วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2560

พุทธประวัติโดยย่อ


พุทธประวัติฉบับย่อ

พระพุทธเจ้าทรงมีพระนามเดิมว่า “สิทธัตถะ” ซึ่งหมายถึง ผู้ที่สำเร็จความมุ่งหมายแล้ว หรือผู้ปรารถนาสิ่งใด ย่อมได้สิ่งนั้น เจ้าชายสิทธัตถะทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กษัตริย์ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ และ “พระนางสิริมหามายา” พระราชธิดาของกษัตริย์ราชสกุลโกลิยวงศ์แห่งกรุงเทวทหะ แคว้นโกลิยะ

พุทธประวัติย่อ ประสูติ 
ในคืนที่พระพุทธเจ้าเสด็จปฏิสนธิในครรภ์พระนางสิริมหามายา พระนางทรงพระสุบินนิมิตว่า มีช้างเผือกมีงาสามคู่ได้เข้ามาสู่พระครรภ์ ณ ที่บรรทม ก่อนที่พระนางจะมีพระประสูติกาล ที่ใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน เมื่อวันศุกร์ ขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนวิสาขะ ปีจอ 80 ปีก่อนพุทธศักราช (ปัจจุบันสวนลุมพินีวันอยู่ในประเทศเนปาล)

ทันทีที่ประสูติ เจ้าชายสิทธัตถะทรงดำเนินด้วยพระบาท 7 ก้าว และมีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับพระบาท พร้อมเปล่งพระวาจาว่า “เราเป็นเลิศที่สุดในโลก ประเสริฐที่สุดในโลก การเกิดครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายของเรา” แต่หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะประสูติกาลได้แล้ว 7 วัน พระนางสิริมหามายาก็เสด็จสวรรคาลัย เจ้าชายสิทธัตถะจึงอยู่ในความดูแลของพระนางประชาบดีโคตมี ซึ่งเป็นพระกนิษฐาของพระนางสิริมหามายา

ทั้งนี้ พราหมณ์ ทั้ง 8 ได้ทำนายว่า เจ้าชายสิทธัตถะมีลักษณะเป็นมหาบุรุษ คือ หากดำรงตนในฆราวาสจะได้เป็นจักรพรรดิ ถ้าออกบวชจะได้เป็นศาสดาเอกของโลก แต่โกณฑัญญะพราหมณ์ผู้อายุน้อยที่สุดในจำนวนนั้น ยืนยันหนักแน่นว่า พระราชกุมารสิทธัตถะจะเสด็จออกบวช และจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน


เจ้าชายสิทธัตถะ
ชีวิตในวัยเด็กของเจ้าชายสิทธัตถะ

ในวัยเด็กเจ้าชายสิทธัตถะทรงศึกษาเล่าเรียนจนจบศิลปศาสตร์ทั้ง 18 แขนง ในสำนักครูวิศวามิตร และเนื่องจากพระบิดาไม่ประสงค์ให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็นศาสดาเอกของโลก จึงพยายามทำให้เจ้าชายสิทธัตถะพบเห็นแต่ความสุข โดยการสร้างปราสาท 3 ฤดู ให้อยู่ประทับ


เจ้าชายสิทธัตถะอภิเษกสมรสกับพระนางยโสธรา
งานอภิเษกสมรสของเจ้าชายสิทธัตถะ
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะพระชนมายุ 16 พรรษา ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางพิมพา หรือยโสธรา พระธิดาของพระเจ้ากรุงเทวทหะซึ่งเป็นพระญาติฝ่ายพระมารดา จนกระทั่งมีพระชนมายุ 29 พรรษา พระนางพิมพาได้ให้ประสูติพระราชโอรส มีพระนามว่า “ราหุล” ซึ่งหมายถึง “บ่วง”

เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช
เจ้าชายสิทธัตถะทรงเบื่อความจำเจในปราสาท 3 ฤดู จึงชวนสารถีทรงรถม้าประพาสอุทยาน ครั้งนั้นได้ทอดพระเนตรเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช โดยเทวทูต (ทูตสวรรค์) ที่แปลงกายมา พระองค์จึงทรงคิดได้ว่า นี่เป็นธรรมดาของโลก ชีวิตของทุกคนต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงเกิด แก่ เจ็บ ตายได้จึงทรงเห็นว่าความสุขทางโลกเป็นเพียงภาพมายาเท่านั้น และวิถีทางที่จะพ้นจากความทุกข์ คือต้องครองเรือนเป็นสมณะ ดังนั้นพระองค์จึงใคร่จะเสด็จออกบรรพชา ในขณะที่มีพระชนม์ 29 พรรษา โดยพระองค์ทรงม้ากัณฐกะ สู่แม่น้ำอโนมา ก่อนจะประทับนั่งบนกองทราย ทรงตัดพระเมาลีด้วยพระขรรค์ และเปลี่ยนชุดผ้ากาสาวพัตร์ (ผ้าย้อมด้วยรสฝาดแห่งต้นไม้) และให้นายฉันทะ นำเครื่องทรงกลับไปยังกรุงกบิลพัสดุ์

เจ้าชายสิทธัตถะบำเพ็ญทุกรกิริยา

พระองค์มุ่งไปที่แม่น้ำคยา แคว้นมคธ ได้พยายามเสาะแสวงทางพ้นทุกข์ ด้วยการศึกษาค้นคว้าทดลองในสำนักอาฬารดาบส กาลามโครตร และอุทกดาบส รามบุตร แต่เมื่อเรียนจบทั้ง 2 สำนักแล้ว ทรงเห็นว่านี่ยังไม่ใช่ทางพ้นทุกข์จากนั้นพระองค์ได้เสด็จไปที่แม่น้ำเนรัญชรา ในตำบลอุรุเวลาเสนานิคม และทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ด้วยการขบฟันด้วยฟัน กลั้นหายใจและอดอาหาร จนร่างกายซูบผอม แต่หลังจากทดลองได้ 6 ปี ทรงเห็นว่านี่ยังไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ จึงทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา และหันมาฉันอาหารตามเดิม ด้วยพระราชดำริตามที่ท้าวสักกเทวราชได้เสด็จลงมาดีดพิณถวาย 3 วาระ คือดีดพิณสายที่ 1 ขึงไว้ตึงเกินไปเมื่อดีดก็จะขาด ดีดพิณวาระที่ 2 ซึ่งขึงไว้หย่อน เสียงจะยืดยาดขาดความไพเราะ และวาระที่ 3 ดีดพิณสายสุดท้ายที่ขึงไว้พอดี จึงมีเสียงกังวานไพเราะ ดังนั้นจึงทรงพิจารณาเห็นว่า ทางสายกลางคือไม่ตึงเกินไปและไม่หย่อนเกินไป นั่นคือทางที่จะนำสู่การพ้นทุกข์ หลังจากพระองค์เลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา ทำให้พระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยา มหานามะ อัสสชิ ที่มาคอยรับใช้พระองค์ด้วยความคาดหวังว่าเมื่อพระองค์ค้นพบทางพ้นทุกข์ จะได้สอนพวกตนให้บรรลุด้วย เกิดเสื่อมศรัทธาที่พระองค์ล้มเลิกความตั้งใจ จึงเดินทางกลับไปที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ตำบลสารนาถ เมืองพาราณสี


เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
เจ้าชายสิทธัตถะทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
พระองค์ตรัสรู้ ในตอนเช้าวันเพ็ญเดือน ๖ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ในตอนนั้นนางสุชาดาได้นำข้าวมธุปายาสเพื่อไปบวงสรวงเทวดา ครั้นเห็นพระมหาบุรุษประทับที่โคนต้นไทรด้วยอาการสงบ นางคิดว่าเป็นเทวดา จึงถวายทอดข้าวมธุปายาสแล้วเสด็จไปริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตอนเย็นวันนั้นเองพระองค์ได้กลับมายังต้นโพธิ์ที่ประทับ พบคนหาบหญ้าชื่อโสตถิยะ คนหาบหญ้าได้ถวายหญ้าให้พระองค์ปูลาด ณ ใต้ต้นโพธิ์ แล้วขึ้นประทับหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก และได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า แม้เลือดในกายของเราจะเหือดแห้งไปเหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตาม ถ้ายังไม่พบธรรมวิเศษแล้วจะไม่ยอมหยุดความเพียรเป็นอันขาด เมื่อทรงตั้งจิตอธิษฐานแล้ว พระองค์ก็ทรงสำรวมจิตให้สงบแน่วแน่พระองค์เริ่มบำเพ็ญเพียรทางจิต และในที่สุดทรงชนะความลังเลพระทัย ทรงบรรลุความสำเร็จ เมื่อพระองค์ทรงรู้เห็นอย่างนี้ จิตก็พ้นจากกิเลสทั้งปวง พระองค์ก็ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา ในวันเพ็ญ เดือน ๖ ปีระกาธรรมสูงส่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น คือ อริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค

การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า

ต่อมาพระพุทธเจ้าได้เทศน์พระธรรมเทศนาโปรดแก่ยสกุลบุตร รวมทั้งเพื่อนของยสกุลบุตร จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด รวม 60 รูป พระพุทธเจ้าทรงมีพระราชประสงค์จะให้มนุษย์โลกพ้นทุกข์ พ้นกิเลส จึงตรัสเรียกสาวกทั้ง 60 รูป มาประชุมกัน และตรัสให้พระสาวก 60 รูป จาริกแยกย้ายกันเดินทางไปประกาศศาสนา 60 แห่ง โดยลำพัง ในเส้นทางที่ไม่ซ้ำกัน เพื่อให้สามารถเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ในหลายพื้นที่อย่างครอบคลุม ส่วนพระองค์เองได้เสด็จไปแสดงธรรม ณ ตำบลอุรุเวลา เสนานิคม หลังจากสาวกได้เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในพื้นที่ต่างๆ ทำให้มีผู้เลื่อมใสพระพทุธศาสนาเป็นจำนวนมาก พระองค์จึงทรงอนุญาตให้สาวกสามารถดำเนินการบวชได้ โดยใช้วิธีการ “ติสรณคมนูปสัมปทา” คือ การปฏิญาณตนเป็นผู้ถึงพระรัตนตรัย พระพุทธศาสนาจึงหยั่งรากฝังลึกและแพร่หลายในดินแดนแห่งนั้นเป็นต้นมา


พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน
เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จโปรดสัตว์และแสดงพระธรรมเทศนา ตลอดระยะเวลา 45 พรรษา ทรงสดับว่า อีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรินิพพาน จึงได้ทรงปลงอายุสังขาร ขณะนั้นพระองค์ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวลาสี แคว้นวัชชี โดยก่อนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน 1 วัน พระองค์ได้เสวยสุกรมัททวะที่นายจุนทะทำถวาย แต่เกิดอาพาธลง ทำให้พระอานนท์โกรธ แต่พระองค์ตรัสว่า “บิณฑบาตที่มีอานิสงส์ที่สุด มี 2 ประการ คือ เมื่อตถาคต (พุทธองค์) เสวยบิณฑบาตแล้วตรัสรู้ และปรินิพพาน” และมีพระดำรัสว่า “โย โว อานนท ธมม จ วินโย มยา เทสิโต ปญญตโต โส โว มมจจเยน สตถา” อันแปลว่า “ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยอันที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว”

พระพุทธเจ้าทรงประชวรหนัก แต่ทรงอดกลั้นมุ่งหน้าไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธุ์ปรินิพพาน โดยก่อนที่จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานนั้น พระองค์ได้อุปสมบทแก่พระสุภัททะปริพาชก ซึ่งถือได้ว่า “พระสุภภัททะ” คือสาวกองค์สุดท้ายที่พระพุทธองค์ทรงบวชให้ ในท่ามกลางคณะสงฆ์ทั้งที่เป็นพระอรหันต์ และปุถุชนจากแคว้นต่างๆ รวมทั้งเทวดา ที่มารวมตัวกันในวันนี้ ในครานั้นพระองค์ทรงมีปัจฉิมโอวาทว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราขอบอกเธอทั้งหลาย สังขารทั้งปวงมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา พวกเธอจึงทำประโยชน์ตนเอง และประโยชน์ของผู้อื่นให้สมบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด” (อปปมาเทน สมปาเทต)

จากนั้นได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ใต้ต้นสาละ ณ สาลวโนทยาน ของเหล่ามัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 รวมพระชนม์ 80 พรรษา และวันนี้ถือเป็นการเริ่มต้นของพุทธศักราช
พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน

ฟังพุทธประวัติฉบับย่อ


ที่มา : mthai
Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: