะต้องเผชิญสถานการณ์ใดก็ตาม ความหนักแน่นมั่นคงชนิดนี้ไม่ตกไปสู่ความหยิ่งทะนงไม่ฟังใคร และไม่ตกไปสู่ความรู้สึกไร้ค่าดูถูกตนเอง
- ผู้ที่สอบผ่านหลายรูป/ท่าน ใช้ความเพียรพยายามเป็นเวลาหลายปีจึงสอบผ่าน ท่านเหล่านั้นได้พิสูจน์ให้เห็นว่าความพยายามไม่ไร้ผล หากเราพยายามต่อไป เราก็มีโอกาสจะสอบผ่านเช่นเดียวกัน ขอเพียงแต่รักษากำลังใจของตนเองไว้ อย่าปล่อยให้ความรู้สึกไม่ดีในวันนี้ทำลายวันข้างหน้า พร้อมจะสู้ต่อไป ทิ้งอดีตและก้าวไปสู่อนาคตไหม?
- มีแรงจูงใจหลายประการทั้งในระดับโลกียะและโลกุตระ : เพื่อการศึกษาต่อและอนาคตของตนเอง, เพื่อบิดามารดา, เพื่อครูบาอาจารย์, เพื่อกิจการพระศาสนา, เพื่อความหลุดพ้น ฯลฯ
- หากมีฉันทะในการเรียนแผนกบาลีมากที่สุด (ไม่ได้ค้นพบว่าตนเองชอบสายอื่นและต้องการเปลี่ยนไปเรียน/ทำงานอื่น) และเลือกจะเรียน/สอบแผนกบาลีต่อไป จุดหมายปลายทางรออยู่ข้างหน้า จะเลิกล้มเสียในขณะนี้ทั้งที่ยังมีโอกาส หรือจะลุกขึ้นก้าวต่อไป?
ขอเป็นกำลังใจให้นักเรียนทุกรูป/ท่านนะคะ
๒๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๕
สุกัญญา เจริญวีรกุล บ.ศ.๙, สำนักเรียนวัดสามพระยา
0 comments: