วันเสาร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2566

ใจคนชั่ว

ยถาจุทุมฺพรา  ปกฺกา,   พหิรตฺตกเมว  จ;
อนฺโต  กิมิลปูรโณ,    เอวํ  ทุชฺชนธมฺมตา.

มะเดื่อสุกภายนอกดูมีสีแดงเรื่องาม,  แต่ภายในเต็มไปด้วยหมู่หนอน ฉันใด,
ธรรมดาของคนชั่วภายนอกดูดี  แต่ภายในกลับมีใจสกปรก ฉันนั้น.

(ธรรมนีติ ทุชชนกถา ๑๑๗, โลกนีติ ๔๓, กวิทัปปณนีติ ๒๑๘)

ศัพท์น่ารู้ :

ยถาจุทุมฺพรา​  ศัพท์นี้ แต่เดิมเป็น ยถาจุฎฺฎมฺปรา ตัดบทเป็น ยถาจ+อุฏฺฏมฺปรา, ยถาจ (ฉันใด) นิบาตบอกอุปมา, ส่วน อุฏฺฏมฺปรา ยังหาศัพท์ไม่พบ ไม่ทราบแปลว่าอะไร, เข้าใจว่าน่าเป็นการศัพท์ที่คลาดเคลื่อนมาจาก ยถาจุทุมฺพรา คือตัดบทเป็น ยถาจ+อุทุมฺพรา, เพราะในโลกนีติและกวิทัปปณนีติ เป็น ยถา อุทุมฺพรปกฺกา แยกเป็น อุทุมฺพร (มะเดื่อ)+ปกฺก (สุก, สุกงอม) > อุทุมฺพรปกฺก+โย, ฉะนั้น จึงแก้ใหม่เป็น ยถาจุทุมฺพรา ปกฺกา, หรือ ยถาจุทุมฺพรปกฺกา ก็ได้.

มีอำเภอหนึ่งในจังหวัดศรีสะเกษ ชื่ออำเภออุทุมพรวิสัย หมายถึงเขตที่มีต้นมะเดื่อ คงหมายถึงอำเภอบ้านเดื่อ ก็ได้.

พหิรตฺตกเมวจ​  ตัดบทเป็น พหิรตฺตกํ+เอว จ; พหิ (ภายนอก)+รตฺตก (สีแดง, แดงเรื่อ) > พหิรตฺตก+สิ = พหิรตฺตกํ; เอว จ (ด้วยนั่นเทียว, นั่นเทียว) เป็นสมูหนิบาต

อนฺโต  (ภายใน) เป็นนิบาตใช้ในอรรถสัตตมีวิภัตติ

กิมิลปูรโณ  (เต็มด้วยหนอน) กิมิล (หนอน)+ปูรณ (เต็ม) > กิมิลปูรณ+สิ, ในโลกนีติเป็น กิมีหิ สมฺปุณฺณา ส่วนในกวิทัปปณนีติเป็น กิมิลสมฺปุณฺณา เป็นพหูพจน์เหมือน อุทุมฺพรปกฺกา. กิมิล อาจย่อมาจาก กิมิกุล (หมู่หนอน, กลุ่มหนอน) ก็ได้

เอวํ  (ฉันนั้น) นิบาตบอกอุปไมย

ทุชฺชนธมฺมตา  (ธรรมดาของทุรชน, ปกติของคนชั่ว) ทุชฺชน+ธมฺมตา > ทุชฺชนธมฺมตา+สิ

ในโลกนีติ คาถา ๔๓ มีข้อความชัดเจน น่าจดจำนำไปใช้ ดังนี้

ยถา  อุทุมฺพรปกฺกา,    พหิรตฺตกเมว  จ;

อนฺโต  กิมีหิ  สมฺปุณฺณา,    เอวํ  ทุชฺชนหทฺทยาฯ

มะเดื่อสุกภายนอกดูมีสีแดงเรื่องาม,  แต่ภายในเต็มไปด้วยหมู่หนอน ฉันใด,

หทัยของทุรชนคนชั่ว  ก็เหมือนกันฉันนั้น.

อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้

ก็เหมือนอย่างว่า ผลมะเดื่อที่สุกแล้วภายนอกดูสี  

แดงสดใส แต่ภายในเต็มไปด้วยแมลงหวี่ ธรรมดา

ของทุรชนเป็นอย่างนี้.

อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้...

มะเดื่อสุก ภายนอกดูแดงใส  แต่ภายในมีแมลงหวี่ นี้ฉันใด

ธรรดาทรชนก็ฉันนั้น.

_______

Credit: Palipage: Guide to Language - Pali

อ่านบทความเกี่ยวข้องเพิ่มเติม👉 เห็นผิดเป็นพาล , คนพาลสำคัญผิด , ลบรอยบาป , ลักษณะคนโง่ , ลักษณะคนเลว

1. อาจริยกถา แถลงอาจารย์ , 2. สิปปกถา - แถลงศิลปะ  , 3. ปัญญากถา - แถลงปัญญา , 4. สุตกถา - แถลงความรู้ , 5. กถากถา - แถลงถ้อยคำ , 6. ธนกถา - แถลงทรัพย์ , 7. เทสกถา - แถลงประเทศ , 8. นิสสยกถา - แถลงนิสัย , ๙. มิตตกถา - แถลงมิตร 





Previous Post
Next Post

0 comments: