วันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

มัวร่าเริงหรือเพลิดเพลินอะไรกันหนอ ?

มัวร่าเริงหรือเพลิดเพลินอะไรกันหนอ ?

เมื่อโลกสันนิวาสคือขันธ์ ๕ นี้ อันเป็นที่อาศัยให้เกิดความยินดีพอใจติดข้องและเกิดความเห็นผิดที่ยึดถือว่า “เป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล” เป็นต้น แต่มันเป็นธรรมที่มีความเกิดดับแตกสลายไปในที่สุด

มีพระพุทธพจน์ว่า

“เมื่อโลกสันนิวาส อันไฟลุกโพลงอยู่เป็นนิตย์, พวกเธอยังจะร่าเริงบันเทิงอะไรกันหนอ ?

เธอทั้งหลายอันความมืดปกคลุมแล้ว  ทำไมจึงไม่แสวงหาประทีปเล่า ?” ดังนี้ ฯ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเป็นคำอธิบายไว้ดังนี้ว่า "เมื่อโลกสันนิวาสนี้ อันไฟ ๑๑ อย่าง มีราคะเป็นต้นลุกโพลงแล้วเป็นนิตย์, เธอทั้งหลายจะมัวร่าเริง หรือเพลิดเพลินอะไรกันหนอ ? นั่นไม่สมควรทำเลย มิใช่หรือ ? ก็เธอทั้งหลายอันความมืดคืออวิชชาซึ่งมีวัตถุ ๘ ปกคลุมไว้ เหตุไร จึงไม่แสวงหา คือไม่ทำประทีปคือญาณ เพื่อประโยชน์แก่การกำจัดความมืดนั้นเสีย ?"

ไฟ ๑๑ อย่าง คือ

๑. ไฟคือราคะ (ความกำหนัด)

๒. ไฟคือโทสะ (ความโกรธ)

๓. ไฟคือโมหะ (ความหลง)

๔. ไฟคือชาติ (ความเกิด)

๕. ไฟคือชรา (ความแก่)

๖. ไฟคือมรณะ (ความตาย)

๗.ไฟคือโสกะ (ความโศก)

๘. ไฟคือปริเทวะ (ความคร่ำครวญ)

๙. ไฟคือทุกข์ (ความไม่สบายกาย)

๑๐. ไฟคือโทมนัส (ความทุกข์ใจ)

๑๑. ไฟคืออุปายาส (ความคับแค้นใจ)

ตราบใดที่ยังมีความไม่รู้และยังมีความติดข้องอยู่ ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไป ขันธ์ ๕ ยังมีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไปต่อไปอีก ยังไม่พ้นไปจากความเร่าร้อนด้วยกิเลสประการต่างๆ มีความติดข้องต้องการเป็นต้น และยังมีความเร่าร้อนประการต่างๆ อีกมากมายอันเป็นทุกข์ในสังสารวัฏ ทั้งความแก่ ความตาย ความเศร้าโศก ความคร่ำครวญรำพันบ่นเพ้อ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจอยู่ตราบนั้น

โมหะ เป็นตัวอวิชชา คือ ความไม่รู้ในทุกข์, ความไม่รู้ในทุกขสมุทัย, ความไม่รู้ในทุกขนิโรธ, ความไม่รู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา, ความไม่รู้ในส่วนอดีต, ความไม่รู้ในส่วนอนาคต, ความไม่รู้ทั้งในส่วนอดีตและส่วนอนาคต, ความไม่รู้ในปฏิจจสมุปบาทธรรมว่า “เพราะธรรมนี้เป็นปัจจัย ธรรมนี้จึงเกิดขึ้น” ความไม่รู้ ความไม่เห็น ความไม่ตรัสรู้ ความไม่รู้โดยสมควร ความไม่รู้ตามเป็นจริง ความไม่แทงตลอด ความไม่ถือเอาโดยถูกต้อง ความไม่หยั่งลงโดยรอบคอบ ความไม่พินิจ ความไม่พิจารณา การไม่กระทำให้ประจักษ์ ความทรามปัญญา ความโง่เขลา ความไม่รู้ชัด ความหลง ความลุ่มหลง ความหลงใหล, อวิชชา โอฆะคืออวิชชา โยคะคืออวิชชา อนุสัยคืออวิชชา ปริยุฏฐานคืออวิชชา ลิ่มคืออวิชชา อกุศลมูลคือโมหะ ซึ่งมีลักษณะเช่นว่านี้อันใด นี้เรียกว่า โมหะคืออวิชชา

เพราะฉะนั้น เมื่อโลกสันนิวาสคือขันธ์ ๕ เป็นตัวทุกข์ถูกไฟไหม้อยู่เป็นนิตย์ รู้อยู่อย่างนี้แล้วจะมัวร่าเริงหรือเพลิดเพลินอะไรกันหนอ ?

______

สาระธรรมจากอรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ชราวรรค (เรื่องหญิงสหายของนางวิสาขา)

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ) วัดสามพระยา กรุงเทพฯ

1/7/65

เหตุที่จะนำสุขมาให้ คือการรักษาคุ้มครองจิตไว้ให้ได้ลมรังควานต้นไม้ที่ทุพพลภาพได้ฉันใด , จิตประณีตเริ่มจาก , คุณสมบัติของคนดีเริ่มจาก , “บัณฑิตนั้น พึงเป็นผู้มีศีล มีปัญญา และตั้งอยู่ในธรรม” ,  ถ้าเจอคนแบบนี้ไม่ต้องกลัว ไม่เท่าไรหรอก ? , อาปายิกสูตร , ตาดีได้ ตาร้ายเสีย ? , เหตุเกิดแห่งอกุศลกรรม , การจะไปมาหาสู่เข้าเป็นพวกเดียวกัน หรือคบค้ากัน หรือคบค้าสมาคมกัน , อามิสกับธรรมพระพุทธองค์มักแสดงไว้คู่กันเสมอ , ไม่มีใครที่ไม่เคยทำอะไรผิดเลย ,  เหตุไฉนผิวพรรณจึงผ่องใส ? , ทุกข์ปรากฎที่ไหนต้องดับที่นั้น , รู้เพื่อละ , การดับทุกข์ได้จริงและถูกต้อง ต้องไม่ทำบาปดับทุกข์ , การใคร่ครวญก่อนแล้วจึงตัดสินใจเป็นการดี​ , ภิกษุผู้มีชื่อเสียง คือประชาชนรู้จักกันทั่วแล้ว เมื่อจะแนะนำพร่ำสอนผู้อื่นต้องระวังให้มากขึ้นไปอีก  , ตราบใดที่ยังหมั่นทำความดีอยู่เสมอ ตราบนั้นชื่อว่ายังมีความหวัง , กรรมที่มีความเบียดเบียน คือกรรมที่ทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน 


Previous Post
Next Post

0 comments: