วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ปุจฉาและวิสัชนากับพระอาจารย์บัณฑิต ญาณธีโร


ปุจฉา - วิสัชนา กับ "พระอาจารย์บัณฑิต ญาณธีโร" 

ปุจฉา : พระอาจารย์วิเคราะห์หน่อยคะ

วิสัชนา :   การฆ่าคนในเกมส์ที่มีการต่อสู้นั้น



จะบาปหรือไม่นั้น หากนำหลักขององค์ปาณาติบาต 5 ข้อมาพิจารณา ดังนี้คือ

1. ปาโณ สัตว์นั้นมีขีวิต

2. ปาณสณฺญิตา  รู้ว่า สัตว์นั้นมีชีวิต

3. วธกจิตตํ  มีจิตคิดจะฆ่า

4. ปโยโค. ทำความเพียรเพื่อฆ่า

5. เตน มรณํ สัตว์นั้นตายลงด้วยความเพียรนั้น 

องค์ 5 นี้ เป็นการแสดงถึงองค์แห่งการก้าวล่วงกรรมบถที่บุคคลใดได้กระทำชีวิตของสัตว์อื่นให้ตกล่วงไปแล้ว การกระทำนี้ย่อมมีโอกาสส่งผลนำเกิดในอบายภูมิได้ 

เมื่อวิเคราะห์ในองค์ทั้ง 5 จะเห็นได้ว่า

ข้อ 1 เป็นสัตว์อื่น 

ข้อ 2 เป็นการรับรู้ทางใจของผู้กระทำ 

ข้อ 3 เป็นการเกิดอกุศลกรรมทางใจอันมีโทสเป็นมูล ที่จะก่อให้เกิดการกระทำอกุศลทางกาย หรือวาจา หรือทั้งสอง ของผู้กระทำ

ข้อ 4 เป็นการเกิดอกุศลกรรมทางกายหรือวาจา หรือทั้งสอง ของผู้กระทำเพื่อกระทำปาณาติบาต 

ข้อ 5 สัตว์นั้นสิ้นชีวิตโดยความขาดการสืบต่อของชีวิตินทรีย์ อันเป็นสัตว์อื่น

เมื่อวิเคราะห์เรื่องการเล่นเกมส์  ในทางโลกถือว่าเป็นการผ่อนคลายและเรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ ตามเนื้อหาสาระของเกมส์ เกมส์ที่เกี่ยวกับการฆ่าคนนั้นมีการนำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งสงคราม การต่อสู้และป้องกันตัว ซึ่งจุดมุ่งหมายของเกมส์ทุกประเภทย่อมที่จะกระตุ้นให้ผู้เล่นเกิดความอยากที่จะเอาชนะ ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดโลภะโทสะ อันเป็นอกุศลธรรม 

ในเกมส์ประเภทฆ่าคนหรือฆ่าสัตว์ ทำร้ายคนหรือสัตว์ เมื่อพิจารณาการตามหลักองค์แห่งการล่วงปาณาติบาต 5 นี้ จะพบว่า 

1. คนหรือสัตว์ในเกมส์ อันเป็นสัตว์อื่น  ซึ่งไม่มีชีวิต

2. รู้ว่า สัตว์นั้นไม่มีชีวิต

3. การฆ่าคนหรือสัตว์ในเกมส์แม้ว่า จะไม่มีชีวิต แต่สภาพจิตใจมีการประทุษร้ายในอารมณ์อันเป็นสภาพของโทสมูลจิต 

4. มีความพยายามในการฆ่าหรือประทุษร้าย แม้ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ในเกมส์ก็ตาม

5. คนหรือสัตว์ในเกมส์ไม่มีชีวิต ดังนั้นจึงไม่มีความขาดแห่งชีวิตินทรีย์

ดังนั้นการฆ่าคนในเกมส์จึงไม่ถือว่าเป็นปาณาติบาต เพราะคนหรือสัตว์ในเกมส์ไม่มีชีวิตและไม่มีการตาย ตามที่พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ได้กล่าว ส่วนการฆ่าคนในเกมส์จะเป็นบาปหรือไม่นั้น เมื่อพิจารณาจากองค์แห่งการล่วงปาณาติบาตแล้ว ข้อ 3 และ 4 เป็นการกระทำทางใจ และกายหรือวาจา หรือทั้งสองอันมีโทสมูลจิตเป็นสมุฏฐาน ซึ่งสำเร็จเป็นอกุศลกรรมทางใจ และกายหรือวาจา หรือทั้งกายและวาจาได้  ซึ่งในขณะเล่นเกมส์ที่มีการฆ่า ย่อมมีจิตคิดมุ่งประทุษร้ายให้อีกฝ่ายหนึ่งสูญสิ้น 

แม้ว่าจะไม่มีชีวิตก็ตาม ถือว่า อกุศลกรรมได้สำเร็จแก่ผู้เล่น จึงนับว่า บาปอกุศลเกิดขึ้นกับผู้เล่นเป็นการกระทำตนให้เดือดร้อนเพราะบาปอกุศลได้เกิดขึ้นกับผู้เล่นเช่นทั้งทางใจ และกายหรือวาจา หรือกายและวาจาทั้งสอง เพราะการกระทำทางกายและวาจาย่อมสำเร็จด้วยใจ ตามที่พระศักดา สุนฺทโร ได้กล่าวไว้

ทั้งสองท่านได้กล่าวโดยอ้างหลักที่ต่างกัน โดยพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ อ้างในหลักของศีล และการสำเร็จเป็นกรรมบถ แต่พระศักดา สุนฺทโร อ้างในเรื่อง หลักสภาวะธรรม 

การนำเสนอความเห็นในทางธรรมต้องไม่ใช้คำว่า “ตรรกะ” เพราะยังไม่ใช่หลักความจริงที่แท้จริง ยังมีความคิดเห็นส่วนตัวของผู้คิดเองซึ่งเป็นผู้ที่ยังมีความเห็นผิด ไม่ใช่เป็นผู้รู้รอบในสภาพตามความเป็นจริงต่าง ๆ ต้องใช้หลักของพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม ร่วมกันพิจารณา 

หรือที่เรียกว่า หลักธรรมและวินัย อันเป็นคำสอนที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และได้แสดงไว้  อันเป็นคำสอนที่มาจากความจริงขั้นปรมัตถ์  มาพิจารณาตัดสินร่วมกันจะทำให้ได้รับคำตอบที่ถูกต้องและสมบูรณ์

ขอบคุณที่มา: เฟสบุ๊กเพจ รู้อะไรไม่สู้รู้ "อภิธรรม"

และที่มาของข่าว: https://www.springnews.co.th/social/801009


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: