วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ไม่จำเป็นต้องคล้อยตามโลกไปทุกเรื่อง

ไม่จำเป็นต้องคล้อยตามโลกไปทุกเรื่อง

ปีนี้ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ตรงกับวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ เลยวันวาเลนไทน์มา ๒ วัน   
เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์-วันวาเลนไทน์ ไม่ได้ยินใครพูดถึงมาฆบูชา
วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์-วันมาฆบูชา ได้ยินใครพูดถึงวันแห่งความรักบ้างหรือเปล่า

ปีไหนวันมาฆบูชาตรงกับวันวาเลนไทน์ หรือเฉียดกันสักวัน เราก็จะได้ยินนักอธิบายธรรมอธิบายโอวาทปาติโมกข์ให้เป็นหลักธรรมแห่งความรักกันอย่างมั่นอกมั่นใจ

เวลานี้ ค่านิยม “วันแห่งความรัก” มาอยู่ใกล้กับวันมาฆบูชา ก็อธิบายโอวาทปาติโมกข์ให้เป็นหลักธรรมแห่งความรัก   อีก ๑๐๐ ปีข้างหน้า ในช่วงวันมาฆบูชา ถ้าสังคมเขาเปลี่ยนไปนิยมเรื่องเสรีภาพ ก็คงจะมีคนอธิบายโอวาทปาติโมกข์ให้เป็นหลักธรรมแห่งเสรีภาพ  และอีก ๓๐๐ ปีข้างหน้า ในช่วงวันมาฆบูชา ถ้าสังคมเขาเปลี่ยนไปนิยมเรื่องการเกษตร ก็คงจะมีคนอธิบายโอวาทปาติโมกข์ให้เป็นหลักธรรมแห่งการเกษตร

แปลว่า ในช่วงวันมาฆบูชา สังคมเขานิยมเรื่องอะไร เราก็ต้องอธิบายโอวาทปาติโมกข์ให้เป็นหลักธรรมแห่งเรื่องนั้นๆ ไปด้วยอย่างนั้นหรือ?   แล้วจริงๆ แล้ว โอวาทปาติโมกข์เป็นหลักธรรมแห่งอะไรกันแน่?

ขออนุญาตยกข้อความจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “โอวาทปาติโมกข์” มาเสนอไว้ในที่นี้เพื่อเป็นการศึกษาเรียนรู้

โอวาทปาติโมกข์  [โอ-วา-ทะ-ปา-ติ-โมก]

หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา หรือคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูปผู้ไปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ พระเวฬุวนาราม ในวันเพ็ญเดือน ๓ ที่เราเรียกกันว่าวันมาฆบูชา (อรรถกถากล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์นี้ แก่ที่ประชุมสงฆ์ เป็นเวลา ๒๐ พรรษาก่อนที่จะโปรดให้สวดปาติโมกข์อย่างปัจจุบันนี้แทนต่อมา),

คาถาโอวาทปาติโมกข์ มีดังนี้

สพฺพปาปสฺส  อกรณํ  กุสลสฺสูปสมฺปทา

สจิตฺตปริโยทปนํ  เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ฯ

ขนฺตี  ปรมํ  ตโป  ตีติกฺขา

นิพฺพานํ  ปรมํ  วทนฺติ  พุทฺธา

น  หิ  ปพฺพชิโต  ปรูปฆาตี

สมโณ  โหติ  ปรํ  วิเหฐยนฺโต ฯ

อนูปวาโท  อนูปฆาโต  ปาติโมกฺเข  จ  สํวโร

มตฺตญฺญุตา  จ  ภตฺตสฺมึ  ปนฺตญฺจ  สยนาสนํ

อธิจิตฺเต  จ  อาโยโค  เอตํ  พุทฺธาน  สาสนํ ฯ

แปล: การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๑   การบำเพ็ญแต่ความดี ๑  การทำจิตต์ของตนให้ผ่องใส ๑  นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง,   พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่านิพพานเป็นบรมธรรม,  ผู้ทำร้ายคนอื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต,   ผู้เบียดเบียนคนอื่นไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ  การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑   ความสำรวมในปาติโมกข์ ๑   ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ๑   ที่นั่งนอนอันสงัด ๑ ความเพียรในอธิจิตต์ ๑  นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ที่เข้าใจกันโดยทั่วไป และจำกันได้มาก ก็คือ ความในคาถาแรกที่ว่า ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส

เรื่องหนึ่งที่นักอธิบายธรรมของเราอาจจะไม่รู้ หรือรู้ แต่ไม่นำมาอธิบายบอกกันให้รู้ ก็คือ ที่ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ฯ บอกไว้ว่า “อรรถกถากล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์นี้ แก่ที่ประชุมสงฆ์ เป็นเวลา ๒๐ พรรษาก่อนที่จะโปรดให้สวดปาติโมกข์อย่างปัจจุบันนี้แทนต่อมา”  หมายความว่า ในสมัยพุทธกาล แต่เดิมการประชุมสงฆ์สวดปาติโมกข์ยังไม่มี พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์นี้แก่ที่ประชุมสงฆ์ด้วยพระองค์เอง เป็นเช่นนั้นอยู่ ๒๐ พรรษา จึงเกิดเหตุ

เหตุที่เกิดก็คือ คราวหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับที่บุพพารามเมืองสาวัตถี (คงจำกันได้ว่า นางวิสาขาเป็นผู้สร้างอารามแห่งนี้) ถึงวันที่กำหนดทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ภิกษุก็ประชุมกันพร้อมแล้ว แต่พระพุทธเจ้าไม่เสด็จไปทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ตรัสว่า “บริษัทไม่บริสุทธิ์”

คำว่า “บริษัทไม่บริสุทธิ์” หมายถึงมีภิกษุทุศีลนั่งอยู่ในที่ประชุมสงฆ์ด้วย

พระมหาโมคคัลลานะตรวจดู พบตัวแล้วจึงบอกให้ภิกษุรูปนั้นออกไปเสียจากที่ประชุม ขอร้องดีๆ ๓ ครั้ง  ตามวัฒนธรรมของชาวชมพูทวีป “ตติยมฺปิ” หรือ ครั้งที่ ๓ ถือว่าเป็นครั้งสุดท้าย ไม่มีครั้งที่ ๔ คือต้องจัดการให้แตกหักเด็ดขาดกันไป

พระมหาโมคคัลลานะท่านจึงใช้อำนาจลากตัวภิกษุทุศีลรูปนั้นออกไป แล้วไปกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า “บริษัทบริสุทธิ์แล้ว” 

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตั้งแต่นี้ไป พระองค์จะไม่ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์แก่ที่ประชุมสงฆ์อีกต่อไป ขอให้ภิกษุสงฆ์ประชุมกันสวดปาติโมกข์คือสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้แล้วนั้นแทน

นี่เป็นแง่มุมหนึ่งของโอวาทปาติโมกข์ที่เราส่วนมากไม่ค่อยได้รับรู้กัน  ในคัมภีร์ท่านแสดงไว้ว่า -

อิมา  ปน  สพฺพพุทฺธานํ  ปาฏิโมกฺขุทฺเทสคาถา  โหนฺติ.   คาถาเหล่านี้เป็นคาถาแสดงหัวข้อธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหลายทั้งปวง

นั่นคือ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์จะตรัสโอวาทปาติโมกข์เป็นข้อความเดียวกันเช่นนี้   และนั่นก็คือ โอวาทปาติโมกข์เป็นหลักการของพระพุทธศาสนาเลยทีเดียว

ถ้าประสงค์จะแสดงหลักธรรมแห่งความรักคล้อยตามค่านิยมของสังคม ก็ควรจะค้นคว้าหาหลักธรรมที่ว่าด้วยความรักหรือหลักธรรมที่ทำให้เกิดความรักที่มีแสดงไว้ตรงๆ ในพระไตรปิฎกหรือในคัมภีร์ยกมาแสดงน่าจะเหมาะสมกว่า

อย่างเช่นคาถา - ปุพฺเพว  สนฺนิวาเสน ... ที่นักเรียนบาลีเรียนกันมาตั้งแต่ชั้นเปรียญต้นๆ นี่ก็ว่าด้วยเหตุเกิดแห่งความรักตรงๆ

หรือหลักสาราณียธรรม ๖ นี่ท่านก็บอกไว้ตรงๆ ว่าเป็น  “ปิยกรณ” คือทำให้เป็นที่รัก (endearing)  หรือถ้าอยากจะยกหลักธรรมครอบจักรวาลกันจริงๆ ก็-อัปปมาทะนั่นอย่างไร ท่านอุปมาเป็นรอยเท้าช้างรวมรอยเท้าไว้ได้ทั้งหมด อธิบายให้เป็นหลักธรรมแห่งความรักหรือแห่ง-อะไรได้ทุกเรื่องอยู่แล้ว

ถ้าปีนี้ค้นคว้ามาแสดงไม่ทันก็ไม่เป็นไร ปีหน้าวันวาเลนไทน์ก็มีอีก และปีหน้าวันมาฆบูชาก็ยังมีอีก มีเวลาเตรียมตัวตั้งปีหนึ่งเต็มๆ  แต่ถ้าจะให้ดี ไม่ต้องรอวันพิเศษแบบนั้นเลย เราสามารถศึกษาค้นคว้าหาความรู้และนำมาเผยแผ่ให้แพร่หลายได้ทุกวันอยู่แล้วมิใช่หรือ

นอกจากไม่ต้องเอาโอวาทปาติโมกข์ไปซุกใต้ปีกวันวาเลนไทน์แล้ว ยังเป็นการปลดแอกค่านิยม-สนใจอะไรๆ กันแค่วันเดียว อย่างที่คนไทยกำลังนิยมกันอยู่นี่ด้วย

ให้กำลังใจกันและกันนะครับ

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕,  ๑๙:๔๕










Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: