วันเสาร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

กฐิน

กฐิน เป็นศัพท์ในพระวินัยปิฎกเถรวาท เป็นชื่อเรียกผ้าไตรจีวร ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุ ผู้อยู่จำพรรษาครบ3เดือนแล้ว  สามารถรับมานุ่งห่มได้โดยคำว่า การทอดกฐินหรือการกรานกฐิน จัดเป็นสังฆกรรมประเภทหนึ่ง ตามพระวินัยบัญญัติเถรวาท ที่มีกำหนดเวลา  คือพระสงฆ์สามารถกระทำสังฆกรรมนี้ได้ นับแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เท่านั้น 

โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ สร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ และ อนุเคราะห์ภิกษุผู้ทรงคุณที่มีจีวรชำรุด ดังนั้นกฐินจึงจัดเป็นเรื่องเกี่ยวกับสังฆกรรม ของพระสงฆ์โดยจำเพาะซึ่งนอกจาก ในพระวินัยฝ่ายเถรวาทแล้ว กฐินยังมี ในฝ่ายมหายานบางนิกายอีกด้วย แต่จะมีข้อกำหนดแตกต่างจากพระวินัยเถรวาท

การได้มาของผ้าไตรจีวรอันจะนำมากรานกฐิน ตามพระวินัยบัญญัติของเถรวาทนี้ พระพุทธองค์ไม่ทรงห้ามการรับผ้า จากผู้ศรัทธาเพื่อนำมากรานกฐิน ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้เกิดทานพิธีการถวายผ้ากฐิน หรือการทอดกฐินของพุทธศาสนิกชนขึ้น และด้วยการที่การถวายผ้ากฐินนั้น 

จัดเป็นสังฆทานคือถวายแก่คณะสงฆ์ โดยไม่เจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเพื่อให้คณะสงฆ์นำผ้าไปอปโลกน์ ยกให้แก่ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งตามที่คณะสงฆ์ลงมติ (ญัตติทุติยกรรมวาจา) และกาลทานที่มีกำหนดเขตเวลาถวายแน่นอน คณะสงฆ์วัดหนึ่งๆสามารถรับได้ครั้งเดียวในรอบปี   จึงทำให้ประเพณีการทอดกฐินเป็นบุญประเพณี นิยมที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย 

ประเพณีการทอดกฐินของพุทธศาสนิกชนไทย มีมาช้านานโดยมีทั้งพิธีหลวง และพิธีราษฎร์ โดยการถวายผ้าพระกฐินของพระมหากษัตริย์  จัดเป็นพระราชพิธีที่สำคัญประจำปี ในปัจจุบันถวายผ้ากฐินในแง่การสนับสนุนผ้าไตรจีวร เพื่อใช้ในสังฆกรรมสำคัญของคณะสงฆ์ ได้ถูกลดความสำคัญลงไป  แต่กลับให้ ความสำคัญกับบริวารของกฐินทานแทน เช่น เงิน หรือวัตถุสิ่งของเพื่อนำสิ่งเหล่านี้มาพัฒนาถาวรวัตถุ และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งจัดเป็นสังฆทานอย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน

กฐินมีกำหนดระยะเวลาถวาย จะถวายตลอดไปเหมือนผ้าชนิดอื่นมิได้ ระยะเวลานั้นมีเพียง 1 เดือน คือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 (วันเพ็ญเดือน 12) ระยะเวลานี้เรียกว่า กฐินกาล คือ ระยะเวลา ทอดกฐิน หรือ เทศกาลทอดกฐิน. 

ความหมายของกฐิน

กฐิน เป็นศัพท์บาลี แปลตามศัพท์ว่าไม้สะดึง คือ "กรอบไม้" หรือ "ไม้แบบ" สำหรับขึงผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรในสมัยโบราณ  ซึ่งผ้าที่เย็บสำเร็จจากกฐิน หรือไม้สะดึงแบบนี้เรียกว่า ผ้ากฐิน (ผ้าเย็บจากไม้แบบ)

กฐิน อาจจำแนกตามความหมาย เพื่อความเข้าใจง่ายได้ ดังนี้ 

1. กฐิน เป็นชื่อของกรอบไม้แม่แบบ (สะดึง) สำหรับทำจีวร ดังกล่าวข้างต้น

2. กฐิน เป็นชื่อของผ้าที่ถวายแก่พระสงฆ์เพื่อกรานกฐิน (โดยได้มาจากการใช้ไม้แม่แบบขึงเย็บ)

3. กฐิน เป็นชื่อของงานบุญประเพณี ถวายผ้าไตรจีวร แก่พระสงฆ์เพื่อกรานกฐิน

4. กฐิน เป็นชื่อของสังฆกรรมการกรานกฐินของพระสงฆ์

ความสำคัญพิเศษแตกต่างจากทานอย่างอื่น

การถวายกฐินนั้น มีข้อจำกัดหลายอย่าง ซึ่งทำให้การถวายกฐิน มีความพิเศษแตกต่างจากทานอย่างอื่น ดังนี้ มีไกว

1. จำกัดประเภททาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเฉพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอย่างอื่นไม่ได้

2. จำกัดเวลา คือกฐินเป็นกาลทานอย่างหนึ่ง (ตามพระบรมพุทธานุญาต) ดังนั้นจึงจำกัดเวลาว่าต้องถวายภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันออกพรรษา เป็นต้นไป

3. จำกัดงาน คือ พระภิกษุที่กรานกฐินต้องตัด เย็บ ย้อม และครองให้เสร็จภายในวันที่กรานกฐิน

4. จำกัดไทยธรรม คือ ผ้าที่ถวายต้องถูกต้องตามลักษณะที่พระวินัยกำหนดไว้

5. จำกัดผู้รับ คือ พระภิกษุผู้รับกฐิน ต้องเป็นผู้ที่จำพรรษาในวัดนั้น โดยไม่ขาดพรรษาตั้งแต่ 1 รูป ขึ้นไป และจะใช้ 5 รูป ขึ้นไป ในการกรานกฐินในโบสถ์เท่านั้น

6. จำกัดคราว คือ วัด ๆ หนึ่งรับกฐินได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น

7. เป็นพระบรมพุทธานุญาต ทานอย่างอื่นทายกทูลขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาต เช่น มหาอุบาสิกาวิสาขา ทูลขออนุญาตผ้าอาบน้ำฝน  แต่ผ้ากฐินนี้ พระองค์ทรงอนุญาตเอง นับเป็นพระประสงค์โดยตรง.

ความเป็นมาของกฐิน

ภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐ 30 รูป ได้เดินทางเพื่อมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี แต่ยังไม่ทันถึงเมืองสาวัตถี  ก็ถึงวันเข้าพรรษาเสียก่อน พระสงฆ์ทั้ง 30 รูป จึงต้องจำพรรษา ณ เมืองสาเกตุ ในระหว่างทาง พอออกพรรษาแล้ว   ภิกษุเหล่านั้น จึงได้ออกเดินทางมาเข้าเฝ้าพระศาสดา ด้วยความยากลำบากเพราะฝนยังตกชุกอยู่ เมื่อเดินทางถึงวัดพระเชตวัน 

พระพุทธเจ้าได้ตรัสถามถึงความเป็นอยู่ และการเดินทาง เมื่อทราบความลำบากนั้น จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุ ผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาส  สามารถรับผ้ากฐินได้ และภิกษุผู้ได้กรานกฐินได้อานิสงส์ 5 ประการ ภายในเวลาอานิสงส์กฐิน (นับจากวันที่รับกฐินจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4) คือ

1. ไปไหนไม่ต้องบอกลา

2. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับสามผืน

3. ฉันคณโภชน์ได้ (รับนิมนต์ที่เขานิมนต์โดยออกชื่อโภชนะฉันได้)

4. เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้โดยที่ยังมิได้วิกัปป์ และอธิษฐาน โดยไม่ต้องอาบัติ

5. จีวรลาภอันเกิดขึ้น จักได้แก่ภิกษุผู้ได้กรานกฐินแล้ว

  ☸️☸️☸️

ที่มา:   จากวิกิพีเดีย













Previous Post
Next Post

0 comments: