วันพุธที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2560

พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ไขข้อข้องใจ ! ทำไมถึงห้าม ?

พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ไขข้อข้องใจ ! ทำไมถึงห้าม ?

การจะรู้เหตุผลหรือที่มาของข้อห้ามบางอย่าง บางทีเราต้องให้ความสำคัญหรือทำความเข้าใจกับความเชื่อและจารีตของแต่ละท้องถิ่นนะ อย่างข้อสงสัยบางอย่างว่า ทำไมบางพื้นที่ จึงมีการห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้าไปสู่เขตโบราณสถานหรือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งคนในชุมชนนั้นนั้นเขาให้ความเคารพนับถือ

อันนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และไม่ใช่แค่เรื่องของความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ อย่างที่เราเข้าใจ บางทีแค่เห็นป้ายแบบนี้เราอาจคิดว่า อ้อ นี่เป็นเรื่องของการกดขี่ผู้หญิง ไม่ให้เกียรติผู้หญิงเท่ากับผู้ชาย อะไรแบบนี้ ในความเป็นจริงอาจจะตรงกันข้าม หรือมีความลึกซึ้งมากกว่าที่เรามองก็ได้

ในเรื่องของจารีตประเพณีนั้น หลายชุมชนอาจให้ความสำคัญกับเรื่องของ ขึด หรือ คะลำ หรือ ขนาบ ตามแต่ภาษาที่จะเรียก ซึ่งหมายถึง ข้อห้ามร่วมกัน ในการที่จะไม่ไปละเมิดหรือทำผิดในข้อห้ามนั้นนั้น ซึ่งการไม่เข้าไปสู่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์บางแห่งของผู้หญิง ก็ถือเป็นขึดหรือคะลำ อย่างหนึ่งของบางชุมชน

แล้วข้อห้ามพวกนี้ บางทีมันก็มีเหตุผลนะ เช่นว่า พระธาตุหรือวิหารเจดีย์บางแห่งนั้น สมัยก่อน มีการฝังสิ่งที่ชาวบ้านถือว่า เป็นของศักดิ์สิทธิ์ไว้ข้างล่าง ใต้ฐาน หรือมีการสวดคาถาบางอย่าง เพื่อให้สถานที่นั้นเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชุมชน ในการที่จะประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อ

แล้วทีนี้ ผู้หญิง ซึ่งโดยความเชื่ออีกเหมือนกันว่า เวลามีประจำเดือนแล้วเนี๊ยะ ประจำเดือนของผู้หญิงมีอำนาจในการที่จะทำลายความศักดิ์สิทธิ์หรือของศักดิ์สิทธิ์บางอย่างลงได้ ถ้าเกิดว่าเข้าไปภายในพื้นที่เหล่านั้น หรือทำให้พื้นที่เหล่านั้นแปดเปื้อนด้วยประจำเดือน นี่จึงเป็นเรื่องว่า ทำไมจึงห้าม

ถ้ามองแบบนี้ กลายเป็นว่า คนในชุมชนหรือสังคมโบราณ เขามองผู้หญิงว่า เป็นเพศที่อำนาจเหนือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกนะ เพราะสามารถทำลายความศักดิ์สิทธิ์ได้ เห็นไหม ดังนั้น อะไรที่เป็นขึดเป็นข้อห้ามสำหรับชุมชนนั้นนั้น เราในฐานะคนนอกซึ่งอยากเข้าไปสัมผัสพวกเขา จำเป็นต้องเคารพ

ข้อห้ามบางอย่างมันอาจดูไร้สาระสำหรับเรา แต่ในความรู้สึกของคนในพื้นที่ ถ้าละเมิดแล้ว มันอัปปรีย์ มันเป็นเสนียด เป็นอัปมงคล (หมายถึงสิ่งที่จะเกิดกับคนในชุมชนตามความเชื่อ ไม่ได้หมายถึงคนที่ละเมิด) มันกระทบกับความรู้สึกของพวกเขา และอาจนำความไม่สบายใจหรือความเดือดร้อนมาสู่ชุมชนโดยรวม นี่เราต้องเข้าใจ




ที่มา : ไพรวัลย์ วรรณบุตร

วันพุธที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2560

วันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓

"มาฆะ" เป็นชื่อของเดือน ๓ มาฆบูชานั้น ย่อมาจากคำว่า"มาฆบุรณมี" แปลว่าการบูชาพระในวันเพ็ญ เดือน ๓ วันมาฆบูชาจึงตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ แต่ถ้าปีใดมีเดือน อธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ในวันพุทธศาสนา คือวันที่มีการประชุมสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพุทธศาสนา ที่เรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาต" และเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปฎิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวกเป็นครั้งแรก ณ เวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ เพื่อให้พระสงฆ์นำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะยังพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป

โอวาทปาฏิโมกข์
โอวาทปาฏิโมกข์ - หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา หรือคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ผู้ไปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ พระเวฬุ วนาราม ในวันเพ็ญเดือน ๓ ที่เราเรียกกันว่าวันมาฆบูชา (ถรรถกถากล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ นี้ แก่ที่ประชุมสงฆ์ตลอดมา เป็นเวลา ๒๐ พรรษา ก่อนที่จะโปรดให้สวดปาฏิโมกข์อย่างปัจจุบันนี้แทนต่อมา),

 คาถา โอวาทปาฏิโมกข์ มีดังนี้ (โอวาทปาติโมกข์ ก็เขียน)

สพฺพปาปสฺส   อกรณํกุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํ  เอตํ พุทธาน สาสนํฯ

ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ

อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ


แปล : การไม่ทำความชั่วทั้งปวง, การบำเพ็ญแต่ความดี, การทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง, พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่านิพพาน เป็นบรมธรรม,
ผู้ทำร้ายคนอื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต, ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ 

การไม่กล่าวร้าย, การไม่ทำร้าย, ความสำรวมในปาฏิโมกข์, ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร, ที่นั่งนอนอันสงัด, ความเพียรในอธิจิต นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย 


ที่เข้าใจกันโดยทั่วไป และจำกันได้มาก ก็คือ ความในคาถาแรกที่ว่า 
"ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส"

คำว่า "จาตุรงคสันนิบาต" แยกศัพท์ได้ดังนี้ คือ "จาตุร" แปลว่า ๔ "องค์" แปลว่า ส่วน "สันนิบาต" แปลว่า ประชุม ฉะนั้นจาตุรงคสันนิบาตจึงหมายความว่า "การประชุมด้วยองค์ ๔" กล่าวคือมีเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันนี้ คือ

๑. เป็นวันที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหารในกรุงราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย
๒. พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" คือเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจาก พระพุทธเจ้าทั้งสิ้น
๓. พระภิกษุสงฆ์ทุกองค์ที่ได้มาประชุมในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผุ้ได้บรรลุพระอรหันต์แล้วทุก ๆองค์
๔. เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงกำลังเสวยมาฆฤกษ


การปฎิบัติตนสำหรับพุทธศาสนาในวันนี้ก็คือ การทำบุญตักบาตรในตอนเช้า หรือไม่ก็จัดหาอาหารคาวหวานไปทำบุญฟังเทศน์ที่วัด ตอนบ่ายฟังพระแสดงพระธรรมเทศนา ในตอนกลางคืน จะพากันนำดอกไม้ ธูปเทียน ไปที่วัดเพื่อชุมนุมกันทำพิธีเวียนเทียนรอบพระอุโบสถพร้อมกับพระภิกษุสงฆ์ โดยเจ้าอาวาสจะนำว่า นะโม ๓ จบ จากนั้นกล่าวคำถวายดอกไม้ธูปเทียน ทุกคนว่าตาม จบแล้วเดินเวียนขวา ตลอดเวลาให้ระลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ จนครบ ๓ รอบ แล้วนำดอกไม้ ธูปเทียนไปปักบูชาตามที่ทางวัดเตรียมไว้เป็นอันเสร็จพิธี

กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันมาฆบูชา

๑. ทำบุญใส่บาตร
๒. ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม และฟังพระธรรมเทศนา
๓. ไปเวียนเทียนที่วัด
๔. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ
____

The significance of Vesak Full Moon Day , Māgha Pūjā Day , Pavāranā day , Happy Vesak Day. ,  วันวิสาขบูชา  , วันวิสาขบูชา การบูชาในวันเพ็ญวิสาขะ  , วันอาสาฬหบูชา , วันอาสาฬหบูชา ประวัติและความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา , สาระสำคัญของวันมาฆบูชา , วันมาฆบูชา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา , 'วันพระ' วันธรรมสวนะ หรือ วันอุโบสถ , วันออกพรรษา-Day of going out of Vassa , วันเข้าพรรษา-Buddhist Lent Day Observances , วันอาสาฬหบูชา , วันนี้วันพระ“วันอัฏฐมีบูชา” , วันอัฏฐมีบูชา , วันมหาปวารณา , ปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้า , วิสาขบูชานุสติ , พระพุทธเจ้า“ประกาศอิสรภาพ”ให้แก่มวลมนุษย์ , ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระองค์ได้ตรัสอะไรไว้กับชาวโลกบ้าง , เมื่อคืนพระจันทร์สวย ในวันวิสาขบูชา : พิจารณาธรรมชาติ , กฐิน


































แหล่งที่มา : dhammathai