สอบผ่านพระอุปัชฌาย์ในระบบสงฆ์ไทยตามกฎมหาเถรสมาคมรูปแรก ดีกรีนักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ ศรัทธาในพระพุทธศาสนาบวชจนได้เป็นเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ สายวัดหนองป่าพงของหลวงปู่ชา อุบลราชธานี เผยชอบนั่งสมาธิตั้งแต่เด็ก ศรัทธาวิธีสอนหลวงปู่ชา มาบวชในไทยตั้งแต่อายุ 28 ชี้ภูมิใจสอบผ่านพระอุปัชฌาย์ที่ยาก
วันนี้ (28 ม.ค.)ที่ศาลาอบรมสงฆ์ วัดสามพระยา กรุงเทพฯ มีพิธีการมอบตราตั้งพระอุปัชฌาย์ในการฝึกอบรมหรือสอบความรู้ โดยมีสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก พระวิสุทธิวงศาจารย์ รองเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ และพระพรหมจริยาจารย์ เจ้าอาวาสวัดกะพังสุรินทร์ เจ้าคณะใหญ่หนใต้ เป็นประธานมอบตราตั้งแก่พระอุปัชาย์ใหม่ที่ผ่านการสอบ จำนวน 200 รูป โดยพระพรหมโมลี (สุชาติ ธมฺมรตโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ในฐานะเลขาธิการสมัชชามหาคณิสร กล่าวว่า ครั้งนี้นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี ตนได้อนุโมทนาแก่พระครูอุบลภาวนาวิเทศ (เฮ็นนิ่ง เกวลี) เจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ จังหวัดอุบลราชธานี เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมวัดป่านานาชาติ ที่ได้ผ่านการสอบเป็นพระอุปัชฌาย์ตามระบบคณะสงฆ์ไทย แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 17 พ.ศ.2536 ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ ออกตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม 2535 ซึ่งที่ผ่านมามส.ได้เปิดโอกาสให้เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เช่น มีการบรรพชาอุปสมบทหมู่เฉลิมพระเกียรติ จัดกิจกรรมปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น ได้สอบเป็นพระอุปัชฌาย์ แต่ก็มีจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่จะเน้นไปที่พระสังฆาธิการระดับเจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาสพระอารามหลวง ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง เป็นส่วนใหญ่ ถือว่า เป็นพระต่างประเทศรูปแรกก็ว่าได้ ที่ได้เข้าระบบการสอบของมส
พระครูอุบลภาวนาวิเทศ กล่าวว่า ตนมีความสนใจวิปัสสนากรรมฐานมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ ที่มหาวิทยาลัยฟรี กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี โดยได้ไปฝึกนั่งสมาธิที่วัดไทยในเยอรมนี จากนั้นจึงได้อ่านหนังสือสอนวิปัสสนากรรมฐานของหลวงปู่ชาที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ และเคยได้มาประเทศไทย ชอบวิถีวัฒนธรรมของคนไทย ชอบพระพุทธศาสนา เมื่อเรียนจบจึงตัดสินใจมาที่วัดป่านานาชาติ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นวัดป่าสายหลวงปูชา จึงได้ตัดสินใจบวชที่วัดดังกล่าวในปี 2541 ตอนอายุประมาณ 28 ปี กระทั่งได้รับความไว้วางใจจากพระราชภาวนาวิกรม หรือหลวงพ่อเลียม วัดหนองป่าพง และได้รับความเมตตาจากสมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ในขณะนั้น สนับสนุนให้พระต่างชาติได้มาบวช และทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา
“การมาสอบพระอุปัชฌาย์ครั้งนี้ทางพระเถระ โดยพระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เจ้าคณะภาค 10 ท่านเห็นว่า ควรจะมีพระอุปัชฌาย์ในวัดป่านานาชาติ ทำหน้าที่บวชพระภิกษุทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เนื่องจากพระเถระในวัดก็มีอายุมากขึ้น จึงได้ส่งเสริมให้อาตมาเข้าสู่กระบวนการสอบพระอุปัชฌาย์ตามระบบคณะสงฆ์ไทย ถือเป็นพระภิกษุชาวต่างประเทศรูปแรกที่ได้เข้ามาสอบในระบบคณะสงฆ์ไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาสมเด็จเกี่ยวท่านได้เมตตาแต่งตั้ง รุ่นอาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์เป็นกรณีพิเศษ เช่น หลวงพ่อสุเมโธ หรือพระราชสุเมธาจารย์ ท่านอมโร หรือพระวิเทศพุทธิคุณ ท่านปสันโน หรือพระโพธิญาณวิเทศ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อาตมารู้สึกภูมิใจที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่สำคัญเช่นนี้ ขอบคุณคณะสงฆ์ไทยที่ให้โอกาสพระชาวต่างประเทศได้ทำหน้าที่เหมือนกับพระสงฆ์ไทย ทำให้รู้สึกอบอุ่นใจเป็นเกียรติ เพราะที่ผ่านมาทางพระพรหมสิทธิ ท่านให้คำปรึกษาและส่งเสริมพระป่าสายวิปัสสนากรรมฐานมาโดยตลอด อีกทั้งการสอบพระอุปัชฌาย์ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพระสงฆ์ไทย โดยเฉพาะพระชาวต่างชาติอย่างอาตมาถือว่า ยากขึ้นไปอีก เพราะจะต้องท่องบาลีให้ถูกต้อง เขียนให้ถูกต้อง ผ่านทดสอบความรู้ตามพระธรรมวินัยอีกด้วย”พระครูอุบลภาวนาวิเทศ กล่าว
สำหรับประวัติพระครูอุบลภาวนาวิเทศ เป็นชาวเยอรมัน จบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ จบนักธรรมเอก ปัจจุบันอายุ 49 ปี พรรษา 20 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติรูปที่ 7 ในปี 2551 ต่อจากพระอาจารย์ญาณธัมโม ชาวออสเตรเลีย สำหรับวัดป่านานาชาติ เป็นวัดป่าสายวัดหนองป่าพง ที่ตั้งอยู่ในบ้านบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ก่อตั้งเมื่อปี 2518 โดยมีหลวงปู่ชา สุภทฺโท (พระโพธิญาณเถร) เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาศึกษาพระธรรมวินัยเป็นภาษาอังกฤษ จนสามารถที่จะออกบวชเป็นพระภิกษุและปฏิบัติ ตามข้อวัตรสายวัดป่าเผยแผ่ศาสนาในวัดสาขาที่ต่างประเทศได้ ปัจจุบัน พระภิกษุสามเณรสังกัดวัดป่านานาชาติที่อยู่ในเมืองไทย ทั้งหมดมีประมาณ 40 รูป รวมประมาณ 20 สัญชาติ มีเจ้าอาวาสมาที่เป็นชาวต่างชาติทั้งหมด 7 รูป ได้แก่ พระราชสุเมธาจารย์ (หลวงพ่อสุเมโธ) ชาวอเมริกัน ปี 2518-2519 พระอาจารย์ปภากโร ชาวอเมริกัน ปี2520-2521 พระอาจารย์ชาคโร ชาวออสเตรเลีย ปี2522 – 2524 พระอาจารย์ปสันโน ชาวแคนาดา ปี2525-2539 พระอาจารย์ชยสาโร ชาวอังกฤษ ปี2540 – 2544 พระอาจารย์ญาณธัมโม ชาวออสเตรเลีย ปี2545-2550 และพระครูอุบลภาวนาวิเทศ (เฮ็นนิ่ง เกวลี) ชาวเยอรมัน ปี2551 - ปัจจุบัน
ที่มา: dailynews