พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ไขข้อข้องใจ ! ทำไมถึงห้าม ?
พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ไขข้อข้องใจ ! ทำไมถึงห้าม ?
การจะรู้เหตุผลหรือที่มาของข้อห้ามบางอย่าง บางทีเราต้องให้ความสำคัญหรือทำความเข้าใจกับความเชื่อและจารีตของแต่ละท้องถิ่นนะ อย่างข้อสงสัยบางอย่างว่า ทำไมบางพื้นที่ จึงมีการห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้าไปสู่เขตโบราณสถานหรือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งคนในชุมชนนั้นนั้นเขาให้ความเคารพนับถือ
อันนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และไม่ใช่แค่เรื่องของความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ อย่างที่เราเข้าใจ บางทีแค่เห็นป้ายแบบนี้เราอาจคิดว่า อ้อ นี่เป็นเรื่องของการกดขี่ผู้หญิง ไม่ให้เกียรติผู้หญิงเท่ากับผู้ชาย อะไรแบบนี้ ในความเป็นจริงอาจจะตรงกันข้าม หรือมีความลึกซึ้งมากกว่าที่เรามองก็ได้
ในเรื่องของจารีตประเพณีนั้น หลายชุมชนอาจให้ความสำคัญกับเรื่องของ ขึด หรือ คะลำ หรือ ขนาบ ตามแต่ภาษาที่จะเรียก ซึ่งหมายถึง ข้อห้ามร่วมกัน ในการที่จะไม่ไปละเมิดหรือทำผิดในข้อห้ามนั้นนั้น ซึ่งการไม่เข้าไปสู่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์บางแห่งของผู้หญิง ก็ถือเป็นขึดหรือคะลำ อย่างหนึ่งของบางชุมชน
แล้วข้อห้ามพวกนี้ บางทีมันก็มีเหตุผลนะ เช่นว่า พระธาตุหรือวิหารเจดีย์บางแห่งนั้น สมัยก่อน มีการฝังสิ่งที่ชาวบ้านถือว่า เป็นของศักดิ์สิทธิ์ไว้ข้างล่าง ใต้ฐาน หรือมีการสวดคาถาบางอย่าง เพื่อให้สถานที่นั้นเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชุมชน ในการที่จะประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อ
แล้วทีนี้ ผู้หญิง ซึ่งโดยความเชื่ออีกเหมือนกันว่า เวลามีประจำเดือนแล้วเนี๊ยะ ประจำเดือนของผู้หญิงมีอำนาจในการที่จะทำลายความศักดิ์สิทธิ์หรือของศักดิ์สิทธิ์บางอย่างลงได้ ถ้าเกิดว่าเข้าไปภายในพื้นที่เหล่านั้น หรือทำให้พื้นที่เหล่านั้นแปดเปื้อนด้วยประจำเดือน นี่จึงเป็นเรื่องว่า ทำไมจึงห้าม
ถ้ามองแบบนี้ กลายเป็นว่า คนในชุมชนหรือสังคมโบราณ เขามองผู้หญิงว่า เป็นเพศที่อำนาจเหนือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกนะ เพราะสามารถทำลายความศักดิ์สิทธิ์ได้ เห็นไหม ดังนั้น อะไรที่เป็นขึดเป็นข้อห้ามสำหรับชุมชนนั้นนั้น เราในฐานะคนนอกซึ่งอยากเข้าไปสัมผัสพวกเขา จำเป็นต้องเคารพ
ข้อห้ามบางอย่างมันอาจดูไร้สาระสำหรับเรา แต่ในความรู้สึกของคนในพื้นที่ ถ้าละเมิดแล้ว มันอัปปรีย์ มันเป็นเสนียด เป็นอัปมงคล (หมายถึงสิ่งที่จะเกิดกับคนในชุมชนตามความเชื่อ ไม่ได้หมายถึงคนที่ละเมิด) มันกระทบกับความรู้สึกของพวกเขา และอาจนำความไม่สบายใจหรือความเดือดร้อนมาสู่ชุมชนโดยรวม นี่เราต้องเข้าใจ
ที่มา : ไพรวัลย์ วรรณบุตร
0 comments: