วันพุธที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2560

พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ไขข้อข้องใจ ! ทำไมถึงห้าม ?

พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ไขข้อข้องใจ ! ทำไมถึงห้าม ?

การจะรู้เหตุผลหรือที่มาของข้อห้ามบางอย่าง บางทีเราต้องให้ความสำคัญหรือทำความเข้าใจกับความเชื่อและจารีตของแต่ละท้องถิ่นนะ อย่างข้อสงสัยบางอย่างว่า ทำไมบางพื้นที่ จึงมีการห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้าไปสู่เขตโบราณสถานหรือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งคนในชุมชนนั้นนั้นเขาให้ความเคารพนับถือ

อันนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และไม่ใช่แค่เรื่องของความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ อย่างที่เราเข้าใจ บางทีแค่เห็นป้ายแบบนี้เราอาจคิดว่า อ้อ นี่เป็นเรื่องของการกดขี่ผู้หญิง ไม่ให้เกียรติผู้หญิงเท่ากับผู้ชาย อะไรแบบนี้ ในความเป็นจริงอาจจะตรงกันข้าม หรือมีความลึกซึ้งมากกว่าที่เรามองก็ได้

ในเรื่องของจารีตประเพณีนั้น หลายชุมชนอาจให้ความสำคัญกับเรื่องของ ขึด หรือ คะลำ หรือ ขนาบ ตามแต่ภาษาที่จะเรียก ซึ่งหมายถึง ข้อห้ามร่วมกัน ในการที่จะไม่ไปละเมิดหรือทำผิดในข้อห้ามนั้นนั้น ซึ่งการไม่เข้าไปสู่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์บางแห่งของผู้หญิง ก็ถือเป็นขึดหรือคะลำ อย่างหนึ่งของบางชุมชน

แล้วข้อห้ามพวกนี้ บางทีมันก็มีเหตุผลนะ เช่นว่า พระธาตุหรือวิหารเจดีย์บางแห่งนั้น สมัยก่อน มีการฝังสิ่งที่ชาวบ้านถือว่า เป็นของศักดิ์สิทธิ์ไว้ข้างล่าง ใต้ฐาน หรือมีการสวดคาถาบางอย่าง เพื่อให้สถานที่นั้นเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชุมชน ในการที่จะประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อ

แล้วทีนี้ ผู้หญิง ซึ่งโดยความเชื่ออีกเหมือนกันว่า เวลามีประจำเดือนแล้วเนี๊ยะ ประจำเดือนของผู้หญิงมีอำนาจในการที่จะทำลายความศักดิ์สิทธิ์หรือของศักดิ์สิทธิ์บางอย่างลงได้ ถ้าเกิดว่าเข้าไปภายในพื้นที่เหล่านั้น หรือทำให้พื้นที่เหล่านั้นแปดเปื้อนด้วยประจำเดือน นี่จึงเป็นเรื่องว่า ทำไมจึงห้าม

ถ้ามองแบบนี้ กลายเป็นว่า คนในชุมชนหรือสังคมโบราณ เขามองผู้หญิงว่า เป็นเพศที่อำนาจเหนือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกนะ เพราะสามารถทำลายความศักดิ์สิทธิ์ได้ เห็นไหม ดังนั้น อะไรที่เป็นขึดเป็นข้อห้ามสำหรับชุมชนนั้นนั้น เราในฐานะคนนอกซึ่งอยากเข้าไปสัมผัสพวกเขา จำเป็นต้องเคารพ

ข้อห้ามบางอย่างมันอาจดูไร้สาระสำหรับเรา แต่ในความรู้สึกของคนในพื้นที่ ถ้าละเมิดแล้ว มันอัปปรีย์ มันเป็นเสนียด เป็นอัปมงคล (หมายถึงสิ่งที่จะเกิดกับคนในชุมชนตามความเชื่อ ไม่ได้หมายถึงคนที่ละเมิด) มันกระทบกับความรู้สึกของพวกเขา และอาจนำความไม่สบายใจหรือความเดือดร้อนมาสู่ชุมชนโดยรวม นี่เราต้องเข้าใจ




ที่มา : ไพรวัลย์ วรรณบุตร

วันพุธที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2560

วันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓

"มาฆะ" เป็นชื่อของเดือน ๓ มาฆบูชานั้น ย่อมาจากคำว่า"มาฆบุรณมี" แปลว่าการบูชาพระในวันเพ็ญ เดือน ๓ วันมาฆบูชาจึงตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ แต่ถ้าปีใดมีเดือน อธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ในวันพุทธศาสนา คือวันที่มีการประชุมสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพุทธศาสนา ที่เรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาต" และเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปฎิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวกเป็นครั้งแรก ณ เวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ เพื่อให้พระสงฆ์นำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะยังพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป

โอวาทปาฏิโมกข์
โอวาทปาฏิโมกข์ - หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา หรือคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ผู้ไปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ พระเวฬุ วนาราม ในวันเพ็ญเดือน ๓ ที่เราเรียกกันว่าวันมาฆบูชา (ถรรถกถากล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ นี้ แก่ที่ประชุมสงฆ์ตลอดมา เป็นเวลา ๒๐ พรรษา ก่อนที่จะโปรดให้สวดปาฏิโมกข์อย่างปัจจุบันนี้แทนต่อมา),

 คาถา โอวาทปาฏิโมกข์ มีดังนี้ (โอวาทปาติโมกข์ ก็เขียน)

สพฺพปาปสฺส   อกรณํกุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํ  เอตํ พุทธาน สาสนํฯ

ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ

อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ


แปล : การไม่ทำความชั่วทั้งปวง, การบำเพ็ญแต่ความดี, การทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง, พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่านิพพาน เป็นบรมธรรม,
ผู้ทำร้ายคนอื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต, ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ 

การไม่กล่าวร้าย, การไม่ทำร้าย, ความสำรวมในปาฏิโมกข์, ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร, ที่นั่งนอนอันสงัด, ความเพียรในอธิจิต นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย 


ที่เข้าใจกันโดยทั่วไป และจำกันได้มาก ก็คือ ความในคาถาแรกที่ว่า 
"ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส"

คำว่า "จาตุรงคสันนิบาต" แยกศัพท์ได้ดังนี้ คือ "จาตุร" แปลว่า ๔ "องค์" แปลว่า ส่วน "สันนิบาต" แปลว่า ประชุม ฉะนั้นจาตุรงคสันนิบาตจึงหมายความว่า "การประชุมด้วยองค์ ๔" กล่าวคือมีเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันนี้ คือ

๑. เป็นวันที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหารในกรุงราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย
๒. พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" คือเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจาก พระพุทธเจ้าทั้งสิ้น
๓. พระภิกษุสงฆ์ทุกองค์ที่ได้มาประชุมในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผุ้ได้บรรลุพระอรหันต์แล้วทุก ๆองค์
๔. เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงกำลังเสวยมาฆฤกษ


การปฎิบัติตนสำหรับพุทธศาสนาในวันนี้ก็คือ การทำบุญตักบาตรในตอนเช้า หรือไม่ก็จัดหาอาหารคาวหวานไปทำบุญฟังเทศน์ที่วัด ตอนบ่ายฟังพระแสดงพระธรรมเทศนา ในตอนกลางคืน จะพากันนำดอกไม้ ธูปเทียน ไปที่วัดเพื่อชุมนุมกันทำพิธีเวียนเทียนรอบพระอุโบสถพร้อมกับพระภิกษุสงฆ์ โดยเจ้าอาวาสจะนำว่า นะโม ๓ จบ จากนั้นกล่าวคำถวายดอกไม้ธูปเทียน ทุกคนว่าตาม จบแล้วเดินเวียนขวา ตลอดเวลาให้ระลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ จนครบ ๓ รอบ แล้วนำดอกไม้ ธูปเทียนไปปักบูชาตามที่ทางวัดเตรียมไว้เป็นอันเสร็จพิธี

กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันมาฆบูชา

๑. ทำบุญใส่บาตร
๒. ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม และฟังพระธรรมเทศนา
๓. ไปเวียนเทียนที่วัด
๔. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ
____

The significance of Vesak Full Moon Day , Māgha Pūjā Day , Pavāranā day , Happy Vesak Day. ,  วันวิสาขบูชา  , วันวิสาขบูชา การบูชาในวันเพ็ญวิสาขะ  , วันอาสาฬหบูชา , วันอาสาฬหบูชา ประวัติและความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา , สาระสำคัญของวันมาฆบูชา , วันมาฆบูชา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา , 'วันพระ' วันธรรมสวนะ หรือ วันอุโบสถ , วันออกพรรษา-Day of going out of Vassa , วันเข้าพรรษา-Buddhist Lent Day Observances , วันอาสาฬหบูชา , วันนี้วันพระ“วันอัฏฐมีบูชา” , วันอัฏฐมีบูชา , วันมหาปวารณา , ปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้า , วิสาขบูชานุสติ , พระพุทธเจ้า“ประกาศอิสรภาพ”ให้แก่มวลมนุษย์ , ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระองค์ได้ตรัสอะไรไว้กับชาวโลกบ้าง , เมื่อคืนพระจันทร์สวย ในวันวิสาขบูชา : พิจารณาธรรมชาติ , กฐิน


































แหล่งที่มา : dhammathai

วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ เปิดเผยว่า บทสวดมนต์ที่พระกำลังสวดอยู่ในคลิปคือ บทธัมมจักกัปปวัตตนสูตร และหลวงพี่แผดเสียงสวด เรียกทำนอง "กระทุ้ง หรือกระแทกเสียง"

พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ เปิดเผยว่า บทสวดมนต์ที่พระกำลังสวดอยู่ในคลิปคือ บทธัมมจักกัปปวัตตนสูตร และหลวงพี่แผดเสียงสวด เรียกทำนอง "กระทุ้ง หรือกระแทกเสียง"

กำลังเป็นคำถามที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย หลังมีคลิปวิดีโอพระสวดมนต์เป็นจังหวะแร็พ เผยแพร่อยู่ในโซเชียลมีเดีย โดยพระในคลิป นอกจากสวดมนต์ด้วยสำเนียงอันรวดเร็วแล้ว ยังโยกศีรษะตามจังหวะอีกด้วย จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคม

ล่าสุด วันนี้(1 พ.ย.60) พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ พระนักคิดนักเขียน วัดสร้อยทอง เปิดเผยว่า บทสวดมนต์ที่พระกำลังสวดอยู่ในคลิปคือ บทธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มีเนื้อหาพูดถึงเรื่องเทวดาที่อนุโมทนากับพระสูตร หรือพระธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงเป็นครั้งแรก ถือเป็นบทสวดมนต์อีกบทหนึ่ง ที่ค่อนข้างยาว หากสวดตั้งแต่ต้นจนจบ โดยจะใช้สวดในงานมงคลที่เป็นงานใหญ่ เช่น งานพุทธาภิเษก และงานขึ้นบ้านใหม่เป็นต้น

ส่วนการสวดมนต์ในคลิปวิดีโอ เรียกว่า การสวดทำนองกระทุ้ง ซึ่งมีอยู่จริง โดยลักษณะการสวดเช่นนี้ มีการสวดในบางท้องถิ่น พระมหาไพรวัลย์ เปิดเผยอีกว่า ไม่เคยเห็นการใช้ทำนองกระทุ้ง กับการสวดบทธัมมจักกัปปวัตตนสูตรมาก่อน และเพิ่งเห็นครั้งแรกจากคลิปวิดีโอที่กำลังเผยแพร่ อยู่ในขณะนี้
พระมหาไพรวัลย์ เปิดเผยถึงบทสวดมนต์ดังกล่าวว่า ปกติการสวดทำนองกระทุ้ง หรือกระแทกเสียง จะสวดในการปัดเป่า หรือสะเดาะเคราะห์ เช่นสวดภาณยักษ์ บางพื้นที่ใช้สวดสะหัสสะนัย ซึ่งใช้สวดในงานศพ แต่การสวดทำนองกระทุ้ง แม้จะมีการกระแทกเสียง มีท่วงทำนองที่รวดเร็ว จะไม่มีการแสดงท่าทางโยกหัว และส่ายหน้า เหมือนพระที่ปรากฏในคลิป

พระมหาไพรวัลย์ มีความเห็นว่า ในพระวินัยไม่มีการสวดมนต์เช่นนี้ แต่ต้องเข้าใจว่า การสวดแบบกระทุ้ง เป็นความเชื่อท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาช้านาน อาจเป็นเพราะในสมัยโบราณ มีพระที่คิดการสวด ด้วยความเชื่อกึ่งไสยศาสตร์ เช่น เชื่อว่า สวดแบบกระทุ้งหรือกระแทกเสียง สามารถช่วยปัดเป่าสิ่งไม่ดี สร้างความขลัง ทำให้มีความศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น

พร้อมกับแสดงความเห็นต่อคลิปวิดีโอที่ปรากฏออกมาว่า ไม่ค่อยเหมาะสม เนื่องจาก เนื้อหาของบทธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พูดถึงหลักการของพระพุทธศาสนา พูดถึงความดีงามในสิ่งที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมครั้งแรก ถ้าจะให้ความเคารพกับพระธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดง ควรสวดมนต์ด้วยความเคารพ

พระมหาไพรวัลย์ บอกอีกว่า การสวดมนต์ด้วยลักษณะท่าทางโยกหัว กระแทกเสียงเช่นนี้ อาจจะทำให้เข้าใจว่า ไม่เคารพพระธรรมคำสอน และยังขัดแย้งกับสมณศักดิ์ของการเป็นพระภิกษุ เนื่องจาก แทนที่ฟังแล้วจะได้ความสงบ เลื่อมใสในพระธรรมคำสอน กลับทำให้รู้สึกตรงกันข้าม

หากสังเกตในคลิปวิดีโอ พระรูปอื่นก็สวดแบบกระทุ้งเสียง แต่ไม่แสดงท่าทางเหมือนพระภายในคลิป ซึ่งพระมหาไพรวัลย์ มองว่า ท่านอาจจะเล่นเยอะไป

พระมหาไพรวัลย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องเป็นการดีที่คนเห็นอะไรแปลกๆ แล้วมาตั้งคำถาม ในแง่หนึ่งก็ทำให้ตนได้หาข้อมูล หาความรู้ว่าการสวดเช่นนี้ มีจริงหรือไม่ จะได้ช่วยกันหาคำตอบให้กับสังคม



ที่มา : AmarinTV

วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ให้ ปชช.มี "สติปัญญา" ตามรอยพระบาท พระธรรมเทศนา "สมเด็จพระสังฆราช" ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

ให้ ปชช.มี "สติปัญญา" ตามรอยพระบาท พระธรรมเทศนา "สมเด็จพระสังฆราช" ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

สมเด็จพระสังฆราชแสดงพระธรรมเทศนา พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ ๙ ขอประชาชนตามรอยพระบาทในหลวงรัชกาลที่ ๙ มีสติและปัญญา ดำรงตนด้วยความไม่ประมาท ทำคุณประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ย่อมทำให้พระองค์ทรงอิ่มพระราชหฤทัย

วันนี้ (26 ต.ค.) ที่พระที่นั่งทรงธรรม มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ถวายพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์ แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประมุขและผู้แทนรัฐ พระบรมวงศานุวงศ์ มีใจความโดยสรุปว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรทรงดำรงพระชนมชีพด้วยพรหมวิหารธรรม คือมีพระเมตตากรุณาต่อพระประยูรญาติ พระบรมวงศานุวงศ์ และอาณาประชาราชโดยไม่แบ่งแยก ตามพระปฐมพระบรมราชโองการ หากทรงทราบว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคุ้มครองประชาชนโดยธรรม และประชาชนน้อมนำพระปัญญาของพระองค์มาปฏิบัติ สามารถพึ่งพาตนเอง มีสติปัญญาและคุณธรรมคงความผาสุก ย่อมอิ่มพระราชหฤทัย

พระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ยังแสดงพระธรรมเทศนาอีกว่า สังขารเปรียบเหมือนบ้านเรือน เป็นของสวยงามแตกต่างกัน นอกจากธรรมะไม่มีอะไรที่จะแบ่งสรีระให้ดีชั่วสูงต่ำได้ หากผู้ครองสังขารเป็นผู้มีธรรมะ สังขารก็จะเป้นบ้านเรือนของผู้ประเสริฐ สำหรับธรรมะที่จะทำให้พ้นจากทุกข์ได้คือ สติปัญญา หากขาดสติปัญญา สังขารย่อมปรุงแต่งจิตให้เป็นจิตแห่งความโลภ โกรธ และหลง อันเป็นมูลเหตุในการพูดและกระทำความชั่วทุกชนิดในทันที และปัญญาจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีสติเกิดด้วยทุกครั้ง ดังนั้น การรู้แจ้งอริยสัจธรรมดับกิเลสตามลำดับขั้น ต้องเป็นเรื่องของสติและปัญญาเท่านั้นที่จะเป็นไปเพื่อการรู้ระลึกสภาวะธรรมตามความเป็นจริง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระสติระลึกรู้ จึงทรงดำรงพระชนมชีพอย่างสง่าทั้งทางโลกและทางธรรมด้วยปัญญา สรุปประมวลได้ว่า พระองค์ทรงถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทในชีวิต พระบุญญาธิการจึงไพบูลย์ ประชาชนควรตามรอยพระยุคลบาทให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทและทำประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น เพื่อพระผู้เสด็จจากไปจักได้ทรงอิ่มพระราชหฤทัยว่า กิจอันต้องกระทำ ได้กระทำเสร็จแล้ว และย่อมทรงบันเทิงทิพยารมณ์อย่างไม่ต้องสงสัย สมดังนัยยะพระพุทธภาษิตที่ว่า บุคคลผู้มีบุญอันได้ทำไว้แล้วย่อมยินดีในโลกนี้ ละโลกนี้ไปแล้ว ก็ย่อมยินดี คือย่อมยินดีในโลกทั้งสอง ย่อมยินดีว่าบุญเราได้ทำไว้แล้ว ครั้นไปสู่สุคติแล้วก็ย่อมยินดีกว่านี้อีกด้วยประการฉะนี้

พระธรรมเทศนาพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพีระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร แม้เสด็จสวรรคตล่วงลับไปกว่า 1 ปีแล้ว ก็เหมือนยังทรงสำแดงพระองค์ให้ปรากฏแก่ผู้รำลึกถึง ในเวลาคำนึงถึงพระราชคุณูปการ จะรู้สึกเหมือนได้รับพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์โดยตรง เฉกเช่นบัณฑิตผู้ทรงความปรีชาย่อมปรารภความอย่างเดียวกัน สรรเสริญพระบรมศาสดา แม้พระองค์เสด็จปรินิพพานนานมาแล้ว ก็ดุจปรากฏอยู่โดยความเป็นอตีตารมณ์ คือคำนึงเห็นแม้ล่วงไปแล้วยังอยู่ด้วยพระคุณทั้งหลาย อันจะพึงรู้สึกได้ด้วยใจ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรทรงถนอมอุปการะพระราชโอรส พระราชธิดา พระราชนัดดา และพระราชปนัดดา ตามหน้าที่แห่งสมเด็จพระราชบุพการีตลอดมา พระทายาทที่ทรงพระเจริญแล้ว พอจะทรงพระอุเบกขาได้ ก็ยังมีพระราชหฤทัยจดจ่อด้วยพระเมตตากรุณา สมด้วยพระพุทธภาษิตว่า พฺรหฺมาติ มาตาปิตโร มารดาบิดาชื่อว่าเป็นพรหมของบุตร ก็พรหมมีเมตตากรุณาเป็นธรรมะเครื่องอยู่ฉันใด พระองค์ย่อมทรงพระเมตตาปรารถนาสุขและทรงพระกรุณาวิตกวิจารณ์จากเรื่องทุกข์ของพระทายาทฉันนั้น แต่พรหมวิหารธรรมของพระองค์หาได้เผื่อแผ่จำกัดเฉพาะแก่ในเฉพาะประยูรญาติเท่านั้น แม้พระบรมวงศานุวงศ์ก็ยังเผื่อแผ่ไปด้วย และเผื่อแผ่ตลอดโดยตรงถึงอาณาประชาราชทุกหมู่เหล่าทุกเชื้อชาติศาสนา ทุกเพศและทุกวัย ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ บรรดาที่ควรจะทรงสงเคราะห์ได้ด้วยสถานใดๆ ก็ทรงสงเคราะห์ด้วยสถานนั้นๆ กล่าวอย่างสั้นคือ ทรงดำรงพระชนมชีพเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวไทยและชาวโลก ต้องตามพระปฐมพระบรมราชโองการทุกประการ

หากทรงทราบด้วยพระญาณวิถี เมื่อสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าได้ทรงรับสิริราชสมบัติจะทรงคุ้มครองประชาชนโดยธรรม และหากทรงทราบโดยพระญาณวิถีว่า ประชาชนที่พระองค์ทรงห่วงนั้น จะสามารถน้อมนำพระปัญญาญาณไปบันดาลชีวิตของตนให้อยู่ดีมีสุข พึ่งพาตนเองได้ เป็นพลเมืองดี มีสติปัญญาและคุณธรรมพรั่งพร้อมยังคงความผาสุขร่มเย็นอย่างยั่งยืน ย่อมทรงอิ่มพระราชหฤหัย ดุจดังพระบรมศาสดา ทรงกระทำพุทธกิจแก่พระสาวก ทรงอิ่มพระพุทธกมลแล้วเปล่งพระวาจาว่า กิจใดศาสดาผู้กรุณาแสวงหาประโยชน์พึงทำแก่สาวกทั้งหลาย กิจนั้นเราได้ทำแล้วแก่พวกท่านทุกประการดังนี้

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อจะเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ประทานพระปัจฉิมโอวาทว่า "หนฺททานิ ภิกฺขเว อามันฺตยามิ โว วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ" ความว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราเตือนท่านทั้งหลาย สังขารมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำประโยชน์ต่อตนและผู้อื่นให้ล้นให้สมบูรณ์ด้วยความไม่ประมาท

สังขารหรือสภาพแห่งร่างกายและจิตใจอันถูกปรุงแต่งขึ้น เปรียบเหมือนบ้านเรือน เป็น "อัพยากตธรรม" ไม่จัดเป็นบุญเป็นบาป อย่างดีเพียงที่ปรากฏและเห็นอยู่ภายนอก เป็นของสวยของงามแตกต่างกันบ้างก็เท่านั้น ความสำคัญอยู่ที่ผู้อยู่ในบ้านเรือนนั้นต่างหากว่าเป็นใคร ถ้าเป็นผู้ประเสริฐบ้านนั้นก็เป็นบ้านของผู้ประเสริฐ เช่น ถ้าเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม สถานที่นั้นก็เป็นพระราชวังอันพึงเคารพ ในทางตรงกันข้ามถ้าเป็นที่อยู่ของโจรผู้ร้าย สถานที่นั้นก็เป็นที่น่ารังเกียจไม่น่าเข้าใกล้ สังขารหรือสรีระก็เช่นเดียวกัน นอกจากธรรมะ ไม่มีอะไรที่จะแบ่งสรีระให้ดีชั่วสูงต่ำได้ แม้ยังยึดมั่นในตัวเราของเราอยู่ก็พึงทำตัวเราหรือผู้ครองนั้นให้เป็นผู้มีธรรมะ อบรมคุณธรรมให้สมบูรณ์ รู้จักเกื้อกูลผู้อื่น ทำชีวิตให้มีสาระ ไม่เสียเปล่า เพื่อให้สมควรแก่การครองอัตภาพที่มีแต่ความเสื่อมสลายแตกดับไปทั้งสิ้นตามธรรมดาของสังขาร ที่จะพึงสามารถเอาสาระประโยชน์จากธรรมดา มาเป็นของหลีกพ้นจากทุกข์ได้ แล้วธรรมะใดเล่าจะเป็นของที่จะนำไปพ้นจากทุกข์ได้

ธรรมะที่จะทำให้เกิดพ้นจากทุกข์ได้คือ สติปัญญา โดย "สติ" คือ ความระลึกได้ที่จะเป็นเครื่องช่วยอุปการะให้มีปัญญหา หากบุคคลขาดสติปัญญาเสียแล้ว สังขารย่อมปรุงแต่งจิตให้เป็นจิตแห่งความโลภ จิตแห่งความโกรธ และจิตแห่งความหลง อันเป็นมูลเหตุในการพูดและกระทำความชั่วทุกชนิดในทันที สติย่อมเกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภท สติจึงมีหลายระดับขั้น ทั้งที่เป้นไปในการให้ทาน ในการรักษาศีล และในการอบรมความสงบของจิต กระทั่งก้าวไปสู่มหาสติในการอบรมเจริญปัญญาให้เข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของรูปธรรมและนามธรรมอันเป็นสภาพทุกข์ที่กำลังปรากฏ ซึ่งล้วนเกิดเพราะเหตุปัจจัยและดับไป ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน พลันประจักษ์ความว่างจากตัวตน สัตว์ บุคคลเราเขาได้อย่างเป็นธรรมชาติในทุกขณะ ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ก็จำเป็นต้องมีสติเกิดด้วยทุกครั้ง ดังนั้น การรู้แจ้งอริยสัจธรรมดับกิเลสตามลำดับขั้น ต้องเป็นเรื่องของสติและปัญญาเท่านั้นที่จะเป็นไปเพื่อการรู้ระลึกสภาวะธรรมตามความเป็นจริง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระสติระลึกรู้ จึงทรงดำรงพระชนมชีพอย่างสง่าทั้งทางโลกและทางธรรมด้วยปัญญา สรุปประมวลได้ว่า พระองค์ทรงถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทในชีวิต พระบุญญาธิการจึงไพบูลย์ควรที่เราทั้งหลายผู้ยังอยู่เบื้องหลังจะเคร่งทำประโยชน์ตนและประโยชน์ส่วนรวมตามรอยพระยุคลบาทให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาท เพื่อพระผู้เสด็จจากไปจักได้ทรงอิ่มพระราชหฤทัยว่า "กะตัง กะระณียัง" กิจอันต้องกระทำ ได้กระทำเสร็จแล้ว และย่อมทรงบันเทิงทิพยารมณ์อย่างไม่ต้องสงสัย สมดังนัยยะพระพุทธภาษิตที่ว่า บุคคลผู้มีบุญอันได้ทำไว้แล้วย่อมยินดีในโลกนี้ ละโลกนี้ไปแล้ว ก็ย่อมยินดี คือย่อมยินดีในโลกทั้งสอง ย่อมยินดีว่าบุญเราได้ทำไว้แล้ว ครั้นไปสู่สุคติแล้วก็ย่อมยินดีกว่านี้อีกด้วยประการฉะนี้









ที่มา : mgronline , ที่มาของภาพ : พัดยศ สมณศักดิ์พระสงฆ์ไทย

วันอังคารที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เจ้าอาวาสวัดสมานรัตนาราม ชี้เเจง คณะสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ สั่งทุบเทวรูป เป็นเเค่ข่าวลือ

เจ้าอาวาสวัดสมานรัตนาราม ชี้เเจง คณะสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ สั่งทุบเทวรูป เป็นเเค่ข่าวลือ

เจ้าอาวาสวัดสมานรัตนาราม ศูนย์รวมเทวรูปขนาดใหญ่ ที่มีชื่ออันดับต้นๆ ของประเทศ และโด่งดังไปไกลในระดับโลก แจงสื่อเป็นครั้งแรก หลังมีกรณีมีกระแสข่าวลือในเรื่องคณะสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่มีคำสั่งให้ทุบเทวรูป ชี้ชาวพุทธมองคำสอนพระศาสดาให้ลึกซึ้ง ระบุ “พระพุทธเจ้าตรัสให้บูชาในสิ่งที่ควรบูรชาได้

วันที่ 23 ต.ค. 60 เวลา 15.00 น. พระประชาธรรมนาถ เจ้าคณะอำเภอท่าตะเกียบ และ อ.แปลงยาว เจ้าอาวาสวัดสมานรัตนาราม ตั้งอยู่เลขที่ 1 ม.11 ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวเปิดเผยเป็นครั้งแรกต่อสื่อ ถึงกรณีที่มีกระแสข่าวลือสะพัดในช่วงก่อนหน้านี้ว่า ทางคณะสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่มีคำสั่งให้ทุบเทวรูป ที่ประดิษฐานอยู่ภายในบริเวณวัดต่างๆ หรือให้ย้ายออกไปให้พ้นบริเวณวัดนั้นว่า เป็นเพียงแค่กระแสข่าวลือเท่านั้น

เนื่องจากยังไม่ได้มีมติจาก มส. หรือมีคำสั่งใดๆ ออกมาจากคณะสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่อย่างเป็นทางการ โดยมีเพียงคำสั่งห้ามมิให้มีการติดแผ่นป้ายโฆษณา หรือมีการจัดจำหน่ายวัตถุมงคลภายในบริเวณโบสถ์เท่านั้น ส่วนคำสั่งไม่ให้มีการตั้งเทวรูปสูงข่ม หรือสูงกว่าพระพุทธรูปนั้น พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายนอกอาคารบริเวณวัดสมานรัตนารามแห่งนี้นั้น ก็ได้มีการประดิษฐานตั้งไว้สูงอย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว โดยมีแท่นวางหรือแท่นบูชาที่อยู่สูงเหนือกว่าฐานที่ใช้ประดิษฐานองค์เทวรูปต่างๆ ภายในบริเวณวัดอยู่แล้ว

ส่วนการกราบไหว้หรือบูชาเทวรูปของนักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไปนั้น ก็ไม่ได้ผิดไปจากคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้เคยตรัสเอาไว้ว่า “ให้บูชาในสิ่งที่ควรบูรชา” เช่น การกราบไหว้บูชาบิดา-มารดา การกราบไหว้บุคคลที่ประกอบคุณงามความดี หรือเป็นผู้ที่กระทำความดีมาก่อน เช่น พระมหากษัตริย์

และการบูชาก็ควรอยู่ในลำดับหรือขอบเขตของการบูชา เช่น เราชาวพุทธ ก็ควรกราบไหว้บูชาพระพุทธเจ้าก่อนเป็นลำดับแรก จากนั้นจึงค่อยกราบไหว้บูชาพระธรรม และพระสงฆ์ ตามลำดับ ก่อนที่จะไปบูชาบุคคล หรือเทพและเทวรูป ตามความเชื่อความศรัทธาของแต่ละบุคคล ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดอะไร และจะไปห้ามไม่ให้บุคคลใดไปเชื่อไปศรัทธา หรือไปบูชาสิ่งที่บุคคลนั้นๆ เชื่อไม่ได้

ซึ่งการสั่งห้ามนั้น เป็นการสั่งห้ามจำหน่ายเครื่องบูชาภายในบริเวณเขตพระอุโบสถ หรือโบสถ์ และไม่ได้ให้ทุบทำลายสิ่งอื่นใดที่อยู่ภายนอกเขตเสมา ซึ่งหากอยู่ใกล้เคียงก็ให้ย้ายออก ที่ผ่านมานั้นมีเพียงแค่ข่าวลือเท่านั้นว่า ให้ทุบทำลาย จึงทำให้ประชาชนเกิดความสับสน

ส่วนพระสงฆ์นั้นก็ไม่ได้มีการกราบไหว้หรือบูชาองค์เทวรูปแต่อย่างใด จึงไม่ผิดหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา แต่ข่าวลือที่ออกมานั้นก็ได้ทำให้มีผลกระทบต่อประชาชนหรือนักท่องเที่ยวให้เกิดความสับสนอยู่บ้าง จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวลดลงไปบ้างประมาณร้อยละ 20 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่ภายในบริเวณวัดที่มีการนำหุ่นยนต์ หรือรูปปั้นตัวการ์ตูนในนิยายของต่างประเทศมาวางไว้อยู่ทั่วไปภายในบริเวณวัดนั้น ก็เป็นเพียงกุศโลบาย ที่ใช้ในการดึงดูดให้เด็กๆ สนใจที่จะเข้าวัด หรือติดตามพ่อ-แม่ ผู้ปกครองเดินทางมาวัด เพื่อให้ได้ซึมซับเอาขนบธรรมเนียม และสิ่งดีงามที่ผู้ใหญ่เดินทางเข้ามาทำบุญปฏิบัติธรรมภายในวัด ให้เด็กๆ เยาวชนได้เห็นได้เรียนรู้ในทางพระศาสนา ดีกว่าปล่อยให้เด็กๆ ไม่ยอมเข้ามาในวัดเลย แล้วหันไปทำอย่างอื่น หรือกระทำในสิ่งที่ผิดกฎหมายบ้านเมือง

จนอาจถึงขั้นไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติด จึงได้นำหุ่นปั้นการ์ตูนเหล่านี้มาใช้ในการดึงดูดความสนใจของเด็กๆ ไปตามยุคสมัยเท่านั้น เพราะหากจะให้เด็กเข้ามาในวัดแล้วมานั่งฟังแต่พระสวดมนต์เพียงอย่างเดียว พวกเขาก็คงจะไม่อยากเข้ามา หรือสนใจที่จะติดตามมาเข้าวัด แต่หากคิดในแง่อกุศลก็อาจมองได้ว่าเป็นการเอาสิ่งเหล่านี้มาล่อลวงหลอกเด็กๆ ให้เข้าวัด จึงอยากให้สังคมที่มองอย่างสุดโต่ง ให้มองในแง่บวกบ้าง ถ้าการที่จะให้เด็กเข้าวัดมาฟังธรรมเพียงอย่างเดียวสมัยนี้เป็นไปได้หรือไม่ การเข้าวัดมาท่องเที่ยว มาพูด มาคุย มาสนทนาธรรมกันแล้วทำให้คนมาเข้าวัดจะดีกว่าหรือไม่

การเข้ามาที่วัดแห่งนี้ ไม่ได้มีการล่อลวงหรือมีคนมาคอยเรียกให้เข้ามาทำบุญ ให้ผู้ที่เดินทางมาท่องเที่ยวมาทำบุญตามกำลังศรัทธา มีตู้บริจาคไว้คอยรองรับ ซึ่งหากไม่ศรัทธาจะไม่ทำเลยก็ได้ มาท่องเที่ยวมาถ่ายรูปแล้วกลับไปก็ได้ ไม่มีใครไปว่าอะไร แต่การเกิดขึ้นจากพลังศรัทธาของวัดแห่งนี้ก็ได้สร้างคน ได้สร้างชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้กับสังคม เพราะวัดได้พัฒนาชุมชนทำให้ชุมชนเข้มแข็ง จากเดิมในพื้นที่ชาวบ้านไม่มีงานทำ หรือบางคนมีเวลาว่างมาก ก็จะไปเกี่ยวข้องกับการพนัน เกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมาย หรือยาเสพติด คนในพื้นที่ต้องออกไปทำงานที่อื่น

แต่เมื่อมีวัดแห่งนี้มีชื่อเสียงเกิดขึ้นมา จากแรงศรัทธาต่างๆ ก็ได้ทำให้ชาวบ้านมีงานทำ มีการค้าการขาย และนำข้าวของมาวางขายภายในบริเวณวัดให้แก่นักท่องเที่ยว โดยที่ทางวัดก็ไม่ได้เก็บเงินค่าเช่าที่อีกด้วย ขณะเดียวกันยังทำให้ทางจังหวัดฉะเชิงเทรานั้นได้ประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยว ได้ประโยชน์ในแง่ของทางมูลค่าเศรษฐกิจมวลรวมของจังหวัด และเกิดความเข้มแข็งมั่นคงอบอุ่นของสถาบันครอบครัว เพราะคนในพื้นที่ไม่ต้องออกไปทำงานยังนอกพื้นที่เหมือนในอดีต ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นมาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมาทั้งสิ้น

ขณะที่ทางวัดเองก็ยังคงเดินหน้าในการสร้างเสริมความเข้มแข็งทางด้านสุขภาพ และยังเป็นการรองรับการขยายตัวของ EEC หรือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ ด้วยการสร้างโรงพยาบาลมูลค่ากว่า 700 ล้านบาท สร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมขนาดใหญ่ ให้แก่พุทธศาสนิกชนให้ได้เข้ามาปฏิบัติธรรมได้ฟรี โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ล้วนเกิดจากแรงศรัทธาของนักท่องเที่ยว ด้วยเงินทำบุญเหล่านี้ทั้งสิ้นพระประชาธรรมนาถกล่าว

ที่มา : workpointnews