วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2564

กถํชีวึ ชีวิตมาหุ เสฏฺฐํ - นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตของผู้ที่เป็นอยู่อย่างไรว่า “ประเสริฐสุด”

อาฬวกยักษ์ทูลถามพระพุทธองค์ในอาฬวกสูตรว่า  “กถํชีวึ  ชีวิตมาหุ  เสฏฺฐํ”  แปลว่า  “นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตของผู้ที่เป็นอยู่อย่างไรว่า “ประเสริฐสุด” ดังนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า  “ปญฺญาชีวึ  ชีวิตมาหุ  เสฏฺฐํ”  แปลว่า  “นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตของผู้ที่เป็นอยู่ด้วยปัญญาว่าประเสริฐสุด”

ก็ในบทว่า  ปญฺญาชีวึ  นี้  พึงทราบความอย่างนี้ว่า ในบรรดาผู้มีจักษุบอดข้างเดียวและผู้มีจักษุสองข้าง บุคคลผู้มีจักษุสองข้างนี้นั้น ผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ บำเพ็ญข้อปฏิบัติของคฤหัสถ์มีการขยันทำการงาน ถึงสรณะ แจกทาน สมาทานศีล และรักษาอุโบสถเป็นต้น หรือผู้เป็นบรรพชิต บำเพ็ญข้อปฏิบัติของบรรพชิตด้วยปัญญา ได้แก่ รักษาศีลที่ไม่ทำให้เดือดร้อนและบำเพ็ญจิตตวิสุทธิที่ยิ่งกว่า (ศีล) นั้น (จิตตวิสุทธิ คือข้อปฏิบัติเพื่อความหมดจดของจิตหรือเพื่อความปราศจากกิเลส) เป็นอยู่ ท่านกล่าวชีวิตของผู้เป็นอยู่ด้วยปัญญานั้น คือท่านกล่าวชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญานั้นว่า “ประเสริฐที่สุด”

หมายความว่า

ถ้าเป็นคฤหัสถ์ต้องประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นคนขยันในทำมาหากิน ถึงสรณะมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึง หมั่นทำบุญให้ทาน สมาทานศีลหมั่นรักษาศีลไม่ให้ขาด และรักษาอุโบสถในวันพระอันเป็นการประพฤติพรหมจรรย์ตามวาระโอกาส ชื่อว่า “ผู้เป็นอยู่ด้วยปัญญา”

ถ้าเป็นบรรพชิต ต้องรักษาศีลให้บริสุทธิ์ไม่ทำให้เดือนร้อนใจในภายหลัง ดังอานิสงส์ในการรักษาพระวินัยว่า  “พระวินัยที่ภิกษุรักษาดีแล้ว ย่อมได้รับอานิสงส์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ดังนี้

๑. ไม่เป็นทุกข์เดือดร้อนใจว่าบวชเข้ามาเป็นพระแล้วทำผิดศีลผิดวินัย

๒. รู้สึกแช่มชื่นใจว่าตนบวชแล้วก็ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามธรรมตามวินัย ไม่เป็นพระภิกษุทุศีล

๓. ไม่ถูกตำหนิติเตียนอันเนื่องมาจากการไม่รักษาวินัย

๔. ไม่ถูกจับกุมประจารลงโทษ

๕ จะเข้าสมาคมกับผู้ทรงศีลก็ไม่เก้อเขินสะทกสะท้าน

เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “วินัยคือกองศีลของตนอันบรรพชิตนั้นคุ้มครองรักษาดีแล้ว ย่อมเป็นที่พึ่งพิงของเหล่ากุลบุตรผู้ถูกความสงสัยครอบงำ ย่อมกล้าพูดในท่ามกลางสงฆ์ ย่อมข่มขี่พวกข้าศึกได้ด้วยดีโดยสหธรรม ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม” อนึ่งวินัยเป็นข้อปฏิบัติให้บรรลุความหลุดพ้นจากกิเลสเป็นที่สุด เมื่อรักษาวินัยได้แล้ว ก็ต้องบำเพ็ญวัตรเพื่อจิตตวิสุทธิคือสมถะและวิปัสสนาอันเป็นข้อปฏิบัติเพื่อความหมดจดของจิตหรือเพื่อความปราศจากกิเลส

บรรพชิตผู้เป็นอยู่อย่างนี้ชื่อว่า “ผู้เป็นอยู่ด้วยปัญญา” ดังนี้ ฯ








Previous Post
Next Post

0 comments: