วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ตอบคำถามที่ว่าพระอรหันต์ตายไปแล้วจะไปไหน

ตอบคำถามที่ว่าพระอรหันต์ตายไปแล้วจะไปไหน

[ณ เชตวัน ใกล้นครสาวัตถี ปริพาชกวัจฉโคตรได้เข้าไปถามพระพุทธเจ้าว่า]

ว:  ท่านพระโคดม ท่านเห็นว่าโลกเที่ยงไหม?  พ:  เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.   ว:  ท่านเห็นว่าโลกไม่เที่ยงหรือ?  พ: เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.  ว: ท่านเห็นว่าโลกมีที่สุดไหม?  พ: เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.  ว: ท่านเห็นว่าโลกไม่มีที่สุดหรือ?  พ: เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.  ว: ท่านเห็นว่าจิต (ชีวะ) กับกาย (สรีระ) เป็นอย่างเดียวกันไหม?  พ: เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น

ว: ท่านเห็นว่าจิตกับกายเป็นคนละอย่างหรือ?  พ: เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.  ว: ท่านเห็นว่าเมื่อท่านปรินิพพานไปแล้ว ท่านจะยังอยู่ไหม?  พ: เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.  ว: ท่านเห็นว่าเมื่อท่านปรินิพพานไปแล้ว จะไม่มีท่านอยู่แล้วหรือ?  พ: เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น

ว: ท่านเห็นว่าเมื่อท่านปรินิพพานไปแล้ว พูดได้ทั้งว่ามีและไม่มีท่านอยู่ใช่ไหม?  พ: เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.  ว: ท่านเห็นว่าเมื่อท่านปรินิพพานไปแล้ว พูดไม่ได้ทั้งว่ามีและไม่มีท่านอยู่ อย่างนั้นหรือ?  พ: เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น.  

ว: ไม่ว่าเรื่องไหน ท่านก็ตอบเหมือนกันหมดคือ ท่านไม่ได้เห็นอย่างนั้น เพราะอะไรหรือถึงตอบแบบนี้?  พ: วัจฉะ ความเห็นทั้ง 10 อย่างนั้น เป็นเสี้ยนหนาม เป็นสิ่งที่ผูกสัตว์ไว้ติดอยู่กับความทุกข์และความเร่าร้อน ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความดับ ความสงบ และนิพพาน เราเห็นโทษของการยึดติดกับความเห็นเหล่านี้

ว: แล้วท่านมีความเห็นอะไรอย่างอื่นนอกจากนี้ไหม?  พ: ตถาคตละทิ้งความเห็นต่างๆทั้งหมด เพราะตถาคตได้เห็นร่างกาย (รูป)..ความรู้สึก (เวทนา)..ความจำ (สัญญา)..ความคิด (สังขาร)..ความรับรู้ (วิญญาณ) ตลอดจนการเกิดและดับของสิ่งเหล่านี้ ตถาคตจึงปล่อย ละวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดอีก และหลุดพ้นในที่สุด

ว: ภิกษุที่จิตหลุดพ้นแล้ว หลังจากตาย จะไปเกิดที่ไหน?  พ: ไม่ควรใช้คำว่าเกิด.  ว: แปลว่าจะไม่เกิดอีกหรือ?  พ: คำว่าไม่เกิดก็ไม่ควร.   ว: หรือว่า มีทั้งเกิดและไม่เกิด หรือว่าเกิดก็ไม่ใช่ ไม่เกิดก็ไม่ใช่?  พ: พูดอย่างนั้นก็ไม่ควร.  

ว: ท่านตอบปฏิเสธทุกข้อ ผมงงแล้ว ตอนแรกเหมือนจะรู้เรื่องอยู่.   พ: เป็นธรรมดาที่ท่านจะไม่เข้าใจ เพราะเป็นเรื่องที่ยากจะเห็น ไม่สามารถรู้ได้ด้วยการคิด ยิ่งถ้าเป็นนักบวชที่มีความเชื่อในคำสอนอื่นอยู่ก่อนแล้ว ยิ่งจะเข้าใจยาก เอาอย่างนี้ เราจะถามท่านข้อหนึ่ง

ถ้าท่านเห็นกองไฟลุกโพลงอยู่ต่อหน้า ท่านรู้ไหมว่า กองไฟนี้กำลังลุกโพลงอยู่ต่อหน้าเรา?

ว: รู้ท่าน.  พ: ถ้ามีคนถามท่านว่า กองไฟนี้อาศัยอะไรจึงลุกโพลงเช่นนี้ ท่านจะตอบว่าอย่างไร?   ว: จะตอบว่า อาศัยเชื้อคือหญ้าและไม้ ไฟจึงลุกอยู่ได้.   พ: แล้วถ้าไฟนั้นดับไปต่อหน้าท่าน ท่านจะรู้ไหมว่าไฟนี้ได้ดับไปแล้ว?  ว: รู้ท่าน.   พ: ถ้ามีคนถามท่านต่อว่า ไฟที่ดับไปแล้วนี่ จะไปไหนต่อ ไปทางตะวันออก ตะวันตก เหนือ หรือใต้ ท่านจะตอบว่าอย่างไร?

ว: ถามแบบนี้ไม่ได้ เพราะไฟนั้นอาศัยเชื้อคือหญ้าและไม้ จึงลุกโพลงขึ้น แต่พอเชื้อหมดไป ไฟนั้นก็ถือว่าดับลง เพราะหมดเชื้อแล้ว.   พ: ฉันใดฉันนั้นวัจฉะ เมื่อคนเราละวางร่างกาย...ความรู้สึก...ความจำ...ความคิด...ความรับรู้ได้แล้ว ถอนรากทิ้งหมดแล้ว (ละขันธ์ 5) ก็ไม่มีอะไรเป็นเหตุให้กลับขึ้นมาอีกต่อไป นับได้ว่าหลุดพ้นจากร่างกาย...ความรู้สึก...ความจำ...ความคิด...ความรับรู้ นี่เป็นเรื่องหยั่งถึงได้ยาก วัดประมาณหรือหยั่งถึงไม่ได้ดั่งมหาสมุทร ไม่ควรจะมาพูดกันว่าเกิด ไม่เกิด มีทั้งเกิดและไม่เกิด หรือไม่มีทั้งเกิดและไม่เกิด

ว: ท่านพระโคดม คำสอนของท่านปราศจากกิ่ง ใบ เปลือก สะเก็ด กระพี้ มีแต่แก่นล้วนๆ

คำสอนของท่านแจ่มแจ้งมาก เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องแสงในที่มืด ผมขอถือท่าน คำสอนของท่าน และพระสงฆ์ที่ปฏิบัติตามคำสอนของท่านเป็นที่พึ่ง (สรณะ) ขอท่านโปรดจำผมว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตราบจนลมหายใจสุดท้าย

ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 20 (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภาค 2 เล่ม 1 อัคคิวัจฉโคตตสูตร ข้อ 244), 2559, น.424-432



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: