วันศุกร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2566

ลักษณะคนโง่

ลักษณะคนโง่

นิทฺธโนปิจ   กาเมติ,   ทุพฺพโล   เวริกํกโร;
มนฺทสตฺโถ   วิวาทตฺถี,   ติวิธํ   มุฬฺหลกฺขณํ.

คนไร้ทรัพย์ชอบใช้จ่ายฟุ่มเฟือย  คนแรงน้อย ชอบก่อเรื่องสร้างศัตรู
คนรู้น้อย ชอบโต้เถียงโต้คารม  ทั้งสามนี้ เป็นลักษณะของโง่เขลา.

(ธรรมนีติ ทุชชนกถา ๑๑๕, มหารหนีติ ๑๒๑)

ศัพท์น่ารู้ :

นิทฺธโนปิจ  ตัดบทเป็น นิทฺธโน(ไม่มีทรัพย์, ไร้ทรัพย์)+อปิจ (เออก็, แม้อนึ่ง)

กาเมติ  (ปรารถนา, ต้องการ) √กมุ+เณ+ติ จุราทิคณะ, กัตตุวาจก

ทุพฺพโล (คนไม่มีกำลัง, แรงน้อย, ทุรพล) ทุ (ชั่ว, น้อย, ไม่มี) +พล (กำลัง, พลัง > ทุพฺพล+สิ

เวริกํกโร (ทำเวร, การต่อสู้, สร้างศัตรู) เวริก+กร > เวริกํกร+สิ

มนฺทสตฺโถ (มีตำราหย่อน, อ่อนความรู้, มีความรู้น้อย) มนฺท (อ่อน, หย่อน) + สตฺถ (ตำรา, ศาสตร์) > มนฺทสตฺถ+สิ

วิวาทตฺถี (มีความต้องการวิวาท, ชอบทะเลาะ, ชอบโต้คารม) วิวาท (การทะเลาะ, การวิวาท, โต้เถียง)+อตฺถี (มีความต้องการ) > วิวาทตฺถี+สิ

ติวิธํ (สามอย่าง, สามประการ, อย่างสาม, สามวิธี) ติ (สาม)+วิธ (วิธี, อย่าง) > ติวิธ+สิ

มุฬฺหลกฺขณํ (ลักษณะของคนหลง, -คนเขลา) มุฬฺห (หลง, โง่) + ลกฺขณ (ลักษณะ, เครื่องหมาย) > มุฬฺหลกฺขณ+สิ

ในมหารหนีติ คาถา ๑๒๑ มีบางศัพท์ที่ต่างกันนิดหน่อย ดังนี้

นิธโน  จาปิ  กาเมติ,   ทุพฺพโล  กลหํปิโย;

มนฺทสตฺโถ  วิวาทตฺถิ,   ติวิธํ  มุฬฺหลกฺขณํฯ

คนไร้ทรัพย์ชอบใช้จ่ายฟุ่มเฟือย  คนแรงน้อย ชอบหาเรื่องทะเลาะ

คนรู้น้อย ชอบโต้เถียงโต้คารม  ทั้งสามนี้ เป็นลักษณะของโง่เขลา.

อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้

เออก็คนที่ไร้ทรัพย์กลับใฝ่ในกาม  คนหย่อนกำลังกลับทำเวร

ทั้งคนมีความรู้หลักน้อยกลับชอบตีโวหาร  สามนี้เป็นลักษณะของคนเลว.

อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้...

เออก็ ! คนที่จนทรัพย์กลับใฝ่กาม  คนไม่มีกำลังกลับสร้างเวร

คนรู้น้อยชอบตีโวหาร  สามอย่างนี้ เป็นลักษณะของคนเลว.

_______


Previous Post
Next Post

0 comments: